เกาะติดสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่อง ภาคใต้ สนทช. สั่งเฝ้าระวัง 24 ชม.

เกาะติดสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่อง ภาคใต้ สนทช. สั่งเฝ้าระวัง 24 ชม.

ศูนย์ฯ น้ำส่วนหน้าภาคใต้ จับตาสถานการณ์ฝนภาคใต้อย่างใกล้ชิด เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสูบน้ำออกจากจุดท่วมขัง คาดช่วงเดือน ธ.ค. ยังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแผนป้องกัน ส่งเครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยง รวมทั้งแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า

วันนี้ (28 พ.ย. 66) นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยหลังการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ศอ.บต. จ.ยะลา พร้อมลงพื้นที่ตรวจจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณ รพ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และบริเวณห้าแยกน้ำกระจาย อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 ว่า ขณะนี้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซีย ได้เคลื่อนลงสู่ช่องแคบมะละกา คาดว่า จะเคลื่อนลงสู่ทะเลอันดามันในระยะต่อไป ทำให้สถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ช่วงวันนี้ - 29 พ.ย.66 จะยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และในบางพื้นที่ของปัตตานี โดยตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 66 ตลอดห้วงสัปดาห์นี้ในพื้นที่ จ.ยะลา นราธิวาส และปัตตานี จะมีฝนเบาบางลง จนถึงระดับฝนปานกลาง และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากอีกครั้งในห้วงวันที่ 30 พ.ย. - 4 ธ.ค. 66 โดยในช่วงต้นเดือน ธ.ค.66 จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช 

เกาะติดสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่อง ภาคใต้ สนทช. สั่งเฝ้าระวัง 24 ชม.

ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือให้หน่วยงานเตรียมความพร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมแล้ว พร้อมกันนี้ได้เร่งประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบเพื่อเตรียมรับมือ โดยกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยได้เตรียมเข้าช่วยเหลือหากเกิดเหตุฉุกเฉินด้วยเช่นกัน ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมที่อยู่อาศัยในหลายพื้นที่ เช่น ที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นต้น ขณะนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าให้การช่วยเหลือโดยการเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่และขนย้ายสิ่งของผู้ประสบภัยแล้ว

เกาะติดสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่อง ภาคใต้ สนทช. สั่งเฝ้าระวัง 24 ชม.

ส่วนการระบายน้ำของเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ได้ขอความร่วมมือจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้คงอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 4 ล้าน ลบ.ม./วัน ไปก่อน เนื่องจากยังมีผลกระทบประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งจะมีการประชุมคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง ในวันที่ 28 พ.ย.66 เพื่อพิจารณาในเรื่องนี้อีกครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนซึ่งอยู่บริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำเขื่อนปัตตานี ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ อีกทั้งมีน้ำทะเลหนุนสูงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ทั้งนี้ ปัจจุบันเขื่อนบางลางมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 915.35 ล้าน ลบ.ม. (62.94%) ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกถึง 539.01 ล้าน ลบ.ม. (37.06%) 
 

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. ได้คาดการณ์ว่า ฝนจะกลับมาตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่เหลือและต้นเดือนธันวาคม 2566 นั้น ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการเตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยงต่างๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของพื้นที่ภาคใต้ตอนบนยังอยู่ในระดับปกติ โดยการคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ 7 วันล่วงหน้า ยังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (URC) ได้แก่ อ่างฯแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีปริมาณน้ำ 469.85 ล้าน ลบ.ม. (66.18%) อ่างฯปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 185 ล้าน ลบ.ม. (47.31%) และอ่างฯรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 4,427.99 ล้าน ลบ.ม. (78.53%) ซึ่งปริมาณน้ำของทั้ง 3 อ่างฯ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกและจะเป็นผลดีในพื้นที่ที่จะมีน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งเพิ่มขึ้นด้วย 

“ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) มีความเป็นห่วงสถานการณ์ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ภาคใต้และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ได้กำชับ สทนช. บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หากพื้นที่ใดสามารถเร่งระบายน้ำได้ก่อน ให้รีบดำเนินการเพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ พร้อมให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด หน่วยงานทหารและทุกฝ่าย เตรียมความพร้อมสำหรับเหตุที่จะเกิดล่วงหน้า ทั้งการเตรียมสรรพกำลัง เครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยงเพื่อพร้อมให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงทีหากเกิดเหตุอุทกภัยฉุกเฉิน ขณะเดียวกันให้หน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ในทุกช่องทางการสื่อสาร เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอันเกิดจากน้ำให้เกิดน้อยที่สุด รวมทั้งการลงพื้นที่เร่งสำรวจจุดที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมวางแผนปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในอนาคตต่อไป” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย