กลับไปอ่าน "ศิลปะแห่งการรัก" ของ อีริค ฟรอมม์

กลับไปอ่าน "ศิลปะแห่งการรัก" ของ อีริค ฟรอมม์

หนังสือ The Art of Loving โดย อีริค ฟรอมม์ นักจิตวิทยาแนวมนุษยนิยม เป็นหนังสือที่ยังทันสมัยอยู่ แม้จะเขียนและพิมพ์ครั้งแรกมา 50-60 ปีแล้ว เพราะผู้เขียนเขียนเรื่องของความรักในเชิงจิตวิทยา คือ ความเป็นจริงตามหลักวิทยาศาสตร์

ในขณะที่คนส่วนใหญ่มักมองเรื่องความรักในแนวเทพนิยายโรแมนติกที่ไม่สมจริง ฟรอมม์เสนอว่า การรักเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ถ้าเราต้องการเรียนรู้วิธีที่จะรัก เราจะต้องทำด้วยวิธีเดียวกับการเรียนศิลป (วิทยาการ) อื่นๆ คือศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ใส่ใจอย่างยิ่งยวด ตระหนักว่าเรื่องที่เราอยากจะศึกษานี้สำคัญที่สุด

ฟรอมม์มองว่าคนในสังคมปัจจุบันถึงจะโหยหาความรัก แต่กลับไปใช้พลังเพื่อบรรลุสิ่งอื่น เช่น ความสำเร็จ เกียรติยศ เงิน อำนาจ จนแทบไม่เหลือให้แก่การเรียนรู้ศิลปะแห่งการรักที่สร้างประโยชน์แก่จิตวิญญาณ แต่ไม่สร้างผลกำไรในทัศนะของคนในโลกยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม

ฟรอมม์เสนอว่า มนุษย์ทุกวัยและทุกวัฒนธรรมเผชิญหน้ากับปัญหาทางจิตวิทยาเดียวกันคือ จะเอาชนะความรู้สึกโดดเดี่ยว เพื่อบรรลุถึงการอยู่ร่วมกัน (กับคนอื่น) ได้อย่างไร เราจะก้าวข้ามพ้นชีวิตปัจเจกของตนและพบความเป็นหนึ่งเดียวกัน (กับคนอื่น) ได้อย่างไร และเขาเห็นว่าความรักคือคำตอบสำหรับปัญหาการดำรงอยู่ของมนุษย์

    ฟรอมม์มองว่า ความรักไม่ใช่แค่อารมณ์ แต่เป็นกิจกรรมที่เราตั้งใจที่จะรัก เป็นการให้มากกว่าการมุ่งจะได้รับ

การที่เราจะรักคนอื่นและได้รับความรักตอบกลับมาเป็นผลจากการกระทำของเรา คนที่สามารถที่จะรักได้ คือคนที่พัฒนาอุปนิสัยที่มีลักษณะสร้างสรรค์

ผู้ค้นพบว่า “การให้คือการแสดงออกของศักยภาพขั้นสูงสุด” ความรักที่มีวุฒิภาวะ ไม่ใช่ความรักแบบพึ่งพา แต่เป็นการที่ปัจเจกชน 2 คน เข้ามาร่วมกันโดยที่ทั้งคู่มีทั้งความรู้สึก/เจตจำนงร่วมกัน และต่างคนต่างยังคงมีอิสระ, ความเป็นตัวของตัวองที่อีกฝ่ายยอมรับ 

ความรักมีหลายรูปแบบ ทั้งความรักทางกามารมณ์ ความรักระหว่างพ่อแม่กับลูก ความรักเพื่อนมนุษย์ฉันท์พี่น้อง ฯลฯ แต่มีองค์ประกอบพื้นฐานที่คล้ายกัน 4 ข้อ คือ การเอาใจใส่ดูแล รับผิดชอบ การนับถือ และความรู้ (การรู้จัก)

กลับไปอ่าน \"ศิลปะแห่งการรัก\" ของ อีริค ฟรอมม์

ความรักคือการเอาใจใส่ดูแลอย่างจริงจังต่อชีวิตและการเจริญเติบโตของสิ่งที่เรารัก ความรับผิดชอบ หมายถึงการกระทำโดยสมัครใจเต็มที่ ที่ฉันจะตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์อีกคนหนึ่ง เพื่อไม่ให้ความรับผิดชอบเสื่อมไปกลายไปเป็นครอบงำคนอื่นได้

เราต้องนับถือคนๆ นั้นด้วย คือมองคนๆ หนึ่งดังที่เขาเป็น การใส่ใจว่าคนๆ หนึ่ง สมควรที่จะเติบโตและพัฒนาไปดังที่เขาเป็น เพื่อประโยชน์ของเขา ไม่ใช่แบบที่ฉันอยากให้เขาเป็นเพื่อผลประโยชน์ของฉัน

การนับถือจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเรารู้สึกว่าตัวเราเองมีอิสรภาพ (เป็นตัวของตัวเอง) สามารถยืนและเดินได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งไม้ค้ำยัน และโดยไม่ต้องครอบงำหรือเอาเปรียบคนอื่น 

    ทั้ง 3 ข้อแรกนี้จะเป็นไปได้ต่อเมื่อเรารู้จักคนที่เรารักอย่างแท้จริง ต่อเมื่อเรารู้จักตัวเองและก้าวข้ามพ้นความเห็นแก่ตัว และมองคนอื่นในแบบที่เขาเป็น (ความรู้)

ฟรอมม์อธิบายความรักรูปแบบต่างๆ ที่มีทั้งส่วนที่คล้ายกันและแตกต่างกัน เขาวิจารณ์ฟรอยด์ที่เน้นอิทธิพลปมเรื่องเพศมากไป ฟรอมม์วิเคราะห์ว่าเราต้องพิจารณาอิทธิพลทางบริบททางสังคม วัฒนธรรม ต่อความคิดจิตใจของคนเราในทุกมิติอย่างเชื่อมโยงกัน (เป็นระบบองค์รวม)

    ฟรอมม์วิเคราะห์ในทางสังคมว่า วัฒนธรรมของระบบทุนนิยมในโลกตะวันตก ทำให้ปัจเจกชนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง กลายเป็นฟันเฟืองในเครื่องจักร เป็นแรงงานที่ทำตามคำสั่ง เป็นสินค้าอย่างหนึ่งและเป็นผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ

กลับไปอ่าน \"ศิลปะแห่งการรัก\" ของ อีริค ฟรอมม์

เกิดความรู้สึกแปลกแยกกับตนเอง เพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ รู้สึกว้าเหว่ ไม่มั่นคง วิตกกังวล เป็นหุ่นยนต์ที่ไม่สามารถรักอย่างแท้จริงได้

ความรักทางกามารมณ์เป็นการหาที่หลบภัยจากความว้าเหว่ เป็นความสัมพันธ์แบบต่อรองเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ด้วยมารยาทและพยายามทำให้รู้สึกดีต่อกัน เป็นความรักแบบเทียมที่มีความตึงเครียด ความขัดแย้งที่ไม่สามารถแก้ไขกันอย่างมีความเข้าใจกัน ไม่สามารถเข้าถึงความสัมพันธ์แบบเสมอภาคและใจกว้างที่เป็นหัวใจของความรักอย่างแท้จริงได้

    ฟรอมม์เสนอว่าการจะก้าวไปสู่ความรักอย่างสร้างสรรค์ได้นั้น เราจะต้องปฏิบัติต่อความรัก ด้วยการมีวินัยในตัวเอง มีสมาธิ ความอดทน และการเอาใจใส่อย่างสูงสุดต่อความรัก เช่นเดียวกับการปฏิบัติในศิลปะแขนงอื่นๆ

เนื่องจากสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่มีอิทธิพลในการทำให้เรามีปัจจัยทั้ง 4 ข้อนี้น้อยมาก เราจึงต้องฝึกศิลปะในการรักในสิ่งที่คนรุ่นปู่ย่าตายายของเรา (ยุคก่อนทุนนิยมอุตสาหกรรมจะขยายตัว) เคยเรียนรู้มาแล้ว

กลับไปอ่าน \"ศิลปะแห่งการรัก\" ของ อีริค ฟรอมม์

    การฝึกภาคปฏิบัติในเรื่องศิลปะของการรัก ต้องอาศัยวินัย (ในตัวเอง) การมีสมาธิ ความอดทน และการใส่ใจอย่างสูงสุด เงื่อนไขสำคัญสำหรับบรรลุผลในการรักคือการเอาชนะการหลงใหลตัวเอง และการผูกพันที่ยึดติดกับแม่และวงศ์วานเครือญาติ เรียนรู้ที่จะมองคนและสิ่งต่างๆ ดังที่มันเป็นจริงอย่างเป็นกลาง อย่างภววิสัย ไม่มีอคติ อย่างไม่ได้เพียงคิดแค่ว่ามันเป็นประโยชน์หรือโทษต่อเราเท่านั้น 

คุณสมบัติเหล่านี้เราจะได้มาก็ด้วยการที่เราจะต้องรู้จักถ่อมตน มองเรื่องต่างๆ อย่างเป็นกลาง มีเหตุผล สามารถที่จะเจริญเติบโต พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดี มีความรัก/ศรัทธา (ที่มีเหตุผล) ในตัวเองและ (ศักยภาพ) คนอื่น ใจกว้างที่จะยอมรับให้คนที่เรารักได้เป็นตัวของเขาเองด้วย

หากคนเรารู้จักรักได้อย่างแท้จริง สร้างสรรค์ เราจะสามารถสร้างระเบียบทางสังคมที่สุขภาพจิตดี ที่ปกครองด้วยหลักแห่งความเสมอภาค ยุติธรรม และความรักได้  

    “ความรักคือการเลือกตัดสินใจ คือการพิจารณาแล้ว คือการให้คำมั่นสัญญา ถ้าหากว่าความรักเป็นเพียงแค่อารมณ์ความรู้สึกชนิดหนึ่ง จะไม่มีพื้นฐานรองรับการให้สัญญาที่ว่าเราจะรักกันไปตลอดกาล

อารมณ์ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นแล้วก็จางหายเปลี่ยนแปลงไปได้ ผมจะตัดสินได้อย่างไรว่าความรักของผมจะอยู่ตลอดไปได้ นอกเสียจากว่าการรักของผมนั้นเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและการพิจารณาด้วยตัวผมเอง”

    “การเป็นที่รักและการรักนั้น ต้องการความกล้า - ความกล้าที่จะตัดสินคุณค่าที่แน่นอนในฐานะของการเป็นสิ่งที่ต้องห่วงใยสูงสุด แล้วกระโจนลงไป วางเดิมพันทุกอย่างให้แก่คุณค่าเหล่านี้”

    ฉบับแปลภาษาไทย แปลโดย สุรพงษ์ สุวจิตตานนท์ พิมพ์โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม