ช่องทางแจ้งเหตุ 'ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง' กกต. ชี้ 6 ข้อถือเป็นเหตุอันสมควร

ช่องทางแจ้งเหตุ 'ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง' กกต. ชี้ 6 ข้อถือเป็นเหตุอันสมควร

เช็กที่นี่! ช่องทางแจ้งเหตุ 'ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง' และต้องยื่นก่อนวันไหน? ด้าน 'กกต.' ชี้ 6 ข้อถือเป็นเหตุอันสมควร

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยถึงกรณี 'ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง' ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 และวัน 'เลือกตั้งล่วงหน้า' ในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 สามารถแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ช่วงก่อนเลือกตั้ง คือวันที่ 7 - 13 พฤษภาคม 2566 และหลังเลือกตั้ง คือวันที่ 15 - 21 พฤษภาคม 2566

 

 

โดย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แจ้งแนวทางในการดำเนินการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนี้

 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามแบบ ส.ส. 1/8 (คลิก) หรือทำเป็นหนังสือซึ่งอย่างน้อยต้องระบุหมายเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้านให้ชัดเจน พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่าไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ด้วยเหตุใด

 

โดยยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยตนเอง  หรือทำเป็นหนังสือมอบหมายให้บุคคลอื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน  หรือแจ้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางแอปพลิเคชั่น Smart Vote

 

 

โดย เหตุอันสมควรที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ระบุมีดังนี้

 

  1. มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  2. เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  3. เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  4. เดินทางออกนอกราชอาณาจักรและมิได้แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
  5. มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  6. มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่คณะกรรมาการการเลือกตั้งกำหนด

 

เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ได้รับการแจ้งเหตุแล้วเห็นว่าเหตุที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ให้แจ้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับแจ้งว่าเหตุที่แจ้งนั้นมิใช่เหตุผลอันสมควร มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง และให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง

 

เช็กรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.bora.dopa.go.th/all-election หรือเว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th หรือสอบถามสายด่วน 1444

 

ทั้งนี้หาก 'ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง' โดยไม่ได้แจ้งเหตุ หรือแจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นไม่สมควร กฎหมายกำหนดให้เสียสิทธิดังต่อไปนี้

 

  • สิทธิในการยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.
  • สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
  • สิทธิในการสมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้าน
  • ต้องห้ามดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  • ต้องห้ามดํารงตําแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

(การจํากัดสิทธิทั้ง 5 ข้อ กําหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง)