‘คดีไซยาไนด์’ บทเรียนไม่รู้จบของกระบวนการยุติธรรม | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

‘คดีไซยาไนด์’ บทเรียนไม่รู้จบของกระบวนการยุติธรรม | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

ห่วงเวลานี้นอกจากความสนใจของสังคมที่มีต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ต้องยอมรับว่ากระแสสังคมอันวัดจากการนำเสนอข่าวสารบนหน้าสื่อสูงสุด คงไม่พ้นคดีอาชญากรรมที่สร้างวลีตลกร้ายสะเทือนสังคมที่ว่า “ไปทำบุญกับเรามั้ย?” ไปถึงสร้างฉายาที่น้อยคนนักจะไม่รู้จัก ในนาม “แอม ไซยาไนด์”

จึงเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมที่จะนำวิกฤติจากกรณีดังกล่าว มาวิเคราะห์และถอดบทเรียนร่วมกันผ่านความสัมพันธ์บนโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยโดยสรุปเป็น 3 ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1.ทฤษฎีสมคบคิด ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม

กล่าวคือ กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถพิสูจน์ได้เพียงแค่ความเชื่อ ทั้งนี้ “ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory)” เกิดจากแนวคิด “อันตนิยม” (Teleological thinking ) ที่เชื่อว่าสรรพสิ่งล้วนมีจุดมุ่งหมายในตัวเอง

และทุกเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์หนึ่งเดียวโดยไม่ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ใดๆ เป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เฉกเช่นความเชื่อว่าโลกแบน

“เซบาสเตียน ดีเกซ” นักวิจัยชาวสวิตเซอร์แลนด์ อธิบายว่า ทฤษฎีสมคบคิดเป็นรูปแบบหนึ่งของความคิดแบบโบราณ ที่ผู้คนต่างสับสนและไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นจริง? อะไรเป็นเท็จ? สัมพันธ์จนก่อเป็นความเชื่อที่ส่งผลชี้นำต่อแนวคิดของสังคม

เพียงเพราะมนุษย์เลือกที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับผลทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ และพยายามหลีกหนี “ความจริงที่รับฟังได้ยาก” ซึ่งย้อนแย้งอย่างยิ่งกับโลกยุคปัจจุบัน อันมุ่งเน้นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการข้อมูลบนฐาน “ข้อเท็จจริง” “กระบวนการ” “ความชัดเจนโปร่งใส” และต้อง “พิสูจน์” ได้ 

ผู้อ่านอาจเห็นคำตอบอย่างชัดเจนในใจว่า ทำไมเราถึงเลือกที่จะเชื่อบทสรุปอันเป็นผลลัพธ์ของประเด็นทางสังคมจากการเสพสื่อ มากกว่าการรอให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทำหน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเกี่ยวข้องเป็นความผิดตามกระบวนการ? อันจะสอดคล้องกับประเด็นถัดไป

2.กระบวนการยุติธรรมต้องธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม

กล่าวคือ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาถูกสร้างขึ้นมาให้มีหลักการและกระบวนการ ที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสิทธิของผู้เข้าสู่กระบวนการ หาได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอาผิดผู้ที่ “ถูกกล่าวหา” หรือ “จำเลย” ว่าเป็นผู้กระทำความผิด จนกว่าพยานหลักฐานสามารถจะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลดังกล่าวนั้นเป็นผู้กระทำความผิดจริง 

ทั้งนี้ “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ได้กำหนดกระบวนการ สิทธิ หน้าที่ ของผู้ที่เกี่ยวข้องไว้อย่างชัดเจน

ตัวอย่างเช่น นิยามของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ศาล อันเป็นบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิ ได้รับสิทธิ จนถึงมีหน้าที่ในกระบวนการ ในมาตรา 2 (1)-(22) รวมไปถึงกำหนดวิธีการอันเป็นกระบวนการให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมไว้ครบถ้วน 

อันหมายถึง การร้องทุกข์ คำกล่าวโทษ หมายเรียก หมายอาญา ผู้มีอำนาจสอบสวน เขตอำนาจในการสอบสวน รวมไปถึงศาลที่มีอำนาจในการชำระคดี ซึ่งบัญญัติไว้ใน ภาค 1-4 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว

เช่นนี้แล้วการที่เราจะปักใจเชื่อว่า “ใครสักคนกระทำผิด” ย่อมไม่เกิดขึ้นเพียงเพราะความเชื่อเท่านั้น หากแต่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอันเป็นไปตามกระบวนการข้างต้นด้วยเสมอ

เช่น ทำไมเราถึงเชื่อว่าแอมเป็นฆาตกร 14 ศพ ในคดีใช้สารพิษไซยาไนด์อันเป็นความผิดฐานเจตาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 และอีก 1 คดี เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 ประกอบมาตรา 80 

ในความเป็นจริงทั้ง 15 คดี มีเพียงแค่ 3 คดีเท่านั้น ที่ ณ ขณะนี้ พนักงานสอบสวนได้รับอนุญาตให้ออกหมายจับโดยศาลแล้ว โดยอีก 12 คดีที่เหลือยังอยู่ในขั้นรับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการหาพยานหลักฐานในการเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาต่อไป 

“แอม” อาจไม่ใช่ผู้กระทำความผิดในคดีแต่อย่างใดด้วยซ้ำ อะไรคือสิ่งจูงใจให้สังคมคิดไปไกลถึงกรณีที่หากมีคำพิพากษาถึงที่สุด “แอม”จะไม่ต้องโทษประหารเพราะตั้งครรภ์? ตอบได้ด้วยประเด็นถัดไป

3.ช่องโหว่ของกฎหมาย หรือการไม่รู้ซึ่งสิทธิ

ประเด็นนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในสังคมที่ไม่ตระหนักถึงสิทธิของตนย่อมเกิดปัญหาทางการใช้กฎหมายที่ไม่ก่อประโยชน์สอดคล้องกันเสมอ โดยจะพูดถึงการ “ชันสูตรพลิกศพ” ผู้เขียนขออธิบายหลักฐานในการเอาผิดคดีดังกล่าวโดยง่ายประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.ศพ 2.หลักฐานในที่เกิดเหตุ 3.หลักฐานที่เกี่ยวข้อง 

รายละเอียดแห่งพยานทั้งหมดนี้บัญญัติไว้ใน ภาค 5 ว่าด้วยพยานหลักฐาน แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือ ในคดีอาญาจะไม่มีการพิพากษาให้ชนะคดีเพียงเพราะคำรับสารภาพของ “ผู้ต้องหา” หรือ “จำเลย” แต่ศาลจะต้องพิสูจน์จากพยานหลักฐานที่ได้มาแห่งคดีจนสิ้นสงสัยเท่านั้น ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริง

หลักฐานที่สำคัญที่สุดที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่มีความตายเป็นผลแห่งคดีได้ดีที่สุด คือ “ศพ” อย่างที่ทุกท่านเข้าใจ ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักการที่ได้บัญญัติไว้ ภาค 2 หมวด 2 การสอบสวน

ว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ที่ได้รับการพิจารณาบัญญัติเพิ่มเติมเข้ามาเมื่อปี 2542 ในมาตรา 148-156 เนื่องจากความตายมีนัยทางกฎหมายเป็นพิเศษ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ประการต่างๆ ทั้งต่อผู้ตายและบุคคลอื่น 

หากเป็นการตายตามธรรมดาทั่วไปก็คงไม่มีใครติดใจ แต่ถ้าเป็นการตายด้วยประการอื่น เช่น การถูกฆ่า ตายโดยอุบัติเหตุ หรือไม่ทราบสาเหตุ กรณีเหล่านี้ รัฐจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องสอบสวนหาข้อยุติเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ตาย

ดังนั้น การชันสูตรพลิกศพในทางกฎหมาย จึงมิใช่เพียงเพื่อทราบสาเหตุของการตาย แต่ต้องพิจารณาต่อไปด้วยว่า ความตายนั้นเกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการฟ้องคดีต่อไป

ดังนั้น กระบวนการนี้จึงมีความเป็นวิทยาศาสตร์ภายในมุมมองของกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่อย่างยิ่ง เมื่อขาดไปแล้วบริบทของการจะพิสูจน์ถึงความผิดนั้นย่อมยากยิ่งขึ้น

คำถามสั้นๆ คือ เรามีความรู้ในสิทธิต่อการร้องขอให้มีการชันสูตรพลิกศพเพียงพอแล้วหรือไม่ ที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมต่อตัวเราและผู้ตาย หากไม่ สังคมก็ย่อมวนอยู่กับบริบทเดิมๆ คือ “ยิ่งเราไม่เข้าใจ จึงหลีกหนีความเข้าใจบนหลักการ เพียงเพื่อสนองความเชื่อกลุ่มชนมากกว่ากระบวนการที่เป็นธรรม”