7 วันอันตรายวันสงกรานต์ 2566 วันที่ 5 เสียชีวิตรวม 197 ราย กทม.สูงสุด

7 วันอันตรายวันสงกรานต์ 2566 วันที่ 5 เสียชีวิตรวม 197 ราย กทม.สูงสุด

สรุปอุบัติเหตุ 7 วันอันตราย ช่วงวันสงกรานต์ 2566 วันที่ 5 (11-15 เมษายน 2566) ตัวเลขจำนวนที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ ล่าสุด

สรุปอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายช่วงวันสงกรานต์ 2566 วันนี้ (16 เม.ย.2566) เวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2566 เกิดอุบัติเหตุ 311 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 31 ราย ผู้บาดเจ็บ 304 คน

สถิติอุบัติเหตุสะสม 5 วัน (11-15 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,744 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 197 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,738 คน กำชับจังหวัดดูแลและอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของประชาชน เข้มข้นดูแลเส้นทางขาเข้า กทม. และขาออกจากจังหวัด จุดบริการประชาชน และสถานีบริการน้ำมัน พร้อมเพิ่มความถี่เรียกตรวจในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุและถนนทางตรง อีกทั้งเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด โดยเฉพาะขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงเตรียมพร้อมด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว เพื่อดูแลประชาชนให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 311 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 31 ราย ผู้บาดเจ็บ 304 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด

  • ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 35.37
  • ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.72

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด

  • รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.93

ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.77 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.41 บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 79.74

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด

  • ช่วงเวลา 15.01 – 16.00 น. และช่วงเวลา 18.01 – 19.00 น. ร้อยละ 8.36 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20 - 29 ปี ร้อยละ 21.19

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด

  • น่าน และประจวบคีรีขันธ์ (จังหวัดละ14 ครั้ง)

จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด

  • น่าน (14 คน)

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด

  • กระบี่ ขอนแก่น เลย และสระแก้ว (จังหวัดละ 2 ราย)

 

7 วันอันตรายวันสงกรานต์ 2566 วันที่ 5 เสียชีวิตรวม 197 ราย กทม.สูงสุด

 

เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,873 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 54,495 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 345,368 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 51,180 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 14,774 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 14,593 ราย

สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน (วันที่ 11 – 15 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,744 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 197 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,738 คน

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ น่าน (59 ครั้ง)

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (15 ราย)

จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ น่าน (59 คน)

จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 7 จังหวัด

 

7 วันอันตรายวันสงกรานต์ 2566 วันที่ 5 เสียชีวิตรวม 197 ราย กทม.สูงสุด

 

นายโชตินรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ (16 เม.ย.2566) ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับจากภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ทำให้ถนนสายหลักและสายรองมีปริมาณการจราจรหนาแน่น ประกอบกับความอ่อนล้าจากการขับรถทางไกล อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลเส้นทางเส้นทางขาเข้า กทม. และขาออกจากจังหวัด จุดบริการประชาชน และสถานีบริการน้ำมัน พร้อมเพิ่มความถี่เรียกตรวจในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุและถนนทางตรง อีกทั้งบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย พร้อมประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงหลับใน รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก และจัดระบบการจราจรให้เกิดความคล่องตัว เตรียมพร้อมด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุอย่ารวดเร็ว

นอกจากนี้ ให้จังหวัดที่มีจุดตัดทางรถไฟนำข้อมูลความเสี่ยงมาวิเคราะห์และกำหนดแนวทางป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในบริเวณดังกล่าว ส่วนอำเภอให้ประสาน ตำรวจ และกรรมการหมู่บ้านกวดขันการใช้จักรยานยนต์ที่ไม่ปลอดภัยในกลุ่มเด็กและเยาวชน สำหรับจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ทางทะเลให้จัดเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ให้พร้อมดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า ในวันนี้จะปริมาณการเดินทางสูงในเส้นทางขาเข้า กทม. จึงได้ประสานจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น พร้อมดูแลเส้นทางสายรอง ทางเลี่ยง ทางลัดที่เป็นถนนทางตรง วิ่งสวนเลน และไม่มีเกาะกลาง ซึ่งผู้ขับขี่จะใช้ความเร็วสูง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

รวมถึงกวดขันการจอดรถริมทางซื้อของฝาก และร้านค้าที่วางสิ่งของล้ำช่องทาง เพื่ออำนวยการจราจรให้คล่องตัวและป้องกันอุบัติเหตุจากการแซงริมไหล่ทาง ตลอดจนขอให้ประชาชนวางแผนการเดินทางเพื่อกระจายการเดินทางและเหลื่อมเวลาการเดินทาง

นอกจากนี้ วันนี้บางพื้นที่จะเกิดฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากสภาพถนนเปียกลื่นและทัศวิสัยในการมองเห็นเส้นทางจำกัด จึงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ รวมถึงปฏิบัติตามกฎจราจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การเดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือแจ้งเหตุทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อนLine ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

ศปถ. กำชับจังหวัดคุมเข้มเส้นทางขาเข้า – ขาออก อำนวยความสะดวก - สร้างความปลอดภัยในการเดินทางกลับ