"อีริค ฟรอมม์" ศิลปะการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ | วิทยากร เชียงกูล

"อีริค ฟรอมม์" ศิลปะการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ | วิทยากร เชียงกูล

ทั้งรัฐบาลและประชาชนส่วนใหญ่ชอบเน้นแต่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ/ธุรกิจ เพราะต่างคิดว่าเรื่องนี้คือปัญหาและเป้าหมายหลักในชีวิตมนุษย์ แต่นี่คือการครอบงำทางความคิดความเชื่อ

 โดยตัวระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการเติบโตทางวัตถุ เพื่อหากำไรสูงสุดของนายทุน มนุษย์เราจริงๆ ยังมีปัญหาและความต้องการพัฒนาเรื่องความคิดจิตใจที่เราควรจะเรียนรู้และพัฒนาต่อได้อีกมาก 

อีริค ฟรอมม์ (ค.ศ. 1900-1980) นักจิตวิทยาสังคม เสนอแนวคิดการพัฒนามนุษย์และสังคมแนวสังคมนิยมมนุษยนิยม ซึ่งหมายถึง สังคมนิยมที่เสมอภาค เป็นประชาธิปไตย เป็นอิสระ ที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ผู้มีความสามารถที่จะพัฒนาตนเอง มีความภาคภูมิและกำหนดชะตากรรมของตนได้อย่างเต็มที่ ให้สมบูรณ์ด้วยความพยายามของตัวเขาเอง 

นี่คือแนวคิดต่างจากสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง โดยรัฐแบบโซเวียตรุสเซียที่เน้นการเติบโตของอุตสาหกรรมไม่ต่างไปจากระบบทุนนิยม

ฟรอมม์เป็นทั้งนักจิตวิทยา/นักจิตวิทยาสังคม นักประวัติศาสตร์ นักปรัชญา นักเทววิทยา และนักสังคมวิทยาด้วย งานเขียนของเขาราว 40 เล่ม เป็นงานแบบสหวิทยาการแนวเสรีนิยมที่ก้าวหน้า

เขาชี้ว่าทั้งเรื่องจิตวิทยาส่วนบุคคลและเรื่องอิทธิพลทางสังคม วัฒนธรรมต่อมนุษย์ในสังคม ต่างเป็นเรื่องเชื่อมโยงกันและต่างมีความสำคัญพอๆ กัน ที่เราควรต้องเข้าใจทั้ง 2 เรื่องควบคู่กันไป

หนังสือ ศิลปะแห่งการรัก และหนีไปจากเสรีภาพ ของฟรอมม์เป็นหนังสือที่ขายดีไปทั่วโลก เล่มแรกมีแปลเป็นไทย 2 สำนวน (สำนวนหลังสุด จัดพิมพ์โดยมูลนิธหนังสือเพื่อสังคม) เล่มที่สองมีแปลเป็นไทยบางส่วน

ฟรอมม์เป็นนักคิดนอกกรอบ เป็นพวก revisionist คือนักแก้ไขปรับปรุง ทั้งทฤษฎีแนวคิดของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (1856-1939) และคาร์ล มาร์กซ์ (1818-1883) นักวิชาการรุ่นก่อนเขา

ฟรอมม์คิดว่าทั้ง 2 คนเป็นปัญญาชนผู้มีบทบาททางสังคมที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20 ในฐานะผู้ต้องการปลดปล่อยมนุษย์จากการหลงผิดติดอยู่ในภาพมายา (ของชีวิตในทัศนะของฟรอยด์ และภาพมายาของสังคมในทัศนะของมาร์กซ์)  

ฟรอมม์วิจารณ์งานเขียนด้านจิตวิทยาของฟรอยด์ และแก้ไขปรับปรุงแนวคิดเรื่องความขัดแย้งทางจิตใจของมนุษย์ที่ฟรอยด์เสนอไว้หลายประเด็น โดยชี้ว่าปัญหาทางความคิดจิตใจของคนแต่ละคนมาจากสภาพแวดล้อมทางสังคมด้วย

ฟรอมม์ตีความงานเขียนของมาร์กซ์ในฐานะนักสังคมวิทยามนุษยวิทยาแนวมนุษยนิยม ต่างจากการตีความของพวกมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์แนวเถรตรงหรือแนวลัทธิคัมภีร์ที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจการเมืองเป็นหลัก 

ฟรอมม์เห็นว่ามาร์กซ์ไม่เพียงแต่ต้องการปลดปล่อยคนงานให้ได้รับความเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มาร์กซ์ยังต้องการสร้างสังคมอุดมคติแบบใหม่ที่จะปลดปล่อยมนุษย์ให้หลุดพ้นจากความแปลกแยก ความเครียด ความวิตกกังวล ซึ่งเป็นปัญหาด้านความคิดจิตใจด้วย 

ฟรอมม์วิเคราะห์ว่ามนุษย์เรามีแนวโน้มทั้งด้านลบ (การไม่รักชีวิต ชอบทำลายล้าง) และด้านบวก (การรักชีวิต รักการทำกิจกรรมสร้างสรรค์)

ฟรอมม์เสนอว่ามนุษย์ควรจะ Productive ในความหมายกว้างที่หมายถึงการทำงานสร้างสรรค์ (Creative) การเลือกทำสิ่งที่ดี มีประโยชน์ เพื่อการพัฒนาความคิดจิตใจของตัวเราเองและเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งการใช้ชีวิตสร้างสรรค์แบบศิลปิน นักประดิษฐ์ นักคิดต่างๆ แม้ว่าเราแต่ละคนอาจทำได้น้อยกว่าพวกนักสร้างสรรค์ระดับนำก็ตาม 

ฟรอมม์สนับสนุนสังคมนิยมแนวประชาธิปไตยและแนวมนุษยนิยม เขาวิจารณ์ระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั้งในประเทศทุนนิยมตะวันตกและในโซเวียตรุสเซีย

ฟรอมม์มองว่าพวกพรรคบอลเชวิครุสเซียเป็นพวกบิดเบือน ใช้มาร์กซ์เป็นเครื่องมือให้คนบูชาระบบโซเวียตรุสเซียแบบลัทธิอุดมการณ์ ไม่ได้วิเคราะห์สังคมตามความจริงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เหมือนที่มาร์กซ์ตั้งใจทำ

ในคำนำหนังสือ The Art of Being ฟรอมม์เขียนว่า นี่ไม่ใช่หนังสือคู่มือ (How to) การใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จแบบง่ายๆ หรือเป็นสูตรสำเร็จแบบที่นักเขียนเชิงธุรกิจชอบเสนอขายในโลกทุนนิยมเพื่อการบริโภค

ฟรอมม์มองว่าการใช้ชีวิตเป็นเรื่องที่ต้องใช้ศิลปในการฝึกฝนอย่างสำคัญ ผู้อ่านควรต้องทำความเข้าใจกับชีวิตตัวเขาเอง วิเคราะห์ตัวเขาเองได้ และฝึกการใช้ชีวิตด้วยตัวของเขาเองอย่างกล้าหาญ ฉลาด และอดทนแบบมองการณ์ไกล เพื่อสุขภาพจิตที่ดี และเพื่อการพัฒนาอุปนิสัยใจคอ (Character) ที่สร้างสรรค์ ทั้งของตัวเราแต่ละคน และของสังคมทั้งหมด 

ผู้เขียนได้คัดเลือก สรุป แปลและเรียบเรียงจากงานเล่มนี้และเล่มอื่นๆ ของฟรอมม์ โดยใช้ชื่อหนังสือว่า “จิตวิทยาและศิลปะในการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์” หนังสือเล่มนี้ยังรวมคำประกาศความคิดความเชื่อพื้นฐานของฟรอมม์ และแนวคิด คำคมของอีริค ฟรอมม์ จากผลงานเล่มอื่นๆ ของเขา ซึ่งวิเคราะห์เรื่องชีวิตและสังคมยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมไว้วิพากษ์วิจารณ์

ฟรอมม์มองว่าทุกเรื่องที่เขาเขียน บรรยาย แม้จะกล่าวถึงหัวข้อต่างกันไป เช่น หนีไปจากเสรีภาพ สังคมที่สุขภาพจิตดี ศิลปะของการรัก พุทธแบบเซ็นและจิตวิเคราะห์ การปฏิวัติแห่งความหวัง แต่ทุกเรื่องต่างเป็นเรื่องที่วิเคราะห์เรื่องชีวิตและสังคมมนุษย์ที่เชื่อมโยงกันอย่างรอบด้านเป็นระบบองค์รวมอย่างสำคัญ 

การอ่านงานของฟรอมม์ช่วยให้เข้าใจเรื่องจิตวิทยาสังคมมากขึ้นว่า ปัจเจกชนต่างได้รับอิทธิพลจากสังคม การที่เราจะศึกษา ทำความเข้าใจความจริงของสังคม และเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาปัจเจกชนได้อย่างสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากการเข้าใจและการพัฒนาเรื่องจิตวิทยาและการพัฒนาชีวิตของปัจเจกชนแต่ละคน 

“ศิลปะฯ ไม่ใช่อยู่แค่การแพทย์ วิศวกรรม การวาดภาพ เท่านั้น การใช้ชีวิตของมนุษย์เองคือศิลปะอย่างหนึ่ง ที่จริงแล้ว การใช้ชีวิตคือศิลปะที่สำคัญที่สุด ยากและซับซ้อนที่สุดเท่าที่มนุษย์จะปฏิบัติได้

เป้าหมายของการใช้ชีวิตไม่ใช่การแสดงในรูปแบบเฉพาะรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง มันคือการแสดงออกถึงการใช้ชีวิต มันคือกระบวนการในการพัฒนาศักยภาพภายในตัวมนุษย์แต่ละคน ในกระบวนการศิลปะแห่งการใช้ชีวิตนั้น มนุษย์เราเป็นทั้งศิลปินและผลงานศิลปะ เป็นทั้งปฏิมากรและหินอ่อนที่ใช้แกะสลักรูปปั้น เป็นทั้งแพทย์และคนไข้”. 

(ที่มาภาพ www.facebook.com/FrommTheBottomOfMyHeart/)