กทม. ใช้ระบบ AI ทดสอบ คุมหีบเลือกตั้ง ยกระดับความปลอดภัย-โปร่งใส

กทม. ใช้ระบบ AI ทดสอบ คุมหีบเลือกตั้ง ยกระดับความปลอดภัย-โปร่งใส

กทม. ใช้ระบบ AI ทดสอบ เฝ้าหีบบัตร - ห้องรักษาบัตรและอุปกรณ์เลือกตั้ง ส.ส. หวังยกระดับความปลอดภัย แจ้งเตือนความผิดปกติเรียลไทม์แทนกล้อง CCTV ที่ต้องไล่เช็คภาพย้อนหลัง เมื่อเกิดเหตุ

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม.ต้องการยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย ซึ่งตามระเบียบ กกต. แม้ได้กำหนดมาตรฐานไว้อยู่แล้ว เช่น ต้องมีผู้ดูแลรักษาความปลอดภัย 3 คนเฝ้าด้านหน้าห้องเก็บรักษาบัตรและหีบบัตรเลือกตั้ง และต้องมีระบบติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV)

แต่การใช้บุคคลนั่งเฝ้า ก็อาจเกิดเรื่องไม่คาดคิด หรือ ผิดพลาดได้ และกล้อง CCTV ก็เป็นระบบ บันทึกภาพเพียงอย่างเดียว ทาง กทม.จึงคิดว่าทำอย่างไรที่จะดึงเทคโนโลยี ดึงระบบออนไลน์มาใช้ให้ทันสมัย เราจะทำได้หรือไม่ โดยเปิดเป็นระบบออนไลน์ ให้ประชาชนช่วยกันดูแทนที่จะให้ รปภ. 3 คนดู ก็ให้ประชาชนช่วยกันจับตา

สำหรับ ระบบ AI ที่นำมาใช้นี้ สามารถเขียนโปรแกรมที่เพื่อให้ ตรวจสอบความเคลื่อนไหวได้ถ้าพบความผิดปกติ ซึ่งการออกแบบ ไม่ได้ออกแบบให้จับความผิดปกติ ที่ตัวบัตรเลือกตั้ง หรือ หีบบัตร แต่เป็นการจับเซนเซอร์ ความผิดปกติ ที่บริเวณห้องเก็บบัตรและอุปกรณ์ หากพบความผิดปกติ

“ถ้ามีบุคคลผ่านมาจุดนี้ ทั้งๆ ที่เป็นจุดที่ห้ามใครมาเกี่ยวข้อง ระบบก็จะแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ได้ ว่า เฮ้ยนาทีนี้ มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นนะ มีบุคคลเข้าไปอยู่บริเวณนั้น ระบบก็จับภาพบุคคลดูความเคลื่อนไหวได้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น มีประสิทธิภาพมากกว่า การใช้ CCTV ในการกำกับดูแลมากขึ้น” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว


ผู้ว่าฯ กทม. ระบุด้วยว่า ระบบ AI นี้แตกต่างจากระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) เพราะ CCTV เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไร ถึงค่อยมาไล่ภาพย้อนหลังกันซึ่งจะไม่ทันการณ์ และไม่รู้ว่า เหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น ช่วงเวลากี่โมง ของวันไหนกันแน่ จนกว่า จะไล่ย้อนภาพเจอ ส่วนระบบAI ที่นำมาใช้ เป็นการแจ้งเตือนได้แบบเรียลไทม์ ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ผ่านระบบไลน์กลุ่มที่สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ติดตามได้ และระบบแจ้งช่วงวัน เวลา และ สถานที่เกิดเหตุได้ชัดเจน ซึ่งระบบที่ กทม. ดำเนินการ ยังต้องรอ ทาง กกต.อนุญาตก่อน แต่เราก็เตรียมสร้างระบบแบบนี้ไว้รองรับ

“เราเชื่อว่าจริง ๆ แล้วคงไม่มีอะไร ที่จะมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง แต่ว่าหน้าที่ของเราคือการสร้างความไว้วางใจ ( Trust) มันคือก้าวแรกของระบอบประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง ถ้าเรามั่นใจในเรื่องของผลการเลือกตั้ง ก็เชื่อว่าการบริหารต่อไป จะง่ายขึ้น แต่ถ้าเกิดมีข้อครหา เกิดมีคำถามที่สงสัย มันก็จะทำให้ก้าวแรกไม่มั่นคงซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ กทม.เราเลยโดยตรงที่จะทำให้ ประชาชนไว้วางใจ และเราต้องวางตัวเป็นกลาง ต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุด”
 

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. อธิบายว่า พร้อมทดสอดระบบ AI ให้ดูด้วยการ ให้เจ้าหน้าที่ทดลองวิ่งผ่านไปยังกล่องเก็บหีบบัตรเลือกตั้ง ปรากฎว่า ระบบการแจ้งเตือน ในเวลาไล่เลี่ยกันในไลน์เครื่องโทรศัพท์ ปรากฎภาพบุคคล เป็นลักษณะภาพนิ่ง แบบ"สแนปช็อต" (Snap Shot) พร้อมปรากฎข้อมูล วัน เวลา สถานที่ของการปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ซึ่งทำให้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เรียลไทม์

สำหรับระบบนี้ ถ้าได้รับอนุญาตจาก กกต. ก็จะนำไปใช้ติดตั้งทั้ง 33 เขต ของกทม. รวมถึงพิจารณาใช้ไปถึงช่วงขั้นตอนการเก็บรักษาหีบบัตร และ พัฒนาไปสู่การดูว่าจะทำอย่างไรกับช่วงการนับคะแนน และนำข้อมูลคะแนน ปรากฎให้ประชาชนเห็นและติดตามได้อย่างรวดเร็ว นี่เป็นข้อดีของการนำ AI มาตรวจจับ

“ถ้าพบว่า มีบุคคลใดมาเกี่ยวข้อง ข้อมูล AI ก็จะตรวจจับ และรายงานผลได้ทันที รวมถึงตรวจสอบประวัติ ที่ระบบแจ้งเตือนและบันทึกไว้ได้ชัดเจน ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนได้มองเห็นระบบนี้ไปด้วยกัน”

รองผู้ว่าฯ ระบุด้วยว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องไฟฟ้าดับ ตัวเครื่องสามารถใช้ระบบ UPS หรือใช้ระบบไฟฉุกเฉินได้ และตัวกล้องถ้ามีระบบแจ้งเตือน ช่วงนั้นก็อาจจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่เข้ามาเสริมดูแลความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเป็นบุคคลที่ กตต. มีหน้าที่ในการแต่งตั้งมอบหมายให้มาดูแลการจัดการเลือกตั้งตามปกติอยู่แล้ว

ด้าน พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ระบบ AI นี้สามารถนำไปใช้ทดลองในประเด็นอื่น ๆ ที่กรุงเทพฯ เคยดำเนินการอยู่แล้วขณะนี้ เช่น การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย, การควบคุมไฟสัญญาณจราจร เพื่อตอบโจทย์ให้การบริหารจัดการที่คล่องตัวมากที่สุด ในการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ของ กรุงเทพมหานคร

ซึ่งในระหว่างรอคอยคำตอบจาก กกต. ทาง กทม. จึงอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ AI ตรวจจับความเคลื่อนไหวไปพลางด้วย เป็นการทดสอบของกทม.เอง สุดท้าย ถ้า กกต.ให้ใช้ระบบนี้ได้ เราก็พร้อมนำมาใช้ แต่ถ้าบอกว่าใช้ไม่ได้ เราอาจถอยเอาเครื่องเอาระบบ มาเฝ้าอยู่หน้าห้องที่เก็บรักษาบัตรเลือกตั้งและหีบบัตรแทน ซึ่งถ้าจะดำเนินการทั้ง 33 เขต ก็อาจต้องใช้กล้อง AI เสริมมากว่า เขตละ 1 ตัว และต้องมีการเซ็ตระบบ Backup รวมถึงการบันทึกภาพตลอดในช่วงระยะเวลา 7 วัน จนกว่าจะถึงวันที่ยกหีบบัตรหรืออุปกรณ์บัตรเลือกตั้งออกมาจากสถาน