'ดาวตก' โผล่อีก! หลายจังหวัดมองเห็นได้ชัดเจน สดร. เฉลยแล้วเป็นดาวตกชนิดนี้

'ดาวตก' โผล่อีก! หลายจังหวัดมองเห็นได้ชัดเจน สดร. เฉลยแล้วเป็นดาวตกชนิดนี้

'ดาวตก' มาอีกแล้ว! หลายจังหวัดของไทยพบเห็นลูกไฟขนาดใหญ่ปรากฏเหนือท้องฟ้าเมื่อค่ำ 6 มี.ค.67 นักดาราศาสตร์ สดร. ชี้เป็น 'ดาวตกชนิดระเบิด' เช็กเลย ดาวตก อุกกาบาต ดาวหาง จรวด ต่างกันอย่างไร?

เมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 6 มีนาคม 2567 มีผู้พบเห็นแสงสว่างวาบเป็นทางยาว คล้ายกับ 'ดาวตก' พุ่งไปเหนือท้องฟ้าหลายพื้นที่ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของไทย แสงดังกล่าวปรากฏขึ้นประมาณ 2 ครั้ง เวลาประมาณ 19.13 น. มีลักษณะหัวเป็นสีฟ้า หางเป็นสีเขียว จากนั้นแตกออกเป็น 2-3 ส่วน และเวลาประมาณ 20.21 น. ปรากฏขึ้นอีกหนึ่งครั้ง มีสีส้ม มองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน คาดว่าเป็น 'ดาวตกชนิดระเบิด'

 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า สำหรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีผู้พบเห็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้าคล้ายดาวตก 2 ครั้ง ติดต่อกัน ครั้งแรกเวลาประมาณ 19.13 น. ปรากฏเป็นทางยาวพาดผ่านท้องฟ้าจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ส่วนหัวมีสีฟ้า ส่วนหางมีสีเขียว ขณะเดียวกันได้แตกออกเป็น 2-3 ส่วน ส่วนหัวมีสีส้ม หางสีเขียว จากนั้นอีกประมาณ 1 ชั่วโมงถัดมา ปรากฏขึ้นอีกครั้งเวลาประมาณ 20.21 น. มีสีส้ม พบเห็นแต่ละครั้งนานประมาณ 10 วินาที

 

เหตุการณ์ครั้งนี้พบเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในหลายจังหวัดกระจายอยู่เกือบทุกภูมิภาคของไทย อาทิ ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อยุธยา ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี นครสรรค์ ศรีสะเกษ ชุมพร บุรีรัมย์ ชลบุรี สมุทรสาคร นครปฐม นครนายก ระยอง ชัยภูมิ เชียงใหม่ เป็นต้น

 

จากข้อมูลดังกล่าวคาดว่าอาจเป็น 'ดาวตกชนิดระเบิด' ซึ่งเกิดจากวัตถุท้องฟ้าขนาดเล็ก เช่น ดาวเคราะห์น้อย หรือเศษชิ้นส่วนที่กระเด็นจากการพุ่งชนบนดวงจันทร์ หรือ ดาวอังคาร เป็นต้น เมื่อเศษชิ้นส่วนดังกล่าวเคลื่อนที่เข้ามายังชั้นบรรยากาศโลก เสียดสีกับอนุภาคในชั้นบรรยากาศ เกิดความร้อนสูงจนลุกไหม้ จึงมองเห็นเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้า ที่เราเรียกว่า 'ดาวตก'

 

กรณีที่เศษชิ้นส่วนมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย หากมีความสว่างเทียบเท่ากับความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง หรือเกิดการระเบิดขึ้นกลางอากาศ นักดาราศาสตร์จะเรียกว่า ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide)

 

\'ดาวตก\' โผล่อีก! หลายจังหวัดมองเห็นได้ชัดเจน สดร. เฉลยแล้วเป็นดาวตกชนิดนี้

 

 

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดาวตกในครั้งนี้ยังปรากฏสีที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งสีเขียว สีฟ้า สีส้ม โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อสีของดาวตก ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี และโมเลกุลของอากาศโดยรอบ ขณะพุ่งเข้าชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่างๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน

 

ในแต่ละวันจะมีวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นได้เป็นลักษณะคล้ายดาวตก และยังมีอุกกาบาตตกลงมาถึงพื้นโลกประมาณ 44 - 48.5 ตันต่อวัน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คน จึงไม่สามารถพบเห็นได้ ดาวตกนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ และสามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

 

\'ดาวตก\' โผล่อีก! หลายจังหวัดมองเห็นได้ชัดเจน สดร. เฉลยแล้วเป็นดาวตกชนิดนี้

 

ดาวตก อุกกาบาต ดาวหาง และจรวด ต่างกันอย่างไร?

 

'ดาวตก' เกิดจากเศษชิ้นส่วนของวัตถุในอวกาศ เช่น ดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย ที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกแล้วเกิดการลุกไหม้ ปกติเรามักจะใช้คำว่า 'เสียดสี' กับชั้นบรรยากาศโลก แต่แท้จริงแล้วการลุกไหม้ของวัตถุนั้น เกิดจากการบีบอัดอากาศเสียจนมีอุณหภูมิสูงจนลุกเป็นไฟ แล้วเผาไหม้วัตถุไปในที่สุด ในแต่ละวันนั้นจะมีดาวตกประมาณหนึ่งล้านดวงตกลงมาในชั้นบรรยากาศของโลกเรา แต่ครึ่งหนึ่งตกมาในเวลากลางวันที่สังเกตได้ยาก และที่เหลือส่วนมากก็ตกลงในทะเล หรือพื้นที่ห่างไกลไม่มีคนสังเกตเห็น

 

'อุกกาบาต' แท้จริงแล้วอุกกาบาตนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกันกับดาวตก แต่เรามักจะใช้คำว่าอุกกาบาตแทนถึง 'ก้อน' ที่สามารถหยิบจับต้องได้ และใช้คำว่า ดาวตก แทนปรากฏการณ์สว่างวาบบนฟ้า พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราเห็นเป็นลูกไฟบนฟ้า เราจะเรียกว่า 'ดาวตก' แต่ถ้าเราหยิบมาเป็นก้อนได้ เราจะเรียกว่า 'อุกกาบาต' ซึ่งดาวตกส่วนมากนั้นมีขนาดเล็กเกินกว่าจะมีอะไรที่หลงเหลือเป็นอุกกาบาตได้ นอกจากนี้ อุกกาบาตยังต่างจาก 'ดาวเคราะห์น้อย' ตรงที่อุกกาบาตหมายถึงวัตถุที่ตกลงมายังพื้นโลกแล้ว แต่ดาวเคราะห์น้อยนั้นจะยังอยู่ในอวกาศ ซึ่งเราอาจจะต้องส่งยานออกไปศึกษา หรือสังเกตการณ์จากโลก

 

'ดาวหาง' คือ ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา มีแหล่งกำเนิดห่างไกลออกไป แต่จะมีช่วงที่โคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใจที่ซึ่งมีโลกของเราอยู่ เมื่อดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์อาจจะระเหยออก ทิ้งเป็นก้อนแก๊สและเศษน้ำแข็งขนาดเล็กไปตามวงโคจรของมัน ปรากฏเป็นหางยาวออกมา เราจึงเรียกว่า 'ดาวหาง'

 

'จรวด' คือ วัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อบรรทุกบางอย่างออกไปนอกโลก จรวดนั้นขับเคลื่อนโดยการทิ้งแก๊สเอาไว้เบื้องหลัง จึงอาจจะสังเกตลักษณะคล้ายกับ 'หาง' ลากเป็นทางยาว แต่จรวดนั้นอาจจะอยู่สูงเลยออกไปนอกชั้นบรรยากาศ จึงไม่ได้มีการเผาไหม้แล้ว

 

ส่วน 'ขยะอวกาศ' คือสิ่งที่มนุษย์สร้างในวงโคจรรอบโลกที่บางทีอาจตกลงมาในชั้นบรรยากาศของโลก และเผาไหม้ไป แต่กลไกของขยะอวกาศนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้แตกต่างอะไรกับดาวตก จึงมีลักษณะแทบจะเหมือนกันทุกประการ จนบางครั้งก็แยกไม่ออก

 

\'ดาวตก\' โผล่อีก! หลายจังหวัดมองเห็นได้ชัดเจน สดร. เฉลยแล้วเป็นดาวตกชนิดนี้

 

อ้างอิง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ / ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการ สดร.