3 นายกสมาคมตำรวจ ออกแถลงการณ์ ปมเพิกถอนหมายจับ "ส.ว.คนดัง" พร้อมแจง 6 ประเด็น

3 นายกสมาคมตำรวจ ออกแถลงการณ์ ปมเพิกถอนหมายจับ "ส.ว.คนดัง" พร้อมแจง 6 ประเด็น

นายกสมาคมตำรวจ นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ นายกสมาคมพนักงานสอบสวน ร่วมออกแถลงการณ์ ปมร้องขอหมายจับ - เพิกถอนหมายจับ "ส.ว.คนดัง" พร้อมชี้แจง 6 ประเด็น

จากกรณี นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เผยแพร่จดหมายความยาว 7 หน้า ที่ "ตำรวจ" นายหนึ่งทำถึง "กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม" (ก.ต.) โดยลำดับเหตุการณ์การออกหมายจับ และเพิกถอนหมายจับ "ส.ว.คนดัง" จากข้อกล่าวหาความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน

 

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (15 มีนาคม 2566) พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ , พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ พล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ นายกสมาคมพนักงานสอบสวน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า

 

 

สืบเนื่องจากสื่อมวลชนได้เผยแพร่หนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึง กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ของ พ.ต.ท.มานะพงษ์ สว.สส. สน.พญาไท กรณีการร้องขอหมายจับ และการเพิกถอนหมายจับ "ส.ว.คนดัง"

 

สมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และสมาคมพนักงานสอบสวน ในฐานะองค์กรวิชาชีพของข้าราชการตำรวจ ซึ่งมีจริยธรรมและจรรยาบรรณที่ต้องธำรงรักษาไว้ ได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ ดังต่อไปนี้

 

ประเด็นที่ 1 ในคดีนี้เดิม พ.ต.ท.มานะพงษ์ ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนได้เคยมาดำเนินการขอหมายจับนายทุน มินหลัด กับพวกรวม 9 คน ซึ่งต่อมาได้มีการจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดีแล้ว 5 คน ดังนั้น ตำรวจไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนหรือพนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจร้องขอให้ศาลออกหมายจับได้ หากเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ เกี่ยวข้องกับการสืบสวนหรือสอบสวนคดีที่ร้องขอออกหมายนั้น และต้องมาให้ผู้พิพากษาสอบถามก่อนออกหมาย ทั้งนี้ ตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2565

 

ประเด็นที่ 2 การขอหมายจับของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนในข้อหาสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติด ปัจจุบันการออกหมายจับจะต้องมีการนำข้อมูลมาลงในระบบ CRIME ของตำรวจ ซึ่งจะทำการเชื่อมข้อมูลไปยังระบบของศาล ทำให้ปัญหาการออกหมายลอยไม่อาจเกิดขึ้นได้

 

 

ประเด็นที่ 3 อำนาจการจับของเจ้าพนักงานตำรวจ โดยหลักจะต้องมีคำสั่งศาลหรือหมายจับ เว้นแต่ ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 78 อาจมีการจับได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาลหรือหมายจับ ดังนั้น การออกหมายจับจึงมิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน หากแต่เป็นขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานตามปกติของฝ่ายสืบสวนและฝ่ายสอบสวน ทั้งนี้ การขอออกหมายจับสามารถทำได้ภายใต้หลักมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะกระทำความผิด และไม่มีระเบียบ คำสั่ง ที่กำหนดให้ต้องเสนอเอกสารสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาระดับ ผกก. - ผบก. ให้พิจารณาก่อนขอหมายจับแต่ประการใด

 

ประเด็นที่ 4 กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ กลับหลักการเดิมที่จะต้องขออนุมัติจับกุมต่อเลขาธิการ ป.ป.ส. ก่อน จึงไปขอศาลออกหมายจับหรือแจ้งข้อหา แต่ปัจจุบันให้ขออนุมัติออกหมายจับต่อศาลก่อน ถึงจะไปขออนุมัติแจ้งข้อหาต่อเลขาธิการ ป.ป.ส. ดังนั้น หมายจับที่ศาลออกให้ก่อนจะได้รับอนุมัติจากเลขาธิการ ป.ป.ส. ให้แจ้งข้อหาย่อมเป็นหมายจับที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ต่อมาจะจับกุมตัวผู้ต้องหาได้โดยที่เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังไม่อนุมัติให้แจ้งข้อหาก็ถือว่าเป็นการจับโดยชอบ เพียงแต่ยังไม่สามารถแจ้งข้อหาได้แจ้งได้เพียงว่าได้ถูกจับตามหมายเท่านั้น

 

ประเด็นที่ 5 คำสั่ง ตร.ที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เป็นคำสั่งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ใช้บังคับกับพนักงานสอบสวนเท่านั้น หาได้ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนไม่

 

ประเด็นที่ 6 หากศาลใช้ดุลพินิจชอบด้วยกฎหมายแล้วควรต้องปฏิบัติตาม ซึ่งในอดีตเคยมีการยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายจับอดีตอธิบดีดีเอสไอ แต่ศาลยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าเป็นอำนาจเฉพาะของผู้พิพากษา ที่เมื่อสั่งคำร้องโดยชอบแล้วย่อมมิอาจเพิกถอนได้ ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อศาลพิจารณาออกหมายจับสมาชิกวุฒิสภาไปโดยชอบแล้ว การจะสั่งเพิกถอนในภายหลังจะต้องมีเหตุตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบเป็นหลักในการพิจารณา หาใช่อ้างเพียงเหตุผิดหลง

 

สมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สมาคมพนักงานสอบสวน ขอเป็นกำลังใจให้ข้าราชการตำรวจที่ประพฤติปฏิบัติชอบ และจะยืนหยัดตามหลักการของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยเสมอภาคต่อไป