ไทยไม่ใช่ประเทศเล็ก ที่เล็กคือระดับผู้นำ

ไทยไม่ใช่ประเทศเล็ก ที่เล็กคือระดับผู้นำ

ผู้นำไทยมักจะมองว่าไทยเป็นประเทศเล็กๆ จึงต้องพึ่งพาการลงทุนและการค้าจากต่างประเทศ นั่นเป็นเพียงความเชื่อตามแนวคิดชนชั้นนำของประเทศมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตก ที่ต้องการไทยเป็นเมืองพึ่งเท่านั้น

ไทยนั้นใหญ่ระดับกลางใน 2 แง่ คือ ในด้าน 1.ขนาดประชากร 2.ขนาดของเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลก

ไทยมีขนาดประชากรที่ 66.88 ล้านคนใหญ่ เป็นลำดับที่ 23 ของทุกประเทศทั่วโลก และมีขนาดเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) แบบถ่วงน้ำหนักด้วยอำนาจซื้อของประชาชน (PPP) แล้วอยู่ลำดับที่ 24 ของประเทศทั่วโลก (เกือบ 200 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ)

ไทยจึงเป็นประเทศขนาดกลางค่อนข้างใหญ่กว่าอีกร้อยกว่าประเทศ

สถิติขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมที่ถ่วงน้ำหนักด้วยอำนาจซื้อของประชาชน (PPP) จีนอยู่ลำดับที่ 1 เพราะค่าครองชีพที่จีนถูกกว่าสหรัฐ ถ้าวัดขนาด GDP ตามตัวเลขทางบัญชี สหรัฐยังคงมี GDP สูงกว่า

แต่การวัด GDP แบบถ่วงน้ำหนักด้วยค่าครองชีพ จะสอดคล้องกับความจริงทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศมากกว่า ในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา ไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง

ประเทศที่มีขนาดประชากรมาก มีแรงงานและผู้บริโภคมักจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ด้วย เช่น จีน อินเดีย สหรัฐ ประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมได้มาก เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี ก็มีลำดับขนาดเศรษฐกิจใหญ่ด้วยเช่นกัน

ประเทศที่มีประชาชนน้อยกว่าไทยอย่างเกาหลีใต้ แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย ไต้หวัน ออสเตรเลีย โปแลนด์ ล้วนมีลำดับ GDP แบบถ่วงน้ำหนักค่าครองชีพแล้วที่สูงกว่าไทย สะท้อนว่าเขาพัฒนาเศรษฐกิจได้เก่งกว่าไทย

แต่สถิติที่ดีควรวัดเรื่องคุณภาพการพัฒนาชีวิตมนุษย์และสังคมด้วย ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) ของ UNDP แห่งสหประชาชาติ ที่คำนวณทั้งเรื่อง GDP ต่อหัว เรื่องสุขภาพ (เช่น อายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากร) และการศึกษาด้วย สะท้อนเรื่องการพัฒนาทางสังคม/คุณภาพชีวิตมนุษย์มากกว่าสถิติที่วัดเรื่องขนาดทางเศรษฐกิจ

ไทยไม่ใช่ประเทศเล็ก ที่เล็กคือระดับผู้นำ

ประเทศที่มีลำดับดัชนีการพัฒนามนุษย์สูงมักเป็นประเทศขนาดเล็ก ขนาดกลาง ในยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ฮ่องกง ติดอันดับ 1-4 รองลงมาคือ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก สวีเดน ไอร์แลนด์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฟินด์แลนด์

ขณะที่สิงคโปร์ติดอันดับ 12 ด้วยเกาหลีใต้ อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไซปรัส ติดอันดับสูงในรอบ 30 อันดับแรกของโลก

ส่วนไทยอยู่ลำดับที่ 66 แสดงว่าไทยถึงจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ปานกลาง แต่ไทยยังพัฒนาด้านสาธารณสุขและการศึกษาได้อยู่ระดับต่ำ

ถ้าจะไปดูสถิติเปรียบเทียบประเทศต่างๆ ในเรื่องรายได้เฉลี่ยต่อหัวและการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ไทยจะอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำกว่าลำดับของขนาดประชากรและเศรษฐกิจ

สถิติในทางที่สะท้อนคุณภาพชีวิตต่ำ เช่น ปัญหาอาชญากรรม การฆ่าตัวตาย คนติดคุก ปัญหาอุบัติเหตุทางรถยนต์ ปัญหาเรื่องมลภาวะ ไทยก็ติดอันดับสูง แต่ถ้าวัดเรื่องดีๆ ไทยอยู่อันดับท้ายๆ เช่น ดัชนีวัดภาพลักษณ์ความโปร่งใส (ไม่คอร์รัปชัน) ไทยติดอันดับ 110 เรื่องเสรีภาพสื่อมวลชนไทยติดอันดับ 115

สถิติเหล่านี้สะท้อนปัญหาว่าไทยมีใหญ่โตแต่ตัว แต่ไม่ค่อยแข็งแรง ปัญหาหลักคือระบบโครงสร้างการผูกขาดอำนาจโดยชนชั้นนำกลุ่มน้อยที่บริหารประเทศแบบกระจายอำนาจ ความมั่งคั่งให้คนรวยกลุ่มน้อยมากเกินไป ไม่ได้กระจายพัฒนาทางสังคมและชีวิตที่ดีสู่ประชาชนส่วนใหญ่อย่างเป็นธรรมทั่วถึง

ในแง่เศรษฐกิจโดยรวม ไทยมีเงินทุนในธนาคารพาณิชย์ เงินทุนสำรองภาครัฐ การเก็บภาษีของรัฐและการหาประโยชน์จากสัมปทานของรัฐอยู่ในเกณฑ์สูง

แต่รัฐบาลไทย (ทุกรัฐบาล) ยังไม่ได้พัฒนาให้คนส่วนใหญ่มีการศึกษา ฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่ (ประชากรราว 67 ล้านคน) มีรายได้ต่ำ (และเป็นหนี้มากด้วย) ขาดกำลังซื้อ

การศึกษาอบรม การจัดองค์กรที่มีคุณภาพทำให้ประสิทธิภาพหรือผลผลิต การทำงานต่ำ ตลาดภายในและเศรษฐกิจภายในประเทศไทยจึงค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับขนาดประชากรที่ค่อนข้างใหญ่

เทียบกับอังกฤษ ฝรั่งเศส ที่มีประชากรพอๆ กับไทย แต่ 2 ประเทศนั้นมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าไทยมาก ลำดับดัชนีการพัฒนามนุษย์ 2 ประเทศนี้ก็อยู่สูงกว่าไทยค่อนข้างห่าง

ไทยไม่ใช่ประเทศเล็ก ที่เล็กคือระดับผู้นำ

ส่วนประเทศในยุโรปที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ลำดับสูงกว่าไทยนั้น มีหลายประเทศที่เป็นประเทศเล็ก มีประชากรน้อยกว่าไทย ไม่ว่าจะเป็น สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ แต่เขาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแบบกระจายไปสู่คนส่วนใหญ่ได้ดีกว่าไทย

ประเทศเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เล็กกว่าไทย (ทั้งประชากรและขนาดเศรษฐกิจ) แต่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ลำดับสูงกว่า มีฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

คนไทยควรศึกษาบทเรียนจากประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านคุณภาพมนุษย์และสังคมสูงกว่าไทยเหล่านี้ และหาทางปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองไทย

เช่น การปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ การธนาคาร สถาบันการเงิน ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรมขนาดย่อม ปฏิรูปการตลาด ปฏิรูปพลังงาน ปฏิรูปการศึกษา ฝึกอบรมที่มีคุณภาพ และอื่นๆ

เพื่อทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีทรัพย์สิน รายได้ ความรู้ จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม มีงานที่เหมาะสมทำ มีผลิตภาพ (ประสิทธิภาพในการทำงาน) เพิ่มขึ้น

ไทยต้องปฏิรูปทั้งระบบเศรษฐกิจสังคม ในแนวที่ก้าวหน้าเป็นธรรมอย่างถึงรากถึงโคนเท่านั้น จึงจะทำให้ตลาดภายในและเศรษฐกิจภายในประเทศไทยขยายตัวใหญ่ขึ้นได้

เป้าหมายที่สำคัญคือ การทำให้เศรษฐกิจและสังคมของไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน/สังคมอย่างทั่วถึง/เป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน.