สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 พ.ย. 66

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 พ.ย. 66

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 พ.ย. 66 ทั่วไทยมีฝนบางแห่ง เฝ้าระวังระดับน้ำเกินระดับควบคุมสูงสูด 8 แห่ง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 พ.ย. 66 โดย สภาพอากาศวันนี้ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนบางแห่ง ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง 

คาดการณ์ วันที่ 1-5 ธ.ค. 66 ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคง มีฝนตกหนักบางแห่ง 

ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 29.พ.ย. 66 น้อยกว่า ปี 65 จำนวน 4,008 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้

  • ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 63,849 ล้าน ลบ.ม. (78%)
  • ปริมาณน้ำใช้การ 39,646 ล้าน ลบ.ม. (68%)

การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำขนาดใหญ่

ระดับน้ำเกินระดับควบคุมสูงสูด 8 แห่ง

  • ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วคอหมา แม่มอก แควน้อยบำรุงแดนและบึงบอระเพ็ด
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อุบลรัตน์ และลำปาว 
  • ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ 

ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุด 4 แห่ง

  • ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา
  • ภาคกลาง : กระเสียว
  • ภาคตะวันออก : คลองสียัด 

โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ

1) วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด  

2) ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง

3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง1-3 วัน บริเวณ ภาคใต้ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช  ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

ประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 5/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 25 – 30 พ.ย. 66 ดังนี้

1. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณ จ.พัทลุง (อ.เมืองพัทลุง กงหรา เขาชัยสน ตะโหมด บางแก้ว ปากพะยูน และป่าบอน) จ.สงขลา (อ.เมืองสงขลา กระแสสินธุ์ ระโนด สทิงพระ สิงหนคร จะนะ ควนเนียง หาดใหญ่ เทพา นาทวี นาหม่อม บางกล่ำ รัตภูมิ และสะบ้าย้อย) จ.ปัตตานี (อ.เมืองปัตตานี กะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ แม่ลาน ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี และหนองจิก) จ.ยะลา (อ.เมืองยะลา และรามัน) จ.นราธิวาส (อ.เมืองนราธิวาส จะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ ศรีสาคร สุคิริน สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี) 

2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา 

3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 66 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง ครั้งที่ 16/2566 ภายใต้คณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง เพื่อพิจารณาแผนการระบายน้ำเขื่อนบางลางให้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และช่วยบรรเทาปัญหาด้านอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ปัจจุบันโดยที่ประชุมมีมติ เห็นชอบปรับลดการระบายน้ำเขื่อนบางลาง เป็น 4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน (46.30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ในช่วงวันที่ 29 พ.ย. - 4 ธ.ค. 66 เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ ทั้งนี้ หากมีปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อนบางลางและพื้นที่ท้ายน้ำให้กรมชลประทานประสานงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่