ศาลอุทธรณ์ สั่งไม่ให้ประกันตัว 'อานนท์ นำภา' คดี 112 หวั่นหลบหนี

ศาลอุทธรณ์ สั่งไม่ให้ประกันตัว 'อานนท์ นำภา' คดี 112  หวั่นหลบหนี

ศาลอุทธรณ์ ยกคำร้อง ยืนยันคำสั่งเดิมไม่ให้ประกันตัว "อานนท์ นำภา" ในคดี 112-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังเกรงว่าจำเลยอาจจะหลบหนีเป็นได้

กรณีทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัว นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม เป็นครั้งที่ 2 หลังถูกศาลพิพากษาในคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และลงโทษปรับ 20,000 บาท ไม่รอลงอาญา ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566

จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องคำขอประกัน นายอานนท์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 วัน 

โดยคำร้องขอประกันตัว ระบุว่า นายอานนท์ เป็นผู้มีภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน สามารถติดตามได้โดยง่าย การคุมขังตัวไว้เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจำเป็นแก่กรณี และจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ เนื่องจากประกอบวิชาชีพเป็นทนายความ ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอาญา จากการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนรวมกว่า 39 คดีในหลายศาล ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ จะทำให้จำเลยและลูกความในแต่ละคดีได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในการประกอบวิชาชีพทนายความนั้น มีความจำเป็นต้องจัดเตรียมพยานหลักฐาน วางแผนแนวทางการต่อสู้คดีร่วมกับลูกความ ตลอดจนการทำงานเอกสารและเดินทางไปศาลในนัดต่างๆ การที่จำเลยถูกคุมขังไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคดีที่จำเลยเป็นทนายความอยู่อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกความ อีกทั้งยังไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด
 

อีกทั้งขอให้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ก่อนศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของจำเลย

จนกระทั่งวันที่ 16 ต.ค. 2566 เวลา 15.22 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันอานนท์’ เห็นว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาพฤติการณ์แห่งคดี และโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์อันเนื่องจากเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และตามพฤติการณ์ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง”