‘ทุนนิยมอุตสาหกรรม’ ผลลบต่อความคิดจิตใจมนุษย์

‘ทุนนิยมอุตสาหกรรม’ ผลลบต่อความคิดจิตใจมนุษย์

“อีริก ฟรอมม์” นักจิตวิทยาแนวสังคมนิยมมนุษยนิยม กล่าวถึงหัวข้อนี้ไว้อย่างน่าสนใจ มนุษย์ในโลกยุคอุตสาหกรรมทำงานหาเงินไปซื้อของเพื่อบริโภค อาหาร เครื่องดื่ม บุหรี่ บริการ ความบันเทิงด้านต่างๆ

มนุษย์คาดหมายที่จะได้บริโภคสินค้าและบริการที่ใหญ่ที่สุด ดีที่สุด ใหม่ที่สุด อยู่ตลอดเวลา และมักจะผิดหวังหรือไม่ได้รับความพอใจเท่ากับการที่พวกเขาคาดหวังอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

นอกจากจะเป็นผู้บริโภคแล้ว มนุษย์ยังเป็น “ผู้ค้า” ในโลกทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่ระบบตลาดเป็นผู้กำหนดเรื่องมูลค่าแลกเปลี่ยนของสินค้าทุกอย่าง กำหนดว่าใครควรจะได้ส่วนแบ่งจากผลผลิตของสังคมอย่างไร

ในระบบนี้ มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกผลิตและขายอะไรก็ได้ ตลาดเป็นตัวตัดสินว่าใครสำเร็จหรือล้มเหลว พลังแรงงานของมนุษย์กลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่ซื้อขายในตลาดแรงงานเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ

การทำงานในระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่แบบต่างคนต่างทำชิ้นส่วนย่อยๆ ที่ไร้ความหมาย ทำให้คนทำงานรู้สึกแปลกแยก เกลียดชีวิตการทำงาน เพราะมันทำให้เขารู้สึกเหมือนเป็นนักโทษ เป็นคนที่อยากเสี่ยงไม่ทำตามกฎ 

อุดมคติของมนุษย์คืออยากอยู่เฉยๆ แบบคนขี้เกียจ ไม่ต้องเคลื่อนไหวทำอะไรเลย (ความคิดแบบนี้ในแง่หนึ่งยิ่งส่งเสริมการขายสินค้าประเภทอัตโนมัติที่ใช้งานได้ง่ายเพียงแค่กดปุ่ม ทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตส่วนตัวแบบขี้เกียจที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยแรงงานและสมองตัวเองมากขึ้น)

การบริโภคสินค้าบริการของมนุษย์สมัยใหม่ เป็นเรื่องทำให้มนุษย์แปลกแยก รู้สึกเครียด ไม่มีความสุข ได้พอๆ กันกับการทำงาน เพราะการบริโภคถูกกำหนดโดยอิทธิพลของการโฆษณาสินค้า มากกว่าจะถูกกำหนดจากความต้องการที่จำเป็นหรือรสนิยมจริงๆ ของเราแต่ละคน

 

นักการตลาดทำให้คนนิยมซื้อสินค้าใหม่เร็วขึ้น มากขึ้นด้วย ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าถ้าฉันไม่เลื่อนการหาความสนุกตามความปรารถนาไปเป็นพรุ่งนี้ ฉันก็จะไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีข้อสงสัย ไม่ต้องตัดสินใจ ฉันจะไม่เหงาอยู่ตามลำพัง เพราะฉันจะมีเรื่องให้ทำอยู่เสมอ 

ฉันไม่จำเป็นต้องตระหนักถึงตัวเองว่าฉันเป็นใคร เพราะว่าฉันหมกมุ่นอยู่กับการซื้อสิ่งของและบริการมาบริโภคได้อยู่เสมอ ฉันต้องทำงานหาเงินเพียงเพื่อสนองความต้องการของฉัน-ความต้องการเหล่านี้ถูกกระตุ้นและกำกับโดยเครื่องจักรทางเศรษฐกิจของระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่

คนในโลกยุคอุตสาหกรรมหมกมุ่นหลงใหลไปกับการเป็นเจ้าของเครื่องใช้สมัยใหม่ต่างๆ มากกว่าการสนใจการมีชีวิตอยู่และกระบวนการของชีวิต พวกเขาสนใจกีฬา เกม ความบันเทิงแบบใหม่ๆ มากกว่าสนใจเพื่อนมนุษย์ ชีวิตและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่คนยุคก่อนเคยสนใจ คนยุคนี้เปลี่ยนไปสนใจแต่เรื่องเทคนิคและเรื่องที่ไร้ชีวิต 

ผลก็คือมนุษย์รู้สึกเฉยๆ ไม่แยแสต่อเรื่องชีวิต มนุษย์ภูมิใจที่มนุษย์ผลิตขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ที่ทันสมัยได้ มากกว่าที่พวกเขาจะหวาดกลัวและเศร้า เมื่อคำนึงถึงผลกระทบในการทำลายล้างชีวิตทุกชีวิตจากสงครามนิวเคลียร์

เมื่อมนุษย์ถูกสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นเพียงสิ่งของ พวกเขาเกิดความวิตกกังวล ไม่มีศรัทธา ไม่มีอุดมคติในชีวิต และมีความสามารถที่จะรักได้ลดลง เขาพยายามหลบหนีโดยการทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ ด้วยการติดเหล้า ด้วยการหาความสุขทางเพศแบบมักมาก และอาการทางโรคจิตประสาททุกชนิด ซึ่งนักวิเคราะห์มักอธิบายด้วย “ทฤษฎีความเครียด” 

ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดมักเป็นประเทศที่คนป่วยมากที่สุด เช่น สหรัฐ ยุโรปตะวันตก สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ มีอัตราการติดเหล้าและการฆ่าตัวตายอยู่ในอันดับสูง ขณะที่ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้มีการพัฒนาในเรื่องยาและการรักษาสูงมาก การป่วยไข้ทั้งทางกายและทั้งจิตใจทุกรูปแบบเพิ่มขึ้นสูงมากเช่นเดียวกัน

นี่ไม่ได้แปลว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา อุตสาหกรรมทำให้ชีวิตทางวัตถุของมนุษย์สะดวกสบายขึ้น ปัญหาอยู่ที่ว่า เราควรจะจัดรูปแบบระบบการผลิตอุตสาหกรรมอย่างไรมากกว่า? 

ตัวปัญหาคือการจัดระบบการผลิตอุตสาหกรรมในแนวทุนนิยมที่บริหารจัดการโดยผู้บริหารองค์กรหรืออาชีพ ทำให้ปัจเจกชนเล็กลงและแปลกแยก กลายเป็นเฟืองตัวเล็กในระบบการผลิตที่ขึ้นอยู่กับเครื่องจักรกล

ดังนั้น เราต้องหาทางเปลี่ยนแปลงจัดระบบอุตสาหกรรมใหม่ ให้เป็นระบบการผลิตอุตสาหกรรมแบบมนุษยนิยม ที่เน้นความสำคัญของสุขภาวะมนุษย์ มากกว่าผลผลิตและกำไรของธุรกิจ

ระบบอุตสาหกรรมแบบมนุษยนิยม ควรจะเป็นระบบสังคมนิยมประชาธิปไตยที่คนงานเป็นเจ้าของร่วมกันและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในการผลิต การกระจายทุกขั้นตอน ไม่ใช่สังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางที่ผู้บริหารโรงงานที่รัฐแต่งตั้งมาคงมีนโยบายเน้นการเติบโตของผลผลิต ไม่ต่างไปจากในประเทศทุนนิยม

ระบบอุตสาหกรรมแบบมนุษยนิยมต้องเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย ไม่ใช่เพื่อทำกำไรสูงสุดสำหรับคนส่วนน้อยหรือการบริโภคสูงสุดสำหรับคนจำนวนมาก แต่เพื่อให้ผู้คนได้มีชีวิตที่ร่ำรวยขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ร่ำรวยทางเศรษฐกิจ แต่เป็นความร่ำรวย ความสร้างสรรค์ทางสังคมและวัฒนธรรม หรือคุณภาพชีวิตมนุษย์โดยรวม 

การผลิตทางเศรษฐกิจไม่ควรเป็นเป้าหมาย (End) ในตัวเอง ควรเป็นแค่เพียงเครื่องมือ (Means) ของมนุษย์ เพื่อช่วยให้มนุษย์ทั้งหมดได้มีชีวิตที่ร่ำรวย สร้างสรรค์ มีสุขภาวะทั้งทางกายและใจมากขึ้น

"พลเมืองควรได้รับสิ่งของและบริการที่จำเป็นขั้นต่ำสำหรับชีวิตพลเมืองทุกคน โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องหาเงินมาซื้อ รัฐบาลควรขยายการให้บริการการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นด้วย รวมทั้งให้เบี้ยเลี้ยงเพื่อที่คนจนจะได้เข้าถึงการศึกษาได้ 

เราควรขยายหลักการนี้ให้บริการแบบฟรีด้วย ไปสู่สินค้าที่จำเป็นอื่นๆ เช่น ขนมปัง การเดินทางและสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตที่มีศักดิ์ศรีของพลเมืองทุกคน

เมื่อเราพัฒนาระบบเศรษฐกิจสังคมให้เจริญก้าวหน้ามีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น หลักการนี้จะมีเหตุผลอย่างยิ่งทั้งในแง่เศรษฐกิจและในแง่ความคิดจิตใจ".