'หมอล็อต' เตือนขับรถขึ้นเขาใหญ่อย่าขับจี้ตูดช้าง เว้นช่วง 50 เมตรไม่พอ

'หมอล็อต' เตือนขับรถขึ้นเขาใหญ่อย่าขับจี้ตูดช้าง เว้นช่วง 50 เมตรไม่พอ

"หมอล็อต" เตือนขับรถขึ้นเขาใหญ่อย่าขับจี้ตูดช้าง เผยเว้นช่วงห่าง 50 เมตรไม่พอ เตือนรถด้านหลังช้างควรหยุดรถทันที รอสัญญาณจากเจ้าหน้าที่

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสัตวแพทย์ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน หรือ "หมอล็อต" โพสต์เฟชบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน ระบุว่า 

LotterAlternatives : ขับรถชิดตูดระวังชนท้าย ขับรถจี้ตูดช้างลำบากคันหน้า

เป็นเหตุการณ์ที่นำมาเป็นแนวปฎิบัติได้ดี มองเผินๆจะเห็นว่า ช้างป่า วิ่งไล่จักรยาน แต่พอดูไปสักพัก จะเห็นรถยนต์ขับตามหลังช้างป่า

เมื่อขับรถแล้วเจอช้างป่า ถ้าเราอยู่ด้านหลังช้างให้เว้นระยะห่างให้มากที่สุด ไม่ใช่แค่ 50 เมตร และที่สำคัญ ควรหยุดรถทันที รอดูสัญญาณจากเจ้าหน้าที่เพราะถ้าเราขับรถตามช้าง จะเป็นการเร่ง และกดดันให้ช้างต้องเดินไปข้างหน้าเร็วมากขึ้น คนที่ลำบากก็จะเป็นรถที่อยู่หน้าช้างป่า ดังเช่นกรณีของนักปั่นจักรยานท่านนี้ ฟังจากเสียงจานและโซ่ชัดเจนมาก

ถ้าช้างจะไล่จักรยาน จะมีเพียงตัวสองตัวเท่านั้นที่ออกมาวิ่งไล่ ตัวอื่นๆจะอยู่กับบฝูงคอยจัดขบวนระวังภัยให้กัน แต่นี้ ช้างป่าเดินเกาะเป็นกลุ่ม ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ รอกัน ตัวเล็กก็จะเหนื่อยหน่อย กว่าช้างป่าจะเจอด่านข้างทางที่หลบรถได้ รถคันข้างหน้า เจ้าหน้าที่ก็เหนื่อยมาก สนุกเรา ลำบากเพื่อน มิฉนั้น ช้างก็จะถูกกล่าวหาว่าดุ ไล่รถ นักปั่นก็จะถูกเข้าใจผิดได้

จำไว้เป็นความรู้และแนวปฎิบัติ “อย่าขับรถจี้ตูดช้าง” มาร่วมกันรณรงค์และขอให้เที่ยวอุทยานอย่างมีความสุขและปลอดภัย

ปล.ขอบพระคุณเจ้าของคลิบที่น่าจะถ่ายจาก Go pro เป็นประโยชน์มากๆครับ

#SurvivalTogether

 

10 ข้อปฏิบัติเมื่อเจอช้างป่าบนถนน

ขณะที่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แนะนำ 10 ข้อปฏิบัติเมื่อเจอช้างป่าบนถนน ถ้าหากพบว่าช้างอยู่ที่ถนนให้หยุดรถดูท่าที หากพบว่าหูกาง หางชี้ให้อยู่ห่างๆ ดังนี้

1. หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้เคลื่อนรถหนีด้วยการถอยหลังอย่างมีสติ รอจนกว่าช้างจะหลบจากถนน จึงเคลื่อนรถผ่านไป

2. อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ และตรงเข้ามาหาเราได้ เนื่องจากช้างป่า ประสาทหูจะดีมาก เสียงแตรแหลมๆ จะทำให้ช้างตกใจและโกรธ

3.งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ ตรงเข้ามาทำร้ายได้ และทำให้ช้างเกิดการสนใจเดินเข้ามาหา เพราะช้างตกใจแล้วตกใจเลย หายยาก

4. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที และเสียงเครื่องยนต์รถที่ติดเครื่องดังทุ้มๆ จะไม่ทำให้ช้างนั้นตกใจ ไม่เครียด และคุ้นเคย เพราะได้ยินเสียงและรู้ว่านี่คือรถยนต์

5. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก ห้ามเปิดกะพริบ เพราะแสงจะเข้าตา และดึงดูดให้ช้างเกิดความสนใจ เดินเข้ามาหา

6.ประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุดคือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นคือการดม ดู และสัมผัส นั่นหมายถึง ช้างเข้ามาหาแล้ว เขาแค่แตะๆ แต่ด้วยกำลังมหาศาล รถก็เสียหายได้

7. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟต่ำ และอย่าเปิดกะพริบ แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อยๆเคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด

8.ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถ

9. สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าคันที่อยู่ใกล้ช้างหรืออยู่ไกลช้างก็ล้วนเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น ดังนั้นหากรถคันหน้าเปิดไปถอยรถ คันข้างหลังถัดไปก็ให้ถอยรถอย่างมีสติ

10. ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ เพราะอาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอๆ ว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือฝูง

ขณะที่ คุณเจอช้างเพียงตัวเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีช้างตัวอื่นๆ อยู่ในบริเวณนั้น ฝูงช้างอาจจะกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้างๆทางนั้นก็เป็นได้ และวินาทีที่เขาจะเข้ามาหานั้น เร็วมาก

\'หมอล็อต\' เตือนขับรถขึ้นเขาใหญ่อย่าขับจี้ตูดช้าง เว้นช่วง 50 เมตรไม่พอ

 

ข้อมูล : กรมอุทยานแห่งชาติฯ ,ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน