จัดตั้งบริษัทโดยอ้างชื่อผู้เริ่มก่อการและจำนวนทุนที่เป็นเท็จ

จัดตั้งบริษัทโดยอ้างชื่อผู้เริ่มก่อการและจำนวนทุนที่เป็นเท็จ

การจัดตั้งบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีขั้นตอนตามกฎหมายและมีข้อปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ.2554 โดยสรุปคือ

การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ

- ผู้เริ่มก่อการ จองชื่อบริษัทที่จะจัดตั้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนในการอำนวยความสะดวก เพื่อตัดปัญหาชื่อซ้ำหรือต้องห้ามซึ่งทำให้จดทะเบียนไม่ได้ ชื่อที่จองไว้มีอายุ 30 วัน

- ผู้เริ่มก่อการอย่างน้อย 2 คนเข้าชื่อกันจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ ทั้งนี้ผู้เริ่มก่อการต้องเป็นบุคคลธรรมดามีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและต้องจองหุ้นอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น

- ผู้เริ่มก่อการทุกคน ต้องลงชื่อในหนังสือบริคณห์สนธิ โดยมีพยานลงชื่อรับรองด้วย 2 คนและยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ภายในกำหนดเวลา ก่อนที่ชื่อที่จองไว้จะหมดอายุ

หนังสือบริคณห์สนธิต้องมีชื่อบริษัทตามที่จองไว้ มีคำว่าจำกัดต่อท้ายเสมอ มีรายการที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ วัตถุที่ประสงค์ของบริษัท ทุนจดทะเบียนที่แบ่งเป็นหุ้น มีมูลค่าหุ้นเท่าใด ชื่อที่อยู่ อาชีพ อายุ เลขที่บัตรประชาชนหรือบัตรอื่นๆ ของผู้เริ่มก่อการ ชื่อที่อยู่ อายุ เลขบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นๆ ของพยาน 2 คน

การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

เมื่อจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว มีการจองซื้อหุ้นหมดแล้ว ขั้นต่อไป จัดประชุมผู้จองซื้อหุ้น เพื่อประชุมจัดตั้งบริษัท

กิจการที่ต้องทำในที่ประชุมจัดตั้งบริษัท

- พิจารณาจัดทำข้อบังคับของบริษัท

- ตั้งกรรมการชุดแรก และอำนาจกรรมการ ผู้สอบบัญชี

ผู้เริ่มก่อการมอบกิจการงานให้กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อกรรมการเก็บค่าหุ้นจากผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้นได้ครบแล้ว กรรมการผู้มีอำนาจจัดทำคำขอจดทะเบียน โดยกรรมการผู้มีอำนาจเป็นผู้ลงชื่อในคำขอจดทะเบียนยื่นขอจดทะเบียนภายใน 3 เดือนนับแต่วันประชุมจัดตั้งบริษัท

การลงลายมือชื่อ

การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ กฎหมายกำหนดให้ผู้เริ่มก่อการลงลายมือชื่อในหนังสือบริคณห์สนธิ โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน ส่วนคำขอจดทะเบียนตั้งบริษัทให้กรรมการผู้มีอำนาจเป็นผู้ลงชื่อ ซึ่งมีข้อปฏิบัติตามที่กำหนดในระเบียบสำนักงานหุ้นส่วนบริษัทกลาง 

คือถ้าเป็นการดำเนินการภายในราชอาณาจักร ให้ลงชื่อต่อหน้านายทะเบียน โดยต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อนายทะเบียนเพื่อตรวจสอบ และให้นายทะเบียนบันทึกข้อความ “ได้เห็นต้นฉบับแล้ว” ในสำเนาบัตรประจำตัวแล้วลงลายมือชื่อกำกับไว้เป็นหลักฐาน การลงลายมือชื่อของพยานก็ให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

ถ้าไม่สามารถลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียน ก็สามารถลงชื่อต่อหน้าพนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งประจำอยู่ท้องที่ที่ผู้ขอจดทะเบียนมีภูมิลำเนาอยู่ สามัญสมาชิกหรือสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

การลงลายมือชื่อคำขอจดทะเบียนในต่างประเทศ 

ผู้ขอจดทะเบียนต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทย หรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ที่รับผิดชอบการดำเนินงาน ณ ประเทศนั้น

หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนบุคคลดังกล่าว หรือบุคคลซึ่งสามารถให้การรับรองที่สมบูรณ์ตามแบบของกฎหมายแห่งประเทศนั้น หรือบุคคลที่ควรเชื่อถือได้สองคนทบทวนยื่นขอรับรองต่อนายทะเบียนว่าเป็นลายมือชื่อผู้นั้นจริง

การจดทะเบียนทุนของบริษัท

การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่มีทุนจำนวนมาก เพื่อให้เป็นไปด้วยความถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงที่จดทะเบียน เพื่อมิให้บริษัทไปแสดงตัวเลขทุนเกินความเป็นจริง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถานะของบริษัทได้ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และเอกสารประกอบการจดทะเบียนเป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนกลาง

คำสั่งที่ 1/2566 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเอกสารคำขอจัดตั้ง จดทะเบียนเพิ่มทุนของห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัดและจดทะเบียนควบรวมบริษัทจำกัดที่มีการเพิ่มทุน โดยสรุปคือ

- การจดทะเบียนบริษัทที่มีทุนที่ขอจดทะเบียนเกินกว่าห้าล้านบาท

กรณีชำระด้วยเงินให้จัดส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรอง หรือแสดงว่ากรรมการที่มีอำนาจคนใดคนหนึ่งได้รับชำระเงินค่าหุ้นหรือเงินค่าหุ้นตามจำนวนที่ได้รับชำระไว้แล้ว พร้อมคำขอจดทะเบียนจัดตั้ง

- กรณีชำระด้วยทรัพย์สินให้จัดส่งหนังสือยืนยันของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินว่า จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้บริษัท พร้อมคำขอจัดตั้ง

ปัญหา กรณีที่มีผู้เริ่มก่อการของบริษัทบางแห่ง ออกมาชี้แจงกรณีมีความสงสัยว่า บุคคลผู้เป็นผู้เริ่มก่อการ หรือผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่มีความน่าเชื่อถือว่าเป็นผู้เริ่มก่อการจริงหรือผู้ถือหุ้นจริง และเอาเงินลงทุนมาจากไหน ได้ออกมาชี้แจงว่าตนถูกแอบอ้างชื่อเป็นผู้เริ่มก่อการ และมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นเพื่อให้สามารถจัดตั้งบริษัทได้ รวมทั้งแอบอ้างเรื่องเงินทุนนั้น

เมื่อพิจารณาจากหลักปฏิบัติในการลงชื่อดังกล่าวข้างต้น ที่ต้องลงชื่อต่อหน้านายทะเบียนหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ และต้องแสดงบัตรประจำตัวด้วย หากผู้มีชื่อเป็นผู้เริ่มก่อการไม่ร่วมมือก็ยากที่จะถูกแอบอ้างโดยตนเองไม่ยินยอม

ส่วนเอกสารหนังสือรับรองของธนาคารเรื่องได้รับชำระค่าหุ้นนั้น หากเจ้าตัวไม่รับรู้หรือยินยอมธนาคารคงไม่กล้าออกหนังสือรับรองให้แน่ และหากถูกหลอกลวงจริง ก็ควรแจ้งต่อนายทะเบียนในขณะนั้น นายทะเบียนคงปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้