ปภ. ประสาน 10 จว.ภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง

ปภ. ประสาน 10 จว.ภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 10 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ ในช่วงวันที่ 25-30 พ.ย. 66 พร้อมจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ พร้อมช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

วันนี้ (23 พ.ย. 66) นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 5/2566 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 แจ้งว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ในช่วงวันที่ 25-30 พฤศจิกายน 2566 แยกเป็น 

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่

  1. พัทลุง (อ.เมืองฯ กงหรา เขาชัยสน ตะโหมด บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน)
  2. สงขลา (อ.เมืองฯ กระแสสินธุ์ ระโนด สทิงพระ สิงหนคร จะนะ ควนเนียง หาดใหญ่ เทพา นาทวี นาหม่อม บางกล่ำ รัตภูมิ สะบ้าย้อย)
  3. ปัตตานี (อ.เมืองฯ กะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ แม่ลาน ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก)
  4. ยะลา (อ.เมืองฯ รามัน)
  5. นราธิวาส (อ.เมืองฯ จะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ ศรีสาคร สุคิริน สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี) 

 

พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติน้ำไหลเข้าอ่างมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) จึงได้ประสาน 10 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ และตรัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ และเตรียมพร้อมอพยพหากสถานการณ์มีความรุนแรง

 

นอกจากนี้ ให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับการบริหารน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำและน้ำในลำน้ำให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสัมพันธ์กับการขึ้น-ลงของน้ำทะเล โดยเร่งระบายและพร่องน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการให้พร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามข้อมูลระดับน้ำ สถานการณ์ ประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้  

ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป 

ปภ. ประสาน 10 จว.ภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง