กรมฝนหลวง ปรับแผน 'ทำฝนแบบเต็มอิ่ม' รองรับสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศ

กรมฝนหลวง ปรับแผน 'ทำฝนแบบเต็มอิ่ม' รองรับสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศ

อธิบดีฝนหลวงฯ สั่งปรับแผนทำฝนแบบเต็มอิ่ม ตั้ง 12 หน่วยปฏิบัติการ เครื่องบิน 29 ช่วยพื้นที่เกษตร-ลุ่มรับน้ำทั่วประเทศ รองรับสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การเพาะปลูกของภาคเกษตรกรรมกำลังเริ่มขึ้น เกษตรกรส่วนใหญ่ เริ่มทำการเพาะปลูกตามปฏิทินการเพาะปลูกประจำปี โดยพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรต้องดูแลรับผิดชอบพื้นที่ประมาณ 78% หรือจำนวนประมาณ 116 ล้านไร่ จากพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ทั้งหมด 230 ล้านไร่

และจากสถานการณ์ฝนตกตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน มีฝนตกเพียงเล็กน้อย บางพื้นที่ยังไม่มีฝนตก ทำให้สถานการณ์น้ำและความชื้นในดินมีค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกันมีเกษตรกรและประชาชนขอรับบริการฝนหลวงเข้ามาจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยพื้นที่ที่มีการขอฝนหลวงมากที่สุด (ข้อมูล ณ 30 เม.ย. 2566) คือ บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (163 แห่ง) ภาคใต้ (152 แห่ง) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (143 แห่ง)

รวมถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ เริ่มมีปริมาณเก็บกักลดน้อยลงตามลำดับ บางแห่งมีปริมาณน้ำต่ำกว่า 50% และทางกรมชลประทานมีการขอสนับสนุนให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ จำนวน 70 แห่ง

อีกทั้งจากการคาดการณ์สภาพอากาศของปี 2566 พบว่า ในปีนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบให้ฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม มีฝนตกน้อยกว่าปี 2565 เกิดฝนทิ้งช่วงตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป และเกิดความแห้งแล้งขึ้นจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติ
 

นายสุพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงมีการปรับแผนการทำงานเพื่อรับมือกับภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ได้สั่งการให้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 12 หน่วยฯ ทั่วทุกภูมิภาค ใช้อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 23 ลำ และอากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ จำนวน 6 ลำ รวม 29 ลำ ประกอบด้วย

  • ภาคเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก
  • ภาคเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัตการฝนหลวงที่ จ.พิษณุโลก
  • ภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.ลพบุรี และ จ.กาญจนบุรี
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.ขอนแก่น 
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.นครราชสีมา และ จ.อุบลราชธานี
  • ภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.จันทบุรี
  • ภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.สงขลา และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
     

นายสุพิศ กล่าวย้ำด้วยว่า ได้กำชับให้นักวิทยาศาสตร์ นักบิน ช่างอากาศยาน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และความต้องการน้ำของพี่น้องประชาชนเป็นประจำทุกวันอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเชิงรุกให้มีปริมาณน้ำเต็มอิ่ม เพียงพอสำหรับทำการเกษตร การอุปโภคบริโภค และมีปริมาณน้ำเก็บกักสำหรับใช้การ ทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำประปา รวมถึงด้านอุตสาหกรรมอีกด้วย

ส่วนทางด้านการเฝ้าระวังการเกิดพายุลูกเห็บเนื่องจาก พายุฤดูร้อน กรมฝนหลวงฯ ยังคงมีทีมปฏิบัติการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเดือนพฤษภาคม โดยมีอากาศยานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรชนิด Super King Air จำนวน 2 ลำ ประจำการอยู่ที่หน่วยฯ จ.พิษณุโลก และอากาศยาน ชนิด Alpha Jet ของกองทัพอากาศ จำนวน 1 ลำ ประจำการอยู่ที่หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ เพื่อปฏิบัติการบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ