การสร้างองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

การสร้างองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

Data is new oil. “ข้อมูลมีค่าดั่งน้ำมัน” ทำให้ผู้บริหารองค์กรทั้งหลายบอกกับตัวเองว่า ต่อไปนี้เราจะต้องใช้ข้อมูลมาตัดสินใจให้มากขึ้น

*บทความโดย ดร.ทนุสิทธิ์ สกุณวัฒน์ [email protected]

Data is new oil. หรือ “ข้อมูลมีค่าดั่งน้ำมัน” ดังนั้น ใครไม่ใช้ข้อมูลคงต้องพ่ายแพ้ ไม่สามารถแข่งขันในโลกยุคดิจิทัลนี้ได้ ยิ่งตอนนี้จะใช้แค่ข้อมูลธรรมดาก็ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว ต้องประยุกต์ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ที่นำข้อมูลจากโลก social networks มาผสมผสานพร้อมกับข้อมูลภายในองค์กร และยังมีการนำข้อมูลจาก IoTs และ machine data อีกหลากหลายประเภทเพิ่มเข้าไปในการวิเคราะห์อีกด้วย อย่างไรก็ดีในการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Organization) มิได้เริ่มที่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญของการนี้น่าจะเริ่มที่วัฒนธรรมองค์กร (Data Culture) มากกว่า

จากเอกสารอ้างอิงระบุว่า องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล จะมีรายได้มากขึ้น ให้บริการกับลูกค้าดีขึ้น มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการดำเนินงานสูงขึ้น และนำไปสู่ผลกำไรที่งอกงามขึ้นในที่สุด ซึ่งเป็นเป้าหมายของทุกองค์กรภาคธุรกิจ (แน่นอนว่าย่อมสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรภาครัฐได้เช่นเดียวกัน) แต่เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่ผลการศึกษาของ Harvard Business Review กลับพบว่ามีองค์กรเพียง 20% เท่านั้นที่ให้พนักงานแนวหน้าได้ใช้ข้อมูลในการดำเนินงาน ในขณะที่องค์กรรุ่นใหม่และ startups ทั้งหลายจะมีความได้เปรียบกว่า เพราะสร้างรูปแบบธุรกิจ (business model) จากฐานการใช้ข้อมูลอยู่แล้ว

ส่วนองค์กรดั้งเดิม (incumbents) ที่พยายามทำ digital transformation จำเป็นต้องพัฒนาองค์กรให้เป็นแบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล จึงเผชิญความท้าทายสำคัญในด้านวัฒนธรรมองค์กรหรือรูปแบบกระบวนการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ ซึ่งช่วงเวลาที่เกิดภัยโรคระบาด COVID-19 เป็นบททดสอบสำคัญในการปรับตัว หากจับประเด็นที่วัฒธรรมองค์กรก็คงต้องยอมรับว่าผู้นำองค์กรมีผลอย่างยิ่งต่อการปรับเปลี่ยนนี้ ในเอกสารอ้างอิงได้แนะนำ 6 วิธีที่ผู้นำองค์กรจะใช้ในการเสริมความแข็งแกร่งของวัฒธรรมองค์กรแบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล แต่ผู้เขียนจะขอยกเพียงหัวข้อเดียวมาเล่าสู่กันฟังก่อนคือ “Disrupt Your Culture” โดยมีข้อแนะนำดังนี้

  1. หาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการนำบุคคลหน้าใหม่จากภายนอกองค์กรมาลงในตำแหน่งเช่น ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัล (Chief Digital Officer) เพื่อมาทำหน้าที่ “เขย่า” องค์กรให้ขยับไปเข้าที่ในรูปแบบใหม่
  2. สร้างแรงจูงใจด้านวัตกรรม ส่งเสริมให้พนักงานทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ให้ทีมงานจัดการแก้ปัญหายาก ๆ และท้าทายความสามารถ ซึ่งโดยธรรมชาติในการแก้ปัญหายาก ๆ เราคง “มั่ว” ไม่ได้ ต้องคิดนอกกรอบ ต้องศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดมาประกอบ และหากเกิดข้อผิดพลาดบ้างก็ให้เรียนรู้และยกย่องต่อความมุ่งมั่นของทีมงานนั้น เป็นต้น
  3. กล้าเผชิญหน้ากับความจริงที่โหดร้าย ทบทวนวัฒนธรรมองค์กรที่เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขันแล้วเราจัดการปัญหาอย่างไร ผู้บริหาร พนักงานชอบซุกปัญหา เลือกรายงานแต่ตัวเลขสวย ๆ เพราะกลัวการลงโทษหรือไม่ องค์กรที่ประสบความสำเร็จมักส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับชั้น รายงานปัญหาที่ตนรับผิดชอบอย่างตรงไปตรงมา และช่วยกันแก้ไข
  4. ปรับเปลี่ยนมุมมอง จากการมุ่งเป้าไปที่ตัวข้อมูลเอง ให้มุ่งเป้าที่องค์กรต้องการอะไรแทน ซึ่งก็คือการเปลี่ยนโจทย์จาก “เราต้องการข้อมูลอะไร” ไปเป็น “ปัญหาอะไรที่เราจะแก้ได้ด้วยข้อมูล” เช่นเครื่องจักรในโรงงานเสียบ่อย เราสามารถหาข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อทำ predictive maintenance ได้ไหม
  5. จัดระเบียบการทำงานร่วมกันเป็นทีม ยุคปัจจุบันไม่มีใครคนเดียวจะแก้ปัญหาได้แล้ว การทำงานร่วมกันอย่างประสานกลมกลืนระหว่างทีมธุรกิจกับทีมเทคนิคเป็นสิ่งจำเป็น องค์กรที่ประสบผลสำเร็จจะใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ฝังอยู่ในทุกหน่วยธุรกิจผสานกับการรวมศูนย์ข้อมูลในบางระดับ

สำหรับการปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลคงมีอยู่หลายเส้นทางให้เลือก แต่ข้อสำคัญคือโลกในยุคปัจจุบันข้อมูลมีปริมาณมหาศาล น่าเสียดายที่องค์กรของไทยส่วนใหญ่สามารถนำข้อมูลแต่เพียงบางส่วนเท่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หากจะลองเปรียบเทียบตัวอย่างการแก้ปัญหาด้วยข้อมูลจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงค์โปร์ในการแก้ไขความแออัดของระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าในชั่วโมงเร่งด่วนแล้ว จะเห็นได้ชัด

วิธีการของเขาคือ การสำรวจข้อมูลบริษัทที่อยู่ตามรายทางรถไฟฟ้า หาจำนวนพนักงาน จุดต้นทางและปลายทางของการเดินทางไปทำงานในแต่ละวันมาวิเคราะห์ประมวลผล แล้วออกโครงการสลับเหลื่อมเวลาเดินทาง โดยการลดราคาค่าโดยสารช่วงนอกเวลาเร่งด่วน และประสานกับบริษัทต่าง ๆ ในโครงให้การสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น จัดสถานที่พักผ่อนหรือออกกำลังกาย หรือหาอาหารเครื่องดื่มเพิ่มความสดชื่นให้พนักงานที่มาเช้ากว่าปรกติ เป็นต้น ก็ได้แต่หวังว่าบ้านเราจะมีพัฒนาการในใช้ข้อมูลแก้ปัญหาสำคัญ ๆ ให้มากยิ่งขึ้นต่อไป

Reference:

Brown, S. (2020, September 24). How to build a data-driven company. Retrieved from https://mitsloan.mit.edu/ideas-made-to-matter/how-to-build-a-data-driven-company