อัปเดต ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566 ใครจ่ายบ้าง ต้องจ่ายปีละเท่าไหร่

อัปเดต ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566 ใครจ่ายบ้าง ต้องจ่ายปีละเท่าไหร่

อัปเดต ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566 หลังจากที่ล่าสุดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เตือนผู้ที่ยังไม่จ่ายภาษีที่ดิน ซึ่งถ้าหากเลยกำหนด จะมีค่าปรับเงินเพิ่มอีก 11% พาไปดูว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คืออะไร ใครบ้างต้องจ่าย และต้องจ่ายปีละเท่าไหร่

อัปเดต ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566 หลังจากที่ล่าสุดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เตือนผู้ที่ยังไม่จ่ายภาษีที่ดิน ซึ่งถ้าหากเลยกำหนด จะมีค่าปรับเงินเพิ่มอีก 11%

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ยังไม่จ่ายภาษีที่ดิน ซึ่งหากเลยหลังเที่ยงคืนไปก็จะมีค่าปรับเงินเพิ่มอีก 11% โดยในส่วนของ 1% จะเพิ่มทุกเดือน ส่วนอีก 10% ถ้าหากมีจดหมายเตือนจะเป็น 20% ถ้ามีเดดไลน์แล้วไม่มาจ่ายก็เป็น 40% ซึ่งอาจทำให้ต้องเสียค่าปรับเงินเพิ่มเป็น 41%, 42%, 43% ไปเรื่อยๆ

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปดูว่า "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร" ใครบ้างต้องจ่าย และต้องจ่ายปีละเท่าไหร่

  • ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คืออะไร?

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือ "ภาษีที่ดิน" เป็นการเรียกเก็บภาษีตามกฎหมายที่มาแทนที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่มีความซ้ำซ้อนกันอยู่ โดยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นรูปแบบของภาษีรายปีที่คำนวณจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีไว้ในครอบครอง ซึ่งจะมีเทศบาล อบต. เป็นผู้เรียกเก็บ สำหรับที่กทม. จะต้องชำระที่สำนักงานเขต ส่วนเมืองพัทยาจะต้องชำระที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา

ประเภทของภาษีที่ดิน 2566 : ตามประกาศพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 จากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีการลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 15% ตามปีภาษี 2566 โดยมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4 ประเภทที่ได้รับการลดอัตราภาษีลง ดังนี้

1.ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

สำหรับที่ดินที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรม จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.01-0.1% ซึ่งแบบได้เป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย

บุคคลธรรมดา จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตรา ดังนี้

  • ที่ดินมูลค่า 0-50 ล้านบาท: ได้รับการยกเว้นภาษี
  • ที่ดินมูลค่า 50-125 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.01% = ล้านละ 100 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 125-150 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.03% = ล้านละ 300 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 150-550 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.05% = ล้านละ 500 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 550-1,050 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.07% = ล้านละ 700 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 1,050 ล้านบาทขึ้นไป: อัตราภาษี 0.1% = ล้านละ 1,000 บาท

นิติบุคคล จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตรา ดังนี้

  • ที่ดินมูลค่า 0-75 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.01% = ล้านละ 100 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 75-100 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.03% = ล้านละ 300 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 100-500 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.05% = ล้านละ 500 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 500-1,000 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.07% = ล้านละ 700 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป: อัตราภาษี 0.1% = ล้านละ 1,000 บาท

2.ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย 

สำหรับที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย จะต้องเสียภาษีในอัตราตั้งแต่ 0.02-0.1% โดยแบ่งตามประเภทของเจ้าของที่ดิน

บุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตรา ดังนี้

  • ที่ดินมูลค่า 0-50 ล้านบาท: ได้รับการยกเว้นภาษี
  • ที่ดินมูลค่า 50-75 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.03% = ล้านละ 300 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 75-100 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.05% = ล้านละ 500 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป: อัตราภาษี 0.1% = ล้านละ 1,000 บาท

บุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตรา ดังนี้

  • ที่ดินมูลค่า 0-10 ล้านบาท: ได้รับการยกเว้นภาษี
  • ที่ดินมูลค่า 10-50 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.02% = ล้านละ 200 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 50-75 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.03% = ล้านละ 300 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 75-100 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.05% = ล้านละ 500 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป: อัตราภาษี 0.1% = ล้านละ 1,000 บาท

บุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง 2 หลังขึ้นไป จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตรา ดังนี้

  • ที่ดินมูลค่า 0-50 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.02% = ล้านละ 200 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 50-75 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.03% = ล้านละ 300 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 75-100 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.05% = ล้านละ 500 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป: อัตราภาษี 0.1% = ล้านละ 1,000 บาท

3.ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม

ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ โดยถูกนำมาใช้ในลักษณะออฟฟิศ สำนักงาน โรงแรม หรือแม้แต่ธุรกิจร้านอาหาร โดยอัตราภาษีตั้งแต่ 0.3-0.7% ดังนี้

  • ที่ดินมูลค่า 0-50 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.3% = ล้านละ 3,000 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 50-200 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.4% = ล้านละ 4,000 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 200-1,000 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.5% = ล้านละ 5,000 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.6% = ล้านละ 6,000 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป: อัตราภาษี 0.7% = ล้านละ 7,000 บาท

4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า

ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เป็นที่ดินที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ โดยปล่อยให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะต้องเสียภาษีที่ดินว่างเปล่าตั้งแต่ 0.3-0.7% เช่นกัน โดยคำนวณได้ ดังนี้

  • ที่ดินมูลค่า 0-50 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.3% = ล้านละ 3,000 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 50-200 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.4% = ล้านละ 4,000 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 200-1,000 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.5% = ล้านละ 5,000 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท: อัตราภาษี 0.6% = ล้านละ 6,000 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป: อัตราภาษี 0.7% = ล้านละ 7,000 บาท

ใครเป็นผู้เสียภาษี

ผู้ที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องดูจากความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งดูตามชื่อที่มีอยู่ในโฉนดที่ดิน ไม่ใช่ตามทะเบียนบ้าน โดยสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

  1. เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
  2. ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ (สามารถเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้)

โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ของปีไหน จะมีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปีนั้นเป็นต้นไป ในกรณีที่มีผู้ครอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 1 คนขึ้นไป ทุกคนจะต้องรับผิดชอบภาษีดังกล่าวร่วมกัน รวมถึงในกรณีที่เจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่คนเดียวกัน ก็จะต้องเสียภาษีเฉพาะที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ตนเองครอบครอง

รู้หรือไม่ ไม่จ่ายภาษีที่ดิน ต้องเสียค่าปรับ

ผู้ที่เลี่ยงการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือเพิกเฉยไม่สนใจที่จะชำระภาษีถือว่าเป็นผู้ที่มีความผิด และจำเป็นต้องได้รับโทษทางกฎหมาย โดยแบ่งออกได้ 3 ระดับ ดังนี้

- โทษปรับ เป็นบทลงโทษในระดับเบื้องต้น สำหรับผู้ที่เสียภาษีที่ดินไม่ครบตามจำนวนภายในเวลาที่กำหนด จะต้องถูกปรับตามเกณฑ์ที่ระบุเอาไว้

- เสียเบี้ยปรับ 10% ของภาษีที่ค้างชำระ ในกรณีที่ล่าช้า แต่ชำระก่อนได้รับหนังสือแจ้งเตือน

- เสียเบี้ยปรับ 20% ของภาษีที่ค้างชำระ ในกรณีที่ล่าช้า แต่ชำระในระยะที่หนังสือแจ้งเตือนระบุเอาไว้

- เสียเบี้ยปรับ 40% ของภาษีที่ค้างชำระ ในกรณีที่ล่าช้าเกินระยะที่หนังสือแจ้งเตือนระบุเอาไว้

ดอกเบี้ยเงินเพิ่ม เป็นบทลงโทษเพิ่มเติมในกรณีชำระภาษีล่าช้า โดยนับตั้งแต่วันที่การชำระภาษีเลยเวลา ด้วยการคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1% ต่อเดือนของเงินที่ค้างชำระ โทษทางอาญา โดยมีการกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี และปรับสูงสุดไมเกิน 40,000 บาท

 

 

ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา , itax , สำนักงานคลัง กรุงเทพมหานคร , ธนาคารกสิกรไทย