สึนามิในไทย แม้พยากรณ์ไม่ได้แต่รักษาชีวิตได้ | อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

สึนามิในไทย แม้พยากรณ์ไม่ได้แต่รักษาชีวิตได้ | อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

กระแสการเกิดสึนามิในทะเลอันดามันกลับมาอีกครั้ง หลังจากเพิ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น และหลังจากนั้นก็มีคนเจอปลาพญานาค (Oar Fish) ซึ่งเป็นปลาทะเลลึกขึ้นมาตายบนชายหาด จ.สตูล

ในช่วงนี้หลังจากเพิ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น และหลังจากนั้นก็มีคนเจอปลาพญานาค (Oar Fish) ซึ่งเป็นปลาทะเลลึกขึ้นมาตายบนชายหาด จ.สตูล ซึ่งปลาชนิดนี้มีบางคนเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับการจะเกิดแผ่นดินไหวในทะเล (แต่ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ยืนยัน)

จึงทำให้กระแสการเกิดสึนามิในทะเลอันดามันกลับมาอีกครั้ง โดยแบ่งได้เป็น 2 ขั้ว ขั้วแรกเน้นการอนุมานเอาเลยว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นและนำไปสู่คลื่นสึนามิ

ส่วนอีกขั้วหนึ่งก็เน้นว่าวงรอบของการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียตะวันออกนั้นมันยาวมาก เราเพิ่งเกิดไปเมื่อปี 2547 นี่เอง โอกาสจะเกิดในปีนี้จึงน้อยมาก

พื้นฐานความคิดของทั้งสองขั้วนี้ก็ดูจะไม่ค่อยจะเป็นวิทยาศาสตร์เท่าไรนักทั้งคู่ การรับมือกับภัยจากคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องของการรอว่าจะมีใครมาพยากรณ์ว่าจะมีแผ่นดินไหวในทะเลเมื่อใด

เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของโลกในปัจจุบันยังไม่สามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้ในระดับปฏิบัติการ แต่เรามีความรู้ทางธรณีวิทยามากพอที่จะบอกได้ว่า ตำแหน่งที่แผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นได้นั้นอยู่ที่ใหนบ้าง

แนวที่จะสามารถเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ในมหาสมุทรอินเดียที่อยู่ใกล้ประเทศไทยที่สุดนั้น ก็ยังอยู่ห่างถึงประมาณ 1,000 กิโลเมตร ซึ่งคลื่นสินามิที่เกิดขึ้นจะใช้เวลาเดินทางถึงประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งเพียงพอต่อการแจ้งเตือนและการอพย

นับว่าประเทศเราโชคดีกว่าหลายพื้นที่ในประเทศอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งแนวการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ใกล้ชายฝั่งมาก คลื่นใช้เวลาเดินทางเพียงไม่กี่นาที การเตือนภัยและการอพยพจึงมักจะไม่ทันการณ์

ถ้าเกิดแผ่นดินไหวในที่ใดๆ บนโลก เครือข่ายการตรวจวัดความสั่นสะเทือน ซึ่งมีสถานีวัดกระจายอยู่ทั่วโลกจะประมวลผลข้อมูล และจะแจ้งตำแหน่งกับขนาดของแรงสั่นสะเทือนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการเตือนภัยในประเทศต่างๆ ภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากการเกิดแผ่นดินไหว

ในประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานหลักที่รับข้อมูลนี้อย่างเป็นทางการ โดยมีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติในการแจ้งเตือนในระดับพื้นที่ก็จะเข้าถึงข้อมูลนี้แบบ real time ด้วยเช่นกัน

หน่วยงานทั้งสองนี้จะมีทั้งระบบอัตโนมัติและเจ้าหน้าที่เวรตลอด 24 ชั่วโมงที่จะแจ้งเตือนต่างๆ ทั้งหอเตือนภัย วิทยุ โทรทัศน์ sms โซเชียลมีเดีย และช่องทางสื่อสารอื่นๆ

จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันทั้ง 6 จังหวัดล้วนมีความเสี่ยงต่อคลื่นสึนามิหากมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ (ขนาด 5 ริกเตอร์ขึ้นไป) ในมหาสมุทรอินเดีย แต่ จ.พังงาและภูเก็ตด้านตะวันตกมีโอกาสได้รับคลื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าจังหวัดอื่นๆ

โดยพื้นที่ที่มีความเสี่ยงคือพื้นที่ชายฝั่งทะเล (ทั้งที่เป็นชายฝั่งเปิดและชายฝั่งที่อยู่ในอ่าวหรือมีเกาะบังก็มีความเสี่ยงเช่นกัน) แต่ก็เฉพาะพื้นที่ที่อยู่สูงจากระดับทะเลไม่เกิน 10 เมตร

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดทำป้ายแสดงแนวพื้นเสี่ยงและพื้นที่ปลอดภัยเอาไว้แล้ว อาคารสูงชายทะเลที่แข็งแรงตามมาตรฐานทางวิศวกรรม ตั้งแต่ชั้น 5 ขึ้นไป ก็ถือว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย

หากเกิดการแจ้งเตือนสินามิ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง (อยู่ในพื้นที่ต่ำใกล้ชายฝั่งทะเล) ต้องอพยพทันที โดยเฉพาะคนชรา คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพควรจัดเตรียมให้หยิบฉวยง่ายและมีเฉพาะเท่าที่จำเป็น

ส่วนผู้ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง (คืออยู่บนที่สูงเพียงพอ) ก็ควรอยู่ในที่ตั้งไม่ออกมาให้เกะกะการอพยพของผู้ที่จำเป็น

การที่มีการมาพูดเรื่องสึนามิในสื่อต่างๆ ในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องดี ที่ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการเตือนภัย การอพยพ การจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงประชาชนและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันจะได้ตรวจสอบเครื่องมือ เส้นทางอพยพและระบบต่างๆ รวมถึงทบทวนความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น

เพราะแผ่นดินไหวและสึนามิเป็นสิ่งที่คาดการณ์พยากรณ์ล่วงหน้าไม่ได้ แต่ประเทศไทยยังโชคดีที่ถ้ามันเกิด เรายังพอมีเวลาในการอพยพเพื่อรักษาชีวิตได้.