กอนช. พร้อมรับมือพายุโซนร้อน 'ตาลิม' คาดเพิ่มน้ำต้นทุนกว่า 1,400 ล้าน ลบ.ม.

กอนช. พร้อมรับมือพายุโซนร้อน 'ตาลิม' คาดเพิ่มน้ำต้นทุนกว่า 1,400 ล้าน ลบ.ม.

กอนช. ติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อน “ตาลิม” และร่องมรสุมกำลังแรง จากประกาศกรมอุตุฯ คาดส่งผลให้มีฝนเพิ่มขึ้นระยะนี้ ช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนทั่วประเทศ พร้อมเฝ้าระวังและเตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในบางพื้นที่

วันนี้ (16 ก.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กอนช. ได้มีการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์พายุจากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ตามข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. โดยขณะนี้ พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ตาลิม” (TALIM) แล้ว และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้า ๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำและขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ค. 66 และในช่วงวันที่ 16-20 ก.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลให้ในระยะนี้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ 
 

ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า “พายุโซนร้อน ตาลิม” และร่องมรสุมกำลังแรง คาดการณ์จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศได้กว่า 1,426 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในช่วงระหว่างวันที่ 16-22 ก.ค. 66 โดยอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าสูงสุด ได้แก่ เขื่อนสิรินธร 259 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ 217 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 195 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว 125 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนภูมิพล 117 ล้าน ลบ.ม.

กอนช. พร้อมรับมือพายุโซนร้อน \'ตาลิม\' คาดเพิ่มน้ำต้นทุนกว่า 1,400 ล้าน ลบ.ม.
 

“จากอิทธิพลพายุโซนร้อนและร่องมรสุมกำลังแรงดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ในช่วงนี้มีฝนเพิ่มมากขึ้นหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในทุกภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างฯ ขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อย เช่น เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมไปถึงเขื่อนวชิราลงกรณในภาคตะวันตก ที่สามารถใช้สนับสนุนน้ำต้นทุนให้แก่พื้นภาคกลางเพื่อใช้สำหรับผลักดันน้ำเค็มและผลิตน้ำประปาได้ ซึ่งถือเป็นผลดีในการช่วยเหลือพื้นที่ตอนกลางของประเทศที่คาดว่าจะมีฝนตกน้อยจากสภาวะเอลนีโญในปีนี้และเสี่ยงเกิดภัยแล้งมากที่สุด 

อย่างไรก็ตาม กอนช. ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นจากฝนตกหนักในบางแห่ง โดยวานนี้ (15 ก.ค. 66) ได้ออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เฝ้าระวัง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 18-21 ก.ค. 66 เพิ่มเติมจากประกาศฉบับก่อนหน้านี้ และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก ไปจนถึงเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที” ดร.สุรสีห์ กล่าว