ฉ่ำใจ! เปิดภาพ ฝนดาวตกเจมินิดส์ 2566 โชคดีทั่วไทย สูงสุด 120 ดวงต่อชั่วโมง

ฉ่ำใจ! เปิดภาพ ฝนดาวตกเจมินิดส์ 2566 โชคดีทั่วไทย สูงสุด 120 ดวงต่อชั่วโมง

เปิดภาพ ฝนดาวตกเจมินิดส์ 2566 โชคดีทั่วไทย ไร้แสงจันทร์รบกวน พบปริมาณ ดาวตก มากสุด 120 ดวงต่อชั่วโมง ที่เชียงใหม่ ประชาชน กว่า 1,300 คน ปักหลักรอชม

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ ปีนี้มีปริมาณมากสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง บรรยากาศเฝ้าชมปรากฏการณ์คืนวันที่ 14 - รุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 ชาวไทยทั่วประเทศไม่ผิดหวัง เริ่มเห็นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ

เนื่องจาก ไร้แสงจันทร์รบกวน บางดวงมีลักษณะเป็นลูกไฟขนาดใหญ่พาดผ่านฟ้าสวยงามมาก ด้านสื่อสังคมออนไลน์คึกคักขึ้นอันดับเทรนด์ไทยยอดนิยม

ปีนี้เป็นปีที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์"ฝนดาวตก"อย่างมาก เนื่องจากไร้แสงจันทร์รบกวนตลอดคืน ผู้ที่อยู่ในเขตพื้นที่ปราศจากแสงรบกวน มีทัศนวิสัยท้องฟ้าดี ไม่มีเมฆบดบัง สามารถชมความสวยงามของฝนดาวตกกันได้อย่างเต็มตา 

ซึ่ง สดร. ได้จัดกิจกรรมชมฝนดาวตกเจมินิดส์ที่ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,300 คน ปักหลักชมฝนดาวตกกันเต็มพื้นที่ สามารถสังเกตฝนดาวตกได้หลายดวง และเห็นดาวตกชนิดลูกไฟ (Fireball) หลายสิบดวง เมื่อมีผู้พบเห็นฝนดาวตกก็ต่างส่งเสียงร้องชี้ชวนกันให้ดู สร้างบรรยากาศที่สนุกสนานและน่าประทับใจตลอดคืน

ทั้งนี้ สดร. ยังจัดกิจกรรมที่หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนทั้ง 4 แห่ง ในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา และสงขลา นอกเหนือจากการชมฝนดาวตกแล้ว ยังตั้งกล้องส่องวัตถุท้องฟ้าในคืนดังกล่าว อาทิ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี กาแล็กซีแอนโดรเมดา เนบิวลานายพราน เป็นต้น 

มีผู้สนใจเดินทางเข้าร่วมจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยมีเมฆมากและฝนตก จึงสังเกตการณ์ได้ค่อนข้างยาก

 

ฉ่ำใจ! เปิดภาพ ฝนดาวตกเจมินิดส์ 2566 โชคดีทั่วไทย สูงสุด 120 ดวงต่อชั่วโมง

ฉ่ำใจ! เปิดภาพ ฝนดาวตกเจมินิดส์ 2566 โชคดีทั่วไทย สูงสุด 120 ดวงต่อชั่วโมง

สำหรับ ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือ ฝนดาวตก กลุ่มดาวคนคู่ จะเกิดในช่วงระหว่างวันที่ 4 - 20 ธันวาคม ของทุกปี มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ เกิดจากโลกเคลื่อนผ่านสายธารของเศษหินและฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) หลงเหลือทิ้งไว้เมื่อครั้งเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน

แรงโน้มถ่วงของโลก จะดึงดูดเศษหินและฝุ่นเหล่านั้นเข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ปรากฏให้ผู้สังเกตการณ์บนโลกเห็นเป็นลำแสงคล้ายลูกไฟสว่างวาบเคลื่อนผ่านท้องฟ้า 

 

ฉ่ำใจ! เปิดภาพ ฝนดาวตกเจมินิดส์ 2566 โชคดีทั่วไทย สูงสุด 120 ดวงต่อชั่วโมง

 

ที่มา-ภาพ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ