มุ่งสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล | ศลิษา ฤทธิมโนมัย

มุ่งสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล | ศลิษา ฤทธิมโนมัย

ประเทศไทยมีความคืบหน้าเชิงประจักษ์ให้เห็น ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีความท้าทายหลายประการในการกำกับดูแลข้อมูลของภาครัฐ ที่ต้องได้รับการแก้ไข

เพื่อให้แน่ใจว่าพลเมืองทุกคนจะถูกรวมอยู่ในการสำรวจระดับชาติ และข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย

รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในปี 2565 ได้เสนอประเด็นสำคัญที่รัฐบาลไทยสามารถปรับปรุงได้ไว้หลายประการ รวมถึงมีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้ข้อมูลของภาครัฐทั้งจากภาคเอกชน ประชาชน รวมถึงข้าราชการต่างกรมต่างกระทรวงกัน

ปัญหาหลักของข้อมูลไทยมีหลายประการ เฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูล

ในปัจจุบัน คุณภาพของข้อมูลที่รวบรวมโดยหน่วยงานของรัฐต่างๆ นั้นยังไม่สอดคล้องกัน บางแห่งมีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์หรือยังทำความสะอาดข้อมูลไม่มากพอ ทำให้ยากต่อการนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย

ประเทศไทยยังขาดการเชื่อมต่อของฐานข้อมูล และมีการแบ่งปันข้อมูลอย่างจำกัดระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากการทำงานแยกกันในการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล

ทำให้ยากสำหรับผู้กำหนดนโยบายภาคธุรกิจและประชาชนในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายตามหน่วยงานอย่างสะดวกและทันท่วงที

ปัญหาอีกประการที่สำคัญคือการเข้าถึงข้อมูลที่จำกัด ในขณะที่ไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการเผยแพร่ข้อมูลสู่ภาคสาธารณะผ่านโครงการ Open Data Thailand แต่ยังพบว่าหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งยังไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

ปัจจุบันมีชุดข้อมูลเพียง 8,180 ชุดข้อมูล เมื่อเทียบกับการเปิดเผยข้อมูลของสหรัฐเมริกา ผ่าน Data.gov ที่มีปริมาณชุดข้อมูล 335,000 ชุดข้อมูล หรือเทียบว่าไทยเปิดข้อมูลเพียงร้อยละ 2.4 ของสหรัฐเท่านั้น

นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวมักมีให้ในรูปแบบที่นำไปใช้งานต่อได้ยาก ยังไม่อยู่ในรูปแบบของการอ่านได้โดยเครื่องจักร เช่น เป็นไฟล์ pdf  หรือต้องเข้าไปในเว็บไซต์หลายขั้นตอนเพื่อพบว่าข้อมูลไม่สามารถเข้าถึงได้

กฎหมายการปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวที่ยังไม่ครอบคลุม โดยยังมีช่องว่างในกรอบกฎหมายของประเทศสำหรับการคุ้มครองข้อมูล ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเสี่ยงต่อการถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

นอกจากนี้ จะพบว่ามีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวของประชาชนอยู่เสมอที่ถูกนำไปขายในตลาดต่างประเทศหรือถูกการโจรกรรมข้อมูลอันเป็นภัยความมั่นคงทางไซเบอร์

มุ่งสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล | ศลิษา ฤทธิมโนมัย

ดังนั้น เพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลข้อมูลของภาครัฐไทย มีหลายนโยบายและมาตรการที่ควรปรับใช้ ได้แก่

ประการแรก รัฐบาลควรจัดตั้งสภาการกับดูแลข้อมูลแห่งชาติ (National Data Governance Council) ที่สามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางสำหรับประสานงานและกำกับดูแลข้อมูลในประเทศ

โดยเป็นหน่วยงานที่สามารถให้คำแนะนำและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการควบคุมดูแลข้อมูล และช่วยอำนวยความสะดวกในการพัฒนามาตรฐานของข้อมูลและกลไกการควบคุมคุณภาพ เพื่อเป็นการรับประกันความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูล

ประการที่สอง รัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนในการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับแบ่งปันข้อมูลที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถเผยแพร่และแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้อย่างง่ายดาย โดยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย

ทั้งนี้ต้องออกแบบให้ใช้งานง่ายและสามารถเข้าถึงได้โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยสามารถดูตัวอย่างได้จาก Data.gov ของสหรัฐอเมริกา AvoinData.fi ของฟินแลนด์ และ gov.uk ของสหราชอาณาจักร

ประการที่สาม รัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนากฎหมายและข้อบังคับด้านการคุ้มครองข้อมูลที่ชัดเจนและครอบคลุม ที่จะสามารถปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนจากการถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด และควบคุมให้มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด

นอกจากนั้น เนื่องจากกลุ่มคนหลายกลุ่มในประเทศไทยยังถูกกีดกันออกจากการสำรวจระดับชาติ เช่น แรงงานข้ามชาติ คนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ และคนพิการ

ภาครัฐจึงควรปรับปรุงความครอบคลุมของข้อมูลโดยพัฒนาวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบกำหนดเป้าหมาย และกำหนดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการรวบรวมข้อมูลประชากรกลุ่มเปราะบาง

มุ่งสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล | ศลิษา ฤทธิมโนมัย

การสร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลและการกำหนดนโยบายตามหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากปริมาณของข้อมูลไม่ได้แปรผันตรงตามการถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอไป เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้ข้อมูลให้มากขึ้น

ภาครัฐควรลงทุนฝึกอบรมการใช้และวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับผู้กำหนดนโยบายในหลายระดับ รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลและการกำหนดนโยบายที่ตั้งอยู่บนหลักฐานในทั่วทั้งหน่วยงานภาครัฐ

จึงจะทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และส่งผลไปยังการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต.