'ช้าง'อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข | วรากรณ์ สามโกเศศ 

'ช้าง'อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข | วรากรณ์ สามโกเศศ 

เรามีช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เรามี “กางเกงช้าง” ที่มีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ในปัจจุบันเรามีปัญหาเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับช้างป่าจนเกิดความเสียหายทั้งสองฝ่ายอย่างน่าปวดหัว

ถ้าเราอยู่ในกรอบคิดของการปราบช้างก็น่าเศร้าใจ เพราะช้างมีบุญคุณกับคนไทยมาตลอดประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดี บัดนี้มีผู้เสนอทางออกที่น่าสนใจยิ่งสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างไม่ต้องเกิดความเจ็บปวด

ช้างมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ African bush elephant/African forest elephant และ Asian elephant สองสายพันธุ์แรกชุกชุมอยู่ในทวีปแอฟริกา ส่วนสายพันธุ์หลังอาศัยอยู่บริเวณเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอยู่ได้ในเกือบทุกลักษณะของป่า

สายพันธุ์แอฟริกาโดยทั่วไปตัวใหญ่กว่าสายพันธุ์เอเชียของบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง African bush elephant ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก

ช้างสองสายพันธุ์คือแอฟริกาและเอเชีย มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัด นอกจากขนาดแล้วก็คือขนาดของใบหู ซึ่งสายพันธุ์แอฟริกามีรูปเป็นสามเหลี่ยมกางออกมาและใหญ่อย่าง ผิดสังเกตอีกทั้งรูปเส้นหลังจะโค้งลง ส่วนสายพันธุ์เอเชียมีใบหูที่เล็กกว่าและเส้นหลังขนานหรือโค้งขึ้น 

 ทั้งสองสายพันธุ์มีนิสัยใจคอแตกต่างกันบ้างแต่ก็เป็นช้างเหมือนกัน กล่าวคือไม่กินเนื้อสัตว์ หากกินทุกส่วนของต้นไม้ เฉลี่ยกินวันละ150 กิโลกรัม กินน้ำวันละ 40 ลิตร นอนเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมง โดยนอนลงไปบนพื้นในตอนกลางคืนหากงีบในตอนกลางวันบ้างก็ใช้วิธียืน

ช้างเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่ก็จริงแต่มีความละเอียดอ่อน หากสมาชิกในโขลงเสียชีวิตลงจะมีความรู้สึกเศร้ามีความฉลาดกว่าสัตว์หลายพันธุ์ อายุขัยเฉลี่ยของช้างที่อยู่อาศัยในป่าของสายพันธุ์แอฟริกา คือ 60-70ปี และสายเอเชียคือ 50 ปี ช้างตัวผู้ไม่ดูแลลูกช้าง มีแต่ตัวแม่เท่านั้นที่ทำหน้าที่หัวหน้าโขลงปกป้องดูแลลูกช้าง 

ถ้าเป็นลูกช้างตัวผู้เมื่อมีอายุ 14-15 ปีก็จะออกจากโขลงไปอยู่ลำพังหรือเข้าโขลงกับตัวผู้ด้วยกัน ตัวผู้ใหญ่จะกลับมาหาโขลงเมื่อต้องการผสมพันธุ์หรือแสดงอำนาจเหนือลูกช้างและช้างตัวอื่น ที่จะมาแย่งผสมพันธุ์ด้วย (แม่ช้างท้องนาน 22-24 เดือน ปกติมีลูกครั้งละ 1 ตัว จะท้องอีกครั้งก็ต้องให้เวลาผ่านไป 3-4 ปี)

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลประกอบว่า เหตุใดจึงเกิดปัญหาระหว่างช้างกับคน ในเบื้องแรกช้างมีจำนวนลดลงอย่างมากอย่างน่าตกใจในปี 2522 มีจำนวนช้างในแอฟริกาไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านเชือก และในอีก 10 ปีต่อมาเหลืออยู่เพียง 600,000 เชือก สำหรับช้างสายพันธุ์เอเชีย ปัจจุบัน คาดว่ามีอยู่ประมาณ 50,000 เชือก ซึ่งลดลงครึ่งหนึ่งในรอบ 70-80 ปีที่ผ่านมา 

สาเหตุที่ทำให้จำนวนช้างลดลงก็คือ การถูกล่าเพื่องา หนัง และเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานั้นมีบทบาทในประวัติศาสตร์มายาวนาน บางวัฒนธรรมถือว่ามีค่าเท่าเทียมทองด้วยซ้ำ ช้างเอเชียมีปัญหาเรื่องงาไม่เท่าช้างแอฟริกาเพราะไม่มีการค้าขายอย่างเป็นล่ำเป็นสันเท่า เนื่องจากมีปริมาณงาไม่มากเนื่องจากช้างตัวเมียบางตัวไม่มีงาเหมือนตัวผู้ซึ่งแตกต่างจากช้างแอฟริกา

ช้างเอเชียถูกนำมาใช้งานนับตั้งแต่การสู้รบในสงคราม ลากไม้ ขนส่งสินค้า เดินทาง ละครสัตว์กิจกรรมสันทนาการการท่องเที่ยว ฯลฯ เมื่อการลากไม้ลดน้อยลงเพราะมีไม้ในป่าให้ตัดน้อยลง ช้างจำนวนมากก็ว่างงานบางส่วนก็ถูกปล่อยเข้าป่า ในบางประเทศท่องเที่ยว เช่น ไทย ก็นำมาใช้ในธุรกิจบริการท่องเที่ยวต่างๆ 

นอกจากนี้ สังคมไทยมีความตระหนักในการดูแลรักษาคุ้มครองช้างมากขึ้น ดังนั้น จำนวนช้างในป่าจึงไม่ลดน้อยลงมาก อย่างไรก็ดี พื้นที่ป่าที่มีอาหารให้ช้างกินนั้นมีขนาดลดน้อยลงทุกที เพราะมนุษย์เอามาใช้เป็นแหล่งที่พักอาศัยทำนาทำไร่กันมากขึ้น ดังนั้น ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างช้างกับคนจึงเกิดขึ้น

เราได้ยินข่าวการเอาลวดไฟฟ้ามาช๊อตช้างป่า เอายาฆ่าแมลงใส่ในอาหาร เอาปืนไล่ยิง ฯลฯ จนช้างประสบความลำบากเป็น “ผู้เสีย” ในขณะที่ชาวไร่ชาวนาผู้คุ้มกันผลิตผลจากไร่เป็น “ผู้ได้” สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในแอฟริกาหนักกว่าบ้านเรา เพราะมีจำนวนช้างป่ามากกว่าเรามากจนเกิดความคิดว่า จะแก้ไขปัญหาอย่างไรโดยไม่ให้เกิดมี “ผู้ได้” และ “ผู้เสีย” อย่างขัดแย้งกัน

คนหลายเผ่าในแอฟริกาสังเกตเห็นมาช้านานแล้วว่า ช้างนั้นเกลียดและกลัวผึ้งเป็นที่สุด ต้นไม้ใดที่มีรังผึ้งอยู่ช้างจะไม่แตะต้องเลย นอกจากนี้เพียงได้ยินเสียงผึ้งก็จะหันเหทิศทางของการเดินค้นหาผักหญ้าทันที 

นักวิชาการจากตะวันตกศึกษาความกลัวผึ้งของช้างตั้งแต่ปี 2549 และนำเอารังผึ้งมาแขวนที่รั้วกั้นช้าง เมื่อช้างไปสัมผัสรั้ว ผึ้งจะแตกรังฮือเข้าหาช้าง หลังจากลองผิดลองถูกอยู่หลายปี ในปี 2560 ก็มีรายงานว่าวิธีการนี้ได้ผล 80% ในการทำให้ช้างหลีกทางไปไม่มาทำลายพืชผล อีกทั้งช้างก็ไม่เจ็บปวด จึงเป็นการบริหารจัดการที่ได้ผล

ในปี 2560 ก็เกิดการประดิษฐ์ BuzzBox ซึ่งเป็นกล่องกระจายเสียงหมู่ผึ้งโดยไม่มีตัวจริงมาต่อย ในราคาเพียง 100 ดอลลาร์ โดยประกอบเครื่องอย่างง่ายๆ กล่องนี้ใช้พลังไฟฟ้าโซลาร์จะส่งเสียงออกมาครั้งละ 30 วินาที

เมื่อมีสิ่งใดไปกระทบ กล่องสามารถส่งเสียงได้หกเสียงที่ช้างไม่ชอบ เช่น เสียงผึ้ง เสียงหมาเห่า เสียงเลื่อยชนิดใช้โซ่ขนาดใหญ่ เสียงมนุษย์ เสียงปืน เสียงกรีดร้องของแพะ และแถมด้วยแสงไฟกะพริบแบบดิสโกออกมาด้วย

BuzzBox ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของช้างได้ทั้งหมดอย่างแน่นอน แต่อย่างน้อยที่สุดในระยะสั้นช่วยให้ช้างไม่เจ็บปวดเพราะลวดไฟฟ้า ไม่ถูกทำร้ายจากเจ้าของสวนไร่นา มันเป็นการแก้ไขแบบ “ได้” ด้วยกันทั้งสองฝ่ายโดยสามารถทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและทำให้สังคมเกิดความคิดว่า เหตุใดเราจึงควรกระทำกับสัตว์อื่นเยี่ยงนี้

น่าจะมีการทดลอง BuzzBox กับช้างเอเชียบ้านเราว่าจะได้ผลหรือไม่ และไอเดีย “อยู่ร่วมกัน” โดยใช้เทคโนโลยีนี้น่าจะนำไปประยุกต์กับนกพิราบ ลิง (ลิงลพบุรี) งูและ…..เอ้อ…..ตัวเงินตัวทองด้วย