สงครามอิสราเอล-ฮามาส ถอดบทเรียนข้อเสนอแนะการอพยพคนไทยกลับบ้านให้ดีขึ้น

สงครามอิสราเอล-ฮามาส ถอดบทเรียนข้อเสนอแนะการอพยพคนไทยกลับบ้านให้ดีขึ้น

สงครามอิสราเอล-ฮามาส ถอดบทเรียนข้อเสนอแนะการอพยพคนไทยกลับบ้านให้ดีขึ้นในอนาคต เชื่อจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน ซึ่งความรุนแรงล่าสุดส่งผลทำให้มีคนไทยเสียชีวิตล่าสุด 21 ราย บาดเจ็บ 14 ราย ถูกจับไป 16 ราย โดยผมีผู้ประสงค์ขอกลับไทย 5,990 ราย

thaiarmedforce โพสต์ถึงบทเรียนและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการอพยพคนไทยกลับบ้านให้ดีขึ้นในอนาคต ประเด็นการอพยพแรงงานไทยในอิสราเอลกลับบ้านจากเหตุสงครามความรุนแรงระหว่าง อิสราเอล-ฮามาส ส่งผลกระทบทำให้มีคนไทยเสียชีวิตล่าสุด 21 ราย บาดเจ็บ 14 ราย ถูกจับไป 16 ราย โดยผมีผู้ประสงค์ขอกลับไทย 5,990 ราย (ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ ณ วันที่ 13 ต.ค.2566)  

บทเรียนและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการอพยพคนไทยกลับบ้านให้ดีขึ้นในอนาคต การอพยพคนไทยกลับจากประเทศอิสราเอล ท่ามกลางการต่อสู้กับกลุ่มฮามาส และความขัดแย้งกับปาเลสไตน์ครั้งนี้ น่าจะเป็นภารกิจ NEO หรือ Non-combatant Evacuation (การอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ขัดแย้ง) ทางอากาศขนาดใหญ่ที่สุดของไทยซึ่งเราไม่เคยต้องปฏิบัติภารกิจที่ใหญ่ขนาดนี้

ภารกิจ NEO เป็นการปฎิบัติการทางทหารที่ไม่ใช่สงคราม (MOOTW) ที่กองทัพอากาศเคยฝึกหลายครั้ง และไทยเคยปฏิบัติภารกิจที่ใหญ่สุด คือ ภารกิจโปเชนตง 1 ซึ่งเป็นการอพยพคนไทยกลับจากกัมพูชาในเหตุการณ์เผาสถานทูตไทย ซึ่งในตอนนั้นใช้อากาศยานเป็นเครื่องบินลำเลียง C-130 5 ลำ เครื่องบินลำเลียง G-222 เป็นเครื่องบินควบคุมและบังคับบัญชา 1 ลำ บินจากฐานบินปกติคือกองบิน 6 ไปยังกรุงพนมเปญซึ่งมีระยะทางไม่ไกลนักคือราว 530 กว่ากิโลเมตร อพยพคนไทยกลับมาราว 700 คน ปฏิบัติภารกิจได้จบภายในวันเดียว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับครั้งนี้สเกลต่างกันมาก

เพราะต้องมีการอพยพคนไทยกลับมามากกว่า 6,000 คน ต่างกันเกือบ 10 เท่า ด้วยระยะทาง 6,924 กิโลเมตร ต่างกันมากกว่า 10 เท่า หรือถ้านำคนไทยมาพักที่สนามบินส่วนหน้า (Forward Airport) ที่ดูไบก็ต้องบินถึง 2,130 กิโลเมตร และปฏิบัติการจากสนามบินต่างชาติ ไม่ใช่ Home Base คือกองบิน 6 แม้จะมีเครื่องบินที่บินได้ระยะไกลเพิ่มเติมแบะบินได้เร็วกว่า C-130 ราว 2 เท่า คือ A340-500 จำนวน 1 ลำ แต่ก็จุคนได้น้อยคือราว 140 คน เพราะเป็นเครื่องบิน VIP ดังนั้น ความซับซ้อนต่างกันมหาศาล

โชคดีที่สนามบินเทล อาวิฟ เปิดได้ แม้มีเหตุปิดชั่วคราวบ้างแต่เคลียร์เหตุการณ์ได้สำเร็จ ซึ่งรัฐบาลยอมรับว่า C-130 5 ลำ กับ A340-500 1 ลำนั้นไม่พอ ต้องให้สายการบินช่วย โดยมี 3 สายการบินที่คุยไว้คือการบินไทย นกแอร์ และไทยแอร์เอเชีย ซึ่งยินดีบินให้โดยไม่คิดกำไร ขอแค่ค่าน้ำมันเท่านั้น นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังใช้วิธีซื้อตั๋วสายการบินประจำชาติของอิสราเอลอย่าง El Al ที่บินมากรุงเทพทุกวัน

คำถามคือ เราประเมินสเกลของการอพยพพลาดไปหรือไม่ เพราะเหมือนแผนแรกเตรียมแผนไว้สำหรับการอพยพคนไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงคนเยอะมาก ที่แผนที่เตรียมไว้ไว้เลยไม่ได้ผล

 

สงครามอิสราเอล-ฮามาส ถอดบทเรียนข้อเสนอแนะการอพยพคนไทยกลับบ้านให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า กำลังทำแผนเพิ่ม โดยอาจใช้เครื่องบินกองทัพอากาศรับคนจากเทล อาวิฟ ไปประเทศข้างเคียง เช่น ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แล้วหาทางกลับต่อไป ซึ่งจริงๆก็ถือว่าเหมาะสมกับ C-130 ที่ออกแบบมาเพื่อบินระยะใกล้ และไม่เหมาะกับการบินกรุงเทพสู่อิสราเอล เพราะมีข้อจำกัดมากมาย ดังบทความก่อนที่ได้กล่าวไปแล้ว

อีกประเด็นที่ต่างจากปฏิบัติการโปเชนตง 1 ก็คือรอบนั้นเราบินกันโล่งๆน่านฟ้าส่วนใหญ่เป็นของเรา แต่รอบนี้ต้องบินตามช่วงเวลาที่ว่างทั้งเครื่องบินและน่านฟ้า และต้องประสานใช้สล็อตการบินกับอิสราเอล ซึ่งไทยไม่มีเที่ยวบินตรง ทำให้ต้องทำการประสานกันใหม่ทั้งการขอใช้น่านฟ้า การขอสิทธิลงจอด การจัดการอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้นดิน สัมภาระ อาหาร รวมถึงการตรวจคนเข้าเมืองและอื่นๆอีกมากมาย

และถ้าไปตั้งสนามบินส่วนหน้าที่ดูไบ ก็จะต้องมีการวางกำลังทางอากาศในต่างประเทศ ซึ่งก็ต้องมีขั้นตอนการประสานงานที่ยุ่งยากอีกแบบหนึ่ง รวมถึงอุปกรณ์สนับสนุนเครื่องบิน C-130 ที่อาจต้องเตรียมไปเองหรือขอรับการสนับสนุนจากประเทศเจ้าบ้าน ซึ่งก็จะแตกต่างกับปฏิบัติการโปเชนตง 1 เพราะตอนนั้นใช้กองบิน 6 ดอนเมืองได้เลย รวมถึงกองทัพอากาศจะต้องเปลี่ยนถ่ายคนจากเครื่องบินของตนขึ้นเครื่องบินพาณิชย์ของไทย ก็จะต้องมีขั้นตอนพิเศษอีก

เราไม่แน่ใจว่ากองทัพอากาศเคยฝึกในสถานการณ์จำลองที่ใหญ่เท่านี้หรือไม่ ซึ่งเราคาดว่าไม่ แต่หลักนิยมแบบสหรัฐอเมริกาที่เราใช้อยู่นั้นมีแนวทางไว้สำหรับกรณีแบบนี้ เพราะสหรัฐอเมริกาทำบ่อย แต่เราไม่เคยทำ

และเราคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะต้องมีการอพยพใหญ่แบบนี้แน่นอน โดยเฉพาะในประเทศที่มีคนไทยอยู่จำนวนมากและอาจจะเป็นพื้นที่ขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นอิสราเอล ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้

ดังนั้น TAF คิดว่าอาจต้องมีการฝึกและทำแผนไว้สำหรับกรณีแบบนี้ คือต้องร่างแผนการล่วงหน้าไว้เลยว่า ถ้าเกิดกรณีต้องอพยพคนไทยหลายพันหรือเป็นหมื่นคน ซึ่งเครื่องบินของกองทัพอากาศไม่มีทางพอแน่นอนนั้นจะทำอย่างไร ต้องประสานใครบ้าง จะคุยกับสายการบินในการเช่าเครื่องบินอย่างไร จะประสานงานอย่างไร ประสานงานกับใคร แต่ละขั้นตอนใช้เวลากี่วัน เพื่อให้ได้แผนการคร่าว ๆ และจัดการฝึกซ้อมตามแผนนี้ อาจจะไม่ต้องบินจริงก็ได้ แต่เป็นการฝึกแบบ Table-top Exercise คือฝึกบนโต๊ะเพื่อซักซ้อมการประสานงาน

ทั้งหมดนี้ เพื่อที่ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก เราจะได้ไม่ต้องมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันอย่างเดียว แต่สามารถหยิบแผนที่มีมาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ได้เลย ซึ่งจะสะดวกกว่า เร็วกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่า

ที่สำคัญ อาจจำเป็นต้องพูดคุยกับมิตรประเทศล่วงหน้าบ้าง เพราะไม่เช่นนั้นพอจะต้องทำตามแผนแล้วจะเสียเวลาอีก กรณีนี้ซึ่งคิดว่าน่าจะทำได้อยู่ เช่นเดียวกับสายการบินของเราเองด้วยที่จะต้องเชิญผู้บริหารสายการบินมาฝึกซ้อมและพูดคุยไว้ล่วงหน้าว่า ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้แล้วรัฐต้องการเช่าเครื่องบินฉุกเฉิน จะมีขั้นตอนอย่างไรในการบริหารฝูงบิน

นอกจากนั้นในส่วนของกองทัพอากาศเอง อาจจะต้องมาดูการจัดการกำลังทางอากาศใหม่ เช่น ดูว่าเครื่องบินที่เหมาะสมที่อาจต้องมี เช่น

1. เครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ A330 MRTT เพื่อช่วยวางกำลังเครื่องบินลำเลียง C-130 ได้แบบไม่ต้องแวะพัก และสามารถใช้ขนคนขนของที่จำเป็นต่อการตั้งฐานส่วนหน้า โดยลดจำนวนเครื่องบิน VIP ที่ทำภารกิจได้อย่างเดียวลง แล้วนำงบประมาณมาจัดหาเครื่องบิน A330 MRTT ที่แม้จะแพงกว่า แต่ทำภารกิจได้หลากหลายกว่ามาก โดยให้เป็นทั้งเครื่องบิน VIP เครื่องบินลำเลียง เครื่องบินโดยสาร และเครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ ซึ่ง A330 MRTT ทำได้ทั้งหมดในลำเดียวกัน

2. เครื่องบินลำเลียง C-130 ซึ่งต้องเติมน้ำมันกลางอากาศได้ หรือปรับปรุงให้บางลำเป็น KC-130 ซึ่งสามารถเติมน้ำมันกลางอากาศได้ เพื่อเติมให้กันเองเมื่อต้องบินไปกลับฐานส่วนหน้า

3. C-130 บางลำอาจต้องมีระบบป้องกันตัวไว้เผื่อจำเป็น เช่น ระบบเป้าลวง ระบบแจ้งเตือนต่าง ๆ เพราะในปัจจุบัน C-130 ของไทยไม่มีขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองเลย

ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอของ TAF เพื่อพัฒนาเหตุการณ์การต้องอพยพคนไทยในอนาคต ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในช่วงหลังและจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน

 

cr : thaiarmedforce