'ผบ.ทสส.' ประชุม 'ผบ. เหล่าทัพ' เร่งพัฒนาโดรน เพิ่มประสิทธิภาพภารกิจ

'ผบ.ทสส.' ประชุม 'ผบ. เหล่าทัพ' เร่งพัฒนาโดรน เพิ่มประสิทธิภาพภารกิจ

“ผบ.ทสส.” นั่งหัวโต๊ะประชุม ผบ. เหล่าทัพ สนับสนุนงานรัฐบาล ดูแลความมั่นคงในทุกมิติ พร้อมให้ทุกเหล่าทัพพัฒนา อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพิ่มประสิทธิภาพ การปฏิบัติภารกิจ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 เม.ย.67 ที่หอประชุมกองทัพเรือ กองบัญชาการกองทัพเรือ (บก.ทร.) ได้จัดการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567  โดยมี พล.อ.ทรงวิทย์  หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม

โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวขอบคุณเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจในการสนับสนุนรัฐบาลเป็นอย่างดี ตลอดจนร่วมกันดูแลงานด้านความมั่นคงในทุกมิติ ซึ่งวันนี้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบแนวทางการพัฒนาศักยภาพของอากาศยานไร้คนขับ และระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ เพื่อใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

กองบัญชาการกองทัพไทย บูรณาการการใช้ระบบอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft System: UAS) และระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Counter-Unmanned Aircraft System: CUAS) ของกองทัพไทย ให้มีขีดความสามารถในการสนับสนุนงานด้านการทหารและด้านความมั่นคง สามารถรับมือภัยคุกคามซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมกำลัง อาทิ การจัดทำหลักนิยม การฝึกอบรมกำลังพล การปรับปรุงโครงสร้างการจัดหน่วย และการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ สำหรับการใช้กำลัง ในระยะสั้น กองบัญชาการกองทัพไทย ได้มอบให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล รับผิดชอบภารกิจต่อต้าน UAS โดยมุ่งเน้นรองรับการก่อเหตุที่มาจาก UAS ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงภายใน รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถการใช้ UAS เชิงรุก ในระยะยาว มุ่งเน้นการบูรณาการการป้องกันภัยทางอากาศในภาพรวมของกองทัพไทย ให้มีขีดความสามารถในการต่อต้าน UAS ทางทหารที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงอาวุธยิงระยะไกล โดยจะประสานความร่วมมือกับเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

กองทัพบก พัฒนาอากาศยานไร้คนขับ และระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ เพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจทั้งการป้องกันประเทศ การปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม และการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความมั่นคงตามนโยบายรัฐบาล โดยนำมาใช้ในการลาดตระเวน/เฝ้าตรวจ การระวังป้องกัน และรักษาความปลอดภัย การค้นหาเป้าหมายและการปรับการยิงอาวุธสนับสนุน ตลอดจนการควบคุมและอำนวยการยุทธ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้างกำลังของกองทัพ และเสริมสร้างขีดความสามารถของกำลังทางบกให้มีความทันสมัย และเชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ มุ่งสู่การปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทยที่มีประสิทธิภาพต่อไป 

กองทัพเรือ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาระบบอากาศยานไร้คนขับประจำฐานบินชายฝั่งแบบ Hermes-900 จำนวน 2 ระบบ (อากาศยาน จำนวน 7 เครื่อง) โดยได้จัดทำร่างแนวทางบริหารจัดการระบบอากาศยานไร้คนขับ พ.ศ. 2566 เพื่อใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการระบบอากาศยานไร้คนขับของกองทัพเรือ ซึ่งครอบคลุมในด้านยุทธการและการฝึก การกำลังพล การส่งกำลังบำรุงและโครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสารและควบคุมบังคับบัญชา การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ. 2560-2580 ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนานำมาสู่การใช้งานทางยุทธการอย่างแท้จริง  

ส่วนกองทัพอากาศ นำเสนอสถานภาพกำลังรบด้านระบบอากาศยานไร้คนขับ ระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ และแนวทางการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศ โดยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอากาศยานไร้คนขับที่ประจำการในกองทัพอากาศ ประกอบด้วย การจัดหาระบบอากาศยานไร้คนขับที่ทันสมัยจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกำลังทางอากาศ และจากการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้จนนำไปสู่การผลิตระบบอากาศยานไร้คนขับที่มีมาตรฐาน สามารถนำมาใช้งานในกองทัพอากาศได้ 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำระบบอากาศยานไร้คนขับ และระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับมาใช้ในภารกิจด้านการถวายความปลอดภัยทางอากาศ งานสืบสวนและความมั่นคง งานป้องกันปราบปราม งานจราจร งานสอบสวน งานบรรเทาสาธารณภัย และงานอำนวยการ โดยปัจจุบันขีดความสามารถของระบบต่อต้านอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทควบคุมการบินจากภายนอก (Anti Drone) ประกอบด้วย ระบบตรวจจับ (Drone Detection System) และระบบต่อต้านอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ (โดรน) แบบรอบทิศทาง แบบกำหนดทิศทาง และแบบพกพา โดยมีแนวทางการพัฒนาในอนาคตด้วยการจัดหาอุปกรณ์ระบบตรวจจับ (Drone Detection System) ที่สามารถตรวจจับอากาศยานไร้คนขับได้ครอบคลุมทุกยี่ห้อ ตรวจจับสัญญาณโดรนได้ทุกระดับความสูง สามารถแสดงพิกัดของรีโมทที่ใช้บังคับอากาศยานได้ และมีจำนวนเพียงพอ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ    

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เน้นย้ำให้เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเท และเสียสละ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน ดำรงการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจการรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดน ปกป้องอธิปไตยของชาติ ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ รวมทั้งดำเนินการจัดหายุทโธปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้งบประมาณที่มี ตลอดจนพัฒนากำลังพลให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อรองรับภัยคุกคามในทุกรูปแบบ ร่วมกับการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องการใช้ชีวิต การสร้างทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถนำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน