ขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ด้วยความเท็จ

ขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ด้วยความเท็จ

การจัดตั้งบริษัท จำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เริ่มแรกต้องจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ

ซึ่งต้องมีรายการ คือชื่อของบริษัท ที่ตั้งของสำนักงานของบริษัทวัตถุที่ประสงค์ของบริษัท จำนวนทุนเรือนหุ้น ชื่อที่อยู่ของผู้เริ่มก่อการ โดยต้องนำไปจดทะเบียนด้วย และเมื่อประชุมจัดตั้งบริษัทเสร็จแล้ว ก็ต้องจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

ซึ่งมีรายการที่ต้องจดทะเบียนที่สำคัญคือ จำนวนหุ้น จำนวนเงินที่ได้ใช้แล้วหุ้นละเท่าใด จำนวนเงินค่าหุ้นที่ได้รับแล้วรวมเท่าใด รายชื่อที่อยู่กรรมการ ข้อจำกัดอำนาจกรรมการ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่และสาขา. ข้อบังคับของบริษัท เมื่อจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้ว หากจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ หรือรายการที่ได้จดทะเบียนบริษัทไว้ เช่น การเปลี่ยนชื่อบริษัท ย้ายที่ตั้งสำนักงาน วัตถุที่ประสงค์ของบริษัท อำนาจกรรมการ หรือข้อบังคับของบริษัท

จะกระทำได้ต้องมีมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้เปลี่ยนแปลงแก้ไข บริษัท บางบริษัทที่ถือหุ้นโดยหมู่วงศ์ เครือญาติ เมื่อจะเปลี่ยนแปลงข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิหรือรายการที่จดทะเบียนไว้ ก็คิดเพียงจะอาศัยความง่ายความสะดวก เห็นว่าผู้ถือหุ้นก็เป็นวงศ์เครือญาติ ไม่น่าจะมีปัญหา จึงใช้วิธีทำรายงานการประชุมและมติที่ประชุมในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิหรือรายการที่จดทะเบียน เป็นเท็จ โดยไม่มีการประชุมจริง แล้วนำไปขอจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท การดำเนินการดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดทางอาญา ซึ่งมีกรณีที่ถูกดำเนินคดีมาแล้ว ตามอุทาหรณ์ ตามคำพิพากษาฎีกา ที่วินิจฉัยไว้ อย่างน่าศึกษาคือคำพิพากษาฎีกาที่ 9556/2558

คดีนี้ อัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 267 ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ6,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าบริษัท ร จำกัด มีจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ได้มอบอำนาจให้ ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท ร. จำกัดต่อ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครว่า จำเลยได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ และส่งมอบหนังสือนัดประชุมให้ผู้ถือหุ้นแล้วมีกรรมการหรือผู้ถือหุ้นเข้าประชุม 8 คน นับจำนวนหุ้นได้ 520,000 หุ้น จำเลยเป็นประธานที่ประชุมบริษัทมีมติพิเศษที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิข้อ 2 และย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมซึ่งตั้งอยู่กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดราชบุรี 

โดยมีสำนักงานแห่งใหม่ตั้งอยู่ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้นายทะเบียนหลงเชื่อและรับดำเนินการจดทะเบียนให้ตามคำขอของจำเลย ต่อมามีผู้ถือหุ้นของบริษัทสองรายมีหนังสือนายทะเบียนขอให้ตรวจสอบและเพิกถอนการจดทะเบียน โดยแจ้งต่อนายทะเบียนว่าไม่เคยได้รับการบอกกล่าวเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และไม่ได้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น 

ความจริงแล้วจำเลยไม่ได้บอกกล่าวนัดประชุม และไม่มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น แต่อย่างใด นายทะเบียนจึงมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเดิมหนังสือบริคณห์สนธิดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกามีใจความสำคัญว่า บริษัท ร. จำกัด และบริษัทในเครือกว่า 10 บริษัท ผู้ถือหุ้น ของบริษัทล้วนเป็นเครือญาติกัน การประชุมผู้ถือหุ้นมีวิธีปฏิบัติแตกต่างจากบริษัทอื่นคือ ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้น จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดเนื่องจากกระทำโดยผ่านความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น ตามข้อเท็จจริงมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดเพราะไม่มีเจตนากระทำความผิดนั้น 

เห็นว่า การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1145 และมาตรา 1146 กำหนดว่า จะกระทำได้ต่อเมื่อมีการลงมติพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการประชุมใหญ่โดยมีคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษ และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องจัดให้ไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ และเหตุที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องนำเรื่องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก 

กรณีที่จำต้องใช้เอกสารยืนยันภูมิลำเนาคือสำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคลเป็น พยานหลักฐานที่มีการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นที่เชื่อถือได้ในทางกฎหมาย ทั้งกิจการของบริษัท ร. จำกัด ก็มิได้เป็นเพียงนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวข้องแต่เฉพาะบุคคลในวงศ์เครือญาติของจำเลย หากแต่ต้องติดต่อสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นด้วย จำเลยจะอ้างความเคยชิน และความไว้วางใจระหว่างเครือญาติของจำเลยมาเป็นข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้ 

อีกทั้งการที่จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และแจ้งย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท ร. จำกัด ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครโดยอ้างว่าจำเลยได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น 

โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งมอบให้ผู้ถือหุ้น และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 2 และย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมที่ตั้งอยู่ กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดราชบุรีโดยไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 จำเลยจึงอ้างว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน