ปภ. ให้ความมั่นใจ ระบบเฝ้าระวังแจ้งเตือนสึนามิมีประสิทธิภาพทำงาน 24 ชม. 

ปภ. ให้ความมั่นใจ ระบบเฝ้าระวังแจ้งเตือนสึนามิมีประสิทธิภาพทำงาน 24 ชม. 

ปภ. เผยระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสึนามิทำงานมีประสิทธิภาพ พร้อมจำลองเหตุการณ์ล่วงหน้าคลื่นเข้าถึงฝั่ง 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน

6 ม.ค. 67 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เผยถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์มีข้อสังเกตเกี่ยวกับความพร้อมของระบบการแจ้งเตือนภัยสึนามิของประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอรายงานว่า ประเทศไทยมีกลไกเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิอย่างเป็นระบบผ่านข้อมูลวิชาการและเครื่องมือเฝ้าระวังแบบ Real Time

โดยติดตามข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังการเกิดสึนามิของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังสึนามิที่ถูกส่งไปยังหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic  and  atmosphere administration : NOAA)

รวมถึงข้อมูลจากทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทย จำนวน 2 ตัว ที่ติดตั้งในทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย ข้อมูลระดับน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำทะเลนานาชาติ (The Intergovernmental Oceanographic Commission : IOC) จากประเทศอินเดีย อินโดนิเซีย ออสเตรเลีย และสถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศไทยที่เกาะเมียงและเกาะราชาน้อย  

ซึ่ง ปภ.จะนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลและวิเคราะห์กับแบบจำลองการเกิดสึนามิของประเทศไทยที่ได้ออกแบบไว้ล่วงหน้า เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากสึนามิ แสดงข้อมูลในแต่ละพื้นที่ถึงช่วงเวลาการเข้าถึงฝั่งของคลื่นสึนามิใน 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน (สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง และภูเก็ต)     

ปัจจุบันทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทยในมหาสมุทรอินเดีย สถานี 23401 มีสถานะการทำงานเป็นปกติ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเกิดสึนามิตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยสึนามิในพื้นที่เสี่ยง 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วย หอเตือนภัย จำนวน 130 แห่ง ที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และเครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม จำนวน 47 แห่ง ซึ่งติดตั้งอยู่ ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประจำจังหวัดทั้ง 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน มีสถานะการทำงานเป็นปกติเช่นเดียวกัน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการตรวจสอบและทดสอบสถานะการทำงานของระบบแจ้งเตือนภัยสึนามิเป็นประจำทุกวัน 

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยมีประสิทธิภาพ โดยสามารถติดตามข้อมูลและแจ้งเตือนภัยสึนามิแก่ประชาชนตามขั้นตอนที่กำหนดได้รวดเร็วและแม่นยำ เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมในการอพยพกรณีภัยสึนามิได้ทันสถานการณ์