‘เงินสด’ ช่วยความยากจน | วรากรณ์ สามโกเศศ

‘เงินสด’ ช่วยความยากจน | วรากรณ์ สามโกเศศ

ความยากจนเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในทุกสังคม การแก้ไขมีหลายวิธีอย่างแตกต่างกัน แต่มีสองวิธีที่ใช้กันมากและดูจะได้ผลอย่างน้อยก็ในระยะสั้น คือ การให้เงินสดอย่างมีเงื่อนไขและไม่มีเงื่อนไข

ในปัจจุบันวิธีไม่มีเงื่อนไขดูจะได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ โดยมีหลักฐานวิชาการสนับสนุน ประเด็นที่น่าคิดก็คือมันมีความพิเศษอย่างใดจึงช่วยความยากจนได้ 

เราได้ยินคำพูดมานานว่า ความยากจนมิได้แก้ไขด้วยการแจกเงิน เพราะเสมือนกับการแจกปลา เมื่อปลาหมดก็หิวโหยเหมือนเดิม หนทางที่เหมาะสมคือการสอนให้ตกปลาเพื่อจะได้หาปลามากินเอง ล่าสุด ได้ยินว่าต้องสอนให้ผสมพันธุ์ปลาเพื่อจะได้มีปลากินไปตลอด เพราะหากไม่มีปลาก็ไม่มีปลาให้จับ 

การให้เงินสดจึงดูเหมือนสวนทางในประเด็นนี้ หากพิจารณาว่าถ้าไม่มีอะไรเป็น “น้ำมันหล่อลื่น” ระหว่างที่สอนตกปลาและเพาะพันธุ์ปลาก็อาจตายไปก่อนได้ การให้เงินสดในระยะสั้นจึงเป็นทางออก

การให้เงินสดอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfers : CCT) คือ การให้เงินสดโดยมีเงื่อนไขว่า ต้องกระทำบางอย่าง เช่น ให้เงินสดต่อหัวลูกโดยมีเงื่อนไขว่าลูกต้องไปโรงเรียน หรือสนับสนุนการทำนาโดยให้เงินตามพื้นที่ทำนา ฯลฯ หลักการก็คือต้องการบังคับให้กระทำสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาโดยใช้เงินสดเป็นแรงจูงใจ

ส่วนการให้เงินสดอย่างไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Cash Transfers : UCT) นั้นไม่ผูกพันกับการกระทำเหตุที่ได้ผลก็เพราะให้ความคล่องตัว ความภูมิใจและอิสรภาพในการตัดสินใจ เพราะเจ้าตัวย่อมรู้ดีกว่าคนอื่นว่าเขามีความจำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องใด และเป็นการแก้ไขที่ตรงจุด อีกทั้งมีต้นทุนในการบริหารต่ำกว่ากรณีที่มีเงื่อนไขมาก 

ในปัจจุบันเพียงมีโทรศัพท์มือถือที่รับข้อความได้ ก็เอาไปเบิกเงินจากตัวแทนได้ทันที (ดังตัวอย่างของเบี้ยสนับสนุนผู้สูงอายุและเด็กเล็กของบ้านเรา) นอกจากนี้ก็มีการรั่วไหลน้อยกว่าเพราะมีโอกาสถูกกินหัวคิวน้อยกว่า (จะบอกว่าไม่มีโอกาสก็คงยากเพราะคนคดโกงนั้นมักมีความคิดริเริ่มในทางชั่วร้ายสูงกว่าคนปกติเสมอ)

จุดอ่อนอันหนึ่งของการให้สิ่งของแก่ผู้ยากไร้ก็คือ การเกิดผลกระทบต่อท้องถิ่น เช่น การแจกพืชอาหารขนาดใหญ่มีผลกระทบต่อธุรกิจของผู้ปลูกพืชในท้องถิ่น หรือการแจกเสื้อผ้าอย่างกว้างขวางในหลายโครงการของหลายประเทศ ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ปลูกฝ้ายโรงงานทอผ้าธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ

ดังนั้น การให้เงินสดดูจะเป็นทางออกที่เป็นกลางมากกว่าวิธีอื่น แต่ในบางกรณีก็อาจมีผลทำให้ราคาสินค้าและบริการในท้องถิ่นสูงขึ้นได้

‘เงินสด’ ช่วยความยากจน | วรากรณ์ สามโกเศศ

ดัชนีความยากจนหลายมิติที่ UN จัดทำขึ้นของ 111 ประเทศให้ภาพที่ชัดเจนของหลายมิติของความยากจนที่ผู้ยากไร้ต้องประสบ การคำนวณดัชนีให้ความสำคัญ 10 เรื่อง ได้แก่ ภาวะโภชนาการ การตายของเด็กแรกเกิด ระยะเวลาอยู่ในโรงเรียน การเข้าเรียน เชื้อเพลิงประกอบอาหาร การสุขาภิบาล น้ำดื่ม ไฟฟ้า ที่อยู่อาศัยและการครอบครองสินทรัพย์ (น่ายินดีที่ไทยมีดัชนีเช่นนี้ต่ำสุดของอาเซียน) 

ทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่าผู้ยากไร้ต้องการความคล่องตัวในการจัดการกับ 10 เรื่องสำคัญนี้ และจะมีอะไรเล่าที่ช่วยให้เกิดความคล่องตัวมากกว่าเงินสดที่ไม่มีเงื่อนไขผูกติดมา

งานศึกษาวิจัยในเรื่องประสิทธิภาพของ CCT และ UCT มีอยู่มาก โดยเฉพาะจากองค์การกุศลและจากธนาคารโลก เนื่องจากการให้เงินสดอย่างไม่มีเงื่อนไขขององค์การกุศลดูจะเป็นเรื่องแปลก แต่สำหรับภาครัฐแล้วนับวันจะเป็นเรื่องปกติมากขึ้น

รายงานในปี 2561 ของธนาคารโลก พบว่าใน 142 ประเทศมีถึงร้อยละ 70 ที่ให้เงินสดอย่างไม่มีเงื่อนไขในหลายรูปแบบ 

งานวิจัยพบว่าสาเหตุที่ UCT ยังไม่กว้างขวางมากกว่านี้ ก็เพราะลึกลงไปในจิตวิทยาของมนุษย์นั้น ยังต้องการควบคุมและเป็นคำตอบของปัญหา กล่าวคือ คิดว่าไอเดียและความสามารถในการแก้ไขปัญหาของตนเองนั้นมีความสำคัญ การปล่อยให้รับเงินไปใช้จ่ายตามใจผู้รับนั้น รับได้ยาก

ความรู้สึกนี้เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน เพราะคนยากไร้อย่างที่สุดนั้นชีวิตมันยุ่งยากผิดปกติ และไม่สามารถเข้าไปร่วมในโครงการที่ต้องมีเงื่อนไขต่างๆ นานา ครบถ้วนจึงจะได้รับเงิน

งานวิจัยพบว่าการใช้ UCT อย่างเดียว โดยคิดว่าจะทำให้ปัญหาความยากจนหมดไปนั้น เป็นความผิดพลาด วิธี UCT ที่ได้ผลนั้นคือให้ไม่มากในแต่ละครั้ง แต่ให้อย่างสม่ำเสมอ ข้ามระยะเวลา เพื่อทำให้ผู้รับสามารถมั่นใจและวางแผนได้ว่าจะใช้จ่ายตามลำดับความสำคัญอย่างไร การให้ควรมีทั้ง CCT ปนอยู่บ้างในบางเรื่องที่สำคัญ เช่น เงื่อนไขต้องไปโรงเรียน

เป็นที่น่ายินดีว่างานศึกษาเหล่านี้จำนวนมากเป็นไปตามทิศทางของงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ในปัจจุบัน ที่เรียกว่า Credibility Revolution ซึ่งหมายถึงกระบวนการเคลื่อนไปสู่ความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นของการศึกษาเศรษฐศาสตร์เชิงประจักษ์ (empirical economic studies) 

โดยการเน้นคุณภาพของการออกแบบงานวิจัย ตลอดจนการใช้วิธีการทดลองจริงและการใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติ (การผสมกันของเศรษฐศาสตร์ สถิติขั้นสูงและคณิตศาสตร์) และผสมศาสตร์ด้านอื่นใหม่ๆ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นยุคใหม่ของการใช้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ในงานวิจัยที่ออกแบบมาดี มีวิชาการใหม่สนับสนุนและใช้การทดลองจริง

เจ้าของชื่อกระบวนการนี้คือ Joshua Angrist ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับอีก 2 คนคือ David Card และ Guido Imbens ประจำปี 2564 ทั้งสามร่วมกันเปิดศักราชใหม่ของกระบวนการดังกล่าวในยุคทศวรรษ 1990 และยาวไปถึงทศวรรษ 2000

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล 3 คนประจำปี 2562 คือ Abhijit Banerjee, Esther Duflo และ Michael Kremer ก็เดินตามเส้นทางของ Credibility Revolution เช่นกัน โดยศึกษาวิจัยผ่านการเลียนแบบการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ที่เรียกว่า Randomized Control Trials (RCT) กล่าวคือหาความจริงจากการทดลอง 

เช่น อยากรู้ว่าในการป้องกันมาลาเรียจากยุง การแจกมุ้งฟรีกับการขายมุ้งในราคาถูกอย่างแตกต่างกันนั้น วิธีการใดที่มีประสิทธิภาพที่สุด เขาแบ่งกลุ่มทดลองออกเป็นหลายกลุ่มเพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรม เมื่อได้ความจริงจากกลุ่มเล็กแล้วจึงเอาไปขยายผล ซึ่งดีกว่าการแจกให้ตามความเชื่อว่าเป็นวิธีที่ได้ผล แต่ความจริงแล้วเงินจำนวนมหาศาลอาจสูญเปล่า

หลายท่านอาจคิดว่า เงินสดที่มอบให้อย่างไม่มีเงื่อนไขจะลงขวด ลอยเป็นควันหรือเล่นพนันไปหมด งานวิจัยพบว่ามีอยู่บ้างแต่น้อยจนสามารถมองข้ามได้ เพราะผลประโยชน์จากการให้เงินสดแก่เหล่าผู้ยากไร้นั้นยิ่งใหญ่กว่ามาก

อย่าดูถูกอานุภาพของเงินสดนะครับ ลองคิดดูคนทั่วไปที่ไม่เป็นผู้ยากไร้ยังยินดีรับเงินสดมากกว่าสิ่งของเสมอเลย