การเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายของลูกหนี้ | ภาณุศ์ อภิบาลเกียรติกุล

การเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายของลูกหนี้ | ภาณุศ์ อภิบาลเกียรติกุล

การฟ้องคดีล้มละลายตามกฎหมายไทย มีหลักเกณฑ์สำคัญคือ เจ้าหนี้ไม่มีประกันฟ้องลูกหนี้ ซึ่งมีหนี้สินล้นพ้นตัว หากลูกหนี้เป็นบุคคลธรรมดาต้องเป็นหนี้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท และหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

  ส่วนเจ้าหนี้มีประกันฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายได้ ก็ต่อเมื่อครบหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น และเจ้าหนี้มีประกันนั้นต้องมิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน

และกล่าวในฟ้องว่าถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้มีประกันยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้อง ซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท 

    จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายของลูกหนี้ ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้น เกิดจากความไม่สมัครใจของลูกหนี้

เนื่องจากกฎหมายบัญญัติให้สิทธิเฉพาะฝ่ายเจ้าหนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหนี้ไม่มีประกันหรือเจ้าหนี้มีประกัน เป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียวที่จะฟ้องให้ลูกหนี้ ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

    เหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็อาจเป็นเพราะว่าเมื่อกล่าวถึงการฟ้องคดีต่อศาล โดยส่วนใหญ่แล้วลูกหนี้ย่อมไม่ยินยอมหรือไม่สมัครใจที่จะเข้าสู่กระบวนพิจารณาในชั้นศาล เนื่องจากการเป็นความกันในโรงในศาลย่อมส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ในหลายด้าน 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการดำเนินคดีและการว่าจ้างทนายความเพื่อต่อสู้คดี ลูกหนี้ต้องสูญเสียเวลาและโอกาสในการประกอบอาชีพ

ที่สำคัญเมื่อศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จะทำให้ลูกหนี้ต้องขาดคุณสมบัติในการเข้ารับราชการหรือทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ หรืออาจถึงขั้นที่ต้องออกจากงานทำให้ไม่มีรายได้ที่จะดูแลตนเองและครอบครัว

 ในมุมของลูกหนี้ ลูกหนี้อาจจะมองเช่นนั้นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายนั้นไม่ได้มีข้อเสียทั้งหมดเสียทีเดียว เนื่องจากการดำเนินคดีล้มละลายมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ ความรวดเร็วและก่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะทำการรวบรวมกองทรัพย์สินต่าง ๆ ของลูกหนี้ให้มาอยู่เป็นกองเดียวกัน เพื่อนำทรัพย์สินเหล่านั้นออกขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

ในท้ายที่สุดเมื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามส่วนถัวเฉลี่ยในคดีล้มละลายเสร็จสิ้นแล้ว ลูกหนี้มีโอกาสกลับไปเริ่มต้นชีวิตของตนเองใหม่ ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอีกต่อไป

 นอกจากนี้ การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายนั้น มีขั้นตอนที่สำคัญที่ให้โอกาสลูกหนี้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ซึ่งเกิดขึ้นก่อนศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือกรณีลูกหนี้ขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว รวมทั้งการปลด

จากล้มละลาย ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่บุคคลล้มละลายอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ หรือกรณีลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วจะได้รับสิทธิพิเศษ กล่าวคือ กฎหมายให้ปลดบุคคลนั้นจากล้มละลายทันทีที่พ้นกำหนดระยะเวลาสามปี นับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย

กรณีเหล่าต่าง ๆ นี้ ล้วนทำให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพียงบางส่วนได้ หรือบางกรณีถึงขั้นที่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้สินทั้งปวงและไม่มีความรับผิดที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกต่อไป 

 จากมุมมองข้างต้น พบว่าในบางครั้งการเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลาย อาจช่วยทำให้ลูกหนี้เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ง่ายกว่ากรณีที่ลูกหนี้ไม่ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย หรือบางกรณีอาจจะดีกว่ากรณีที่ลูกหนี้ต้องตกอยู่ในฐานะเป็นจำเลยในคดีแพ่งสามัญ เนื่องจากในคดีแพ่งสามัญ ลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยสิ้นเชิง
    

เมื่อพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียบางประการจากการฟ้องคดีล้มละลายแล้ว ลูกหนี้ก็อาจจะมีความประสงค์ขอเลือกให้ตนเองเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายด้วยความสมัครใจของลูกหนี้เอง

แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่กฎหมายไทยในปัจจุบันนี้ไม่ได้ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ในการเลือกที่จะเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายได้ด้วยตนเอง ลูกหนี้ต้องรอให้เจ้าหนี้เป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าจะฟ้องคดีล้มละลายหรือไม่

    ทั้งนี้ ในการศึกษาความเป็นมาของกฎหมายล้มละลายไทย ก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 นั้น เดิมทีกฎหมายไทยเคยให้สิทธิแก่ลูกหนี้ ในการตัดสินใจเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายได้ด้วยตนเอง แต่การบังคับใช้กฎหมายในสมัยนั้น ปรากฏว่า

ลูกหนี้ได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง โดยการแกล้งให้เป็นหนี้จำนวนมหาศาล เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ที่จะฟ้องคดีล้มละลายได้ ทั้งที่ตนเองไม่ได้เป็นหนี้จำนวนมากเพียงนั้น ซึ่งการกระทำของลูกหนี้เช่นนั้นนำมาซึ่งความเสียหายให้แก่เจ้าหนี้ และระบบเศรษฐกิจ

จึงเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลการยกเลิกกฎหมายฉบับเก่า และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายล้มละลายเรื่อยมาจนกระทั่งมาถึงปัจจุบันที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และเหลือเพียงการให้อำนาจเจ้าหนี้เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นที่จะฟ้องคดีล้มละลายได้ 

    หากคิดวิเคราะห์ในแง่มุมต่าง ๆ แล้ว เป็นเรื่องน่าคิดประการหนึ่งว่า กฎหมายไทยควรบัญญัติหลักเกณฑ์ให้สิทธิแก่ลูกหนี้มีอำนาจตัดสินใจเพื่อเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายดั่งเช่นในอดีตหรือไม่ เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจได้กลับไปใช้ชีวิตใหม่ได้เร็วขึ้น อันจะส่งผลดีต่อภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ

รวมทั้งสอดคล้องกับหลักปฏิบัติของหลายประเทศ ที่กำหนดให้ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และฝ่ายลูกหนี้มีอำนาจตัดสินใจโดยสมัครใจเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนของคดีล้มละลายได้.