ESG ตื่นตัวและมองอย่างมีสติ | พสุ เดชะรินทร์

ESG ตื่นตัวและมองอย่างมีสติ | พสุ เดชะรินทร์

ESG เป็นเรื่องฮิตที่ตื่นตัวกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ผู้บริหารและบริษัทต่างก็มีความกระตือรือร้นและสนใจในเรื่องของ ESG กันมากขึ้น จนกลายเป็นสิ่งที่บริษัทต้องทำและเป็นอนาคตของธุรกิจกันทีเดียว

แม้เรื่อง ESG (Environment-Social-Governance) หรือ การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเป็นเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญ แต่ก็ควรจะทำอย่างมีสติด้วย

ESG ไม่ใช่ยารักษาสารพัดโรค ที่สำคัญคือการปฏิบัติให้เกิดผลสำคัญกว่าเพียงแค่คิด ดังนั้นในสัปดาห์นี้ลองมาดูสติสี่ประการเกี่ยวกับ ESG ที่ผู้บริหารควรจะต้องคำนึงถึง

สติแรกคือ คิดให้ครบ - เวลานึกถึง ESG ก็จะกลายเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งเป็นแค่ตัว E แรกใน ESG บริษัทเองเมื่อมีโครงการเกี่ยวกับ ESG ก็จะมุ่งแต่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นหลักเท่านั้นเอง ส่วนตัว S กับ G กลับแทบจะไม่ได้รับความสำคัญเท่าไร

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเนื่องจากสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นประเด็นร้อน เป็นสิ่งที่สามารถคิดและทำได้ง่าย จับต้องได้ง่าย แต่ถ้าบริษัทจะมุ่งเรื่องของ ESG จริงๆ แล้วเรื่องของสังคมและธรรมาภิบาลก็มีความสำคัญไม่แพ้สิ่งแวดล้อม

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดช่องว่างทางสังคม การดูแลผู้ด้อยโอกาส การบริหารด้วยธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ฯลฯ ดังนั้นอย่าลืมคิดให้ครบและอย่าลืม S กับ G ด้วย

สติที่สองคือ ESG ไม่ใช่แค่การสร้างภาพลักษณ์ - ปัจจุบันคำว่า Greenwashing หรือการฟอกเขียว เป็นอีกหนึ่งคำที่ได้ยินบ่อยมากขึ้น โดยการฟอกเขียวเป็นความพยายามในการสร้างภาพลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า 

ESG ตื่นตัวและมองอย่างมีสติ | พสุ เดชะรินทร์

บริษัทมุ่งเน้น ESG ผ่านทางการเปิดเผยข้อมูล การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ แต่โดยเนื้อแท้แล้วสิ่งที่ทำนั้น ไม่ได้สอดคล้องกับแนวทางของ ESG อย่างแท้จริง เป็นการชี้นำและทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อทั้งสังคม นักลงทุน และผู้บริโภค

ESG ที่ดีไม่ใช่เพียงแค่การสร้างภาพลักษณ์เท่านั้น สิ่งที่ทำจะต้องสอดคล้องกับข้อมูลที่เปิดเผยด้วย บริษัทควรจะมุ่งเน้น ESG ด้วยความจริงใจ ส่วนภาพลักษณ์เป็นผลที่เกิดขึ้นตามมาทีหลัง

สติที่สามคือ รอบคอบและระมัดระวังในการเชื่อมโยง ESG เข้ากับผลตอบแทน - ปัจจุบันบริษัทได้มีการนำตัวชี้วัดของ ESG ไปเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของบริษัทชั้นนำหลายแห่งในต่างประเทศ และหลายแห่งยังนำตัวชี้วัดเหล่านั้นไปเชื่อมกับระบบการจูงใจของผู้บริหารด้วย

ล่าสุดได้มีบทความในหนังสือพิมพ์ Financial Times ที่สะท้อนความเห็นของนักลงทุนที่เริ่มมีความกังวลในเรื่องของการนำตัวชี้วัด ESG ไปผูกกับผลตอบแทนของผู้บริหารมากขึ้น ว่าจะเป็นการหาทางเพิ่มผลตอบแทนของผู้บริหารในทางอ้อม

เนื่องจากตัวชี้วัด ESG นั้นยังเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก ขาดการตรวจสอบ ทำให้บรรลุได้ไม่ยาก และที่สำคัญคือยังไม่เห็นความเชื่อมโยงของตัวชี้วัด ESG กับผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัท

สติที่สี่คือ พิจารณาว่า ESG ก่อให้เกิดคุณค่าอย่างไรกับบริษัท - การทำ ESG ก็ต้องอย่าลืมพิจารณาด้วยว่า ESG ก่อให้เกิดคุณค่าหรือประโยชน์อย่างไรกับบริษัทได้บ้าง ที่สำคัญคือพัฒนาการในเรื่องของ ESG ของแต่ละบริษัทก็ไม่เหมือนกัน

ESG ตื่นตัวและมองอย่างมีสติ | พสุ เดชะรินทร์

สำหรับคุณค่าของ ESG ต่อบริษัทนั้น สามารถแบ่งแบบง่ายๆ ได้เป็นสามระดับ ระดับแรกเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ ข้อกำหนด หรือความคาดหวังของผู้ถือหุ้น สังคม และลูกค้า ถ้าไม่ทำจะนำไปสู่ความเสียหายกับบริษัท

ระดับที่สองเป็นเรื่องประสิทธิภาพ โดยการทำตามแนวทาง ESG จะส่งผลต่อประสิทธิภาพต่อบริษัท เช่น การลดต้นทุน ลดข้อร้องเรียน พนักงานมีขวัญกำลังใจมากขึ้น ภาพลักษณ์บริษัทดีขึ้น ฯลฯ

และระดับที่สามเป็นเรื่องของประสิทธิผล สามารถนำ ESG มาผสานรวมกับกลยุทธ์ของบริษัท นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ธุรกิจใหม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วย่อมนำไปสู่ผลประกอบการที่ดีขึ้นของบริษัท

ผู้บริหารจะต้องประเมินตนเองว่าบริษัทมีความพร้อมที่จะทำ ESG ในระดับใด (หรือหลายระดับพร้อมกัน) แล้วอาจจะค่อยๆ ไต่ระดับให้สอดคล้องกับความพร้อมของบริษัท ไม่ใช่ทำ ESG โดยลืมถามว่าทำไปทำไม

สรุปแล้ว ESG ก็เช่นเดียวกับแนวคิดทางการบริหารอื่นๆ ที่เมื่อจะนำมาใช้อย่างจริงจังนั้น ก็ควรจะใช้อย่างมีสติด้วย.