งาน หรือ พันธกิจ ...ความแตกต่าง | วรากรณ์ สามโกเศศ

งาน หรือ พันธกิจ ...ความแตกต่าง | วรากรณ์ สามโกเศศ

มองโลก เข้าใจโลกและมีวิธีคิดอย่างไร  ล้วนมีผลอย่างสำคัญต่อพฤติกรรมในการทำงานและการสร้างคุณประโยชน์ให้โลก  

วันนี้มีหนึ่งข้อเขียนแห่งความสงสัยจากเฟซบุ๊คของ Issariya Sukkeepun และหนึ่งเรื่องเล่าเป็นวัตถุดิบของ “อาหารสมอง” จานนี้​

“...ผมแค่สงสัย (?)  เมื่อก่อนตอนผมเด็ก ๆ ครูของผมท่านเรียนจบ ปกศ.ต้น ปกศ.สูง ท่านไม่ได้จบปริญญาตรี  โท  เอก   ไม่ได้เป็นดอกเตอร์     ครูของผมท่านไม่มีอบรม    ไม่มี child-centered     ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางยึดนักเรียนเป็นสำคัญ    ไม่มี backward design,    PLC,   STEM     ฯลฯ

ครูของผมท่านมีเงินเดือนน้อย     ไม่กี่ร้อยบาท   ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง     ไม่มีเงินวิทยฐานะ  ไม่มีเงินค่าตอบแทน   ครูของผมท่านไม่ได้มีตำแหน่ง  ไม่มีวิทยฐานะใด ๆ  ไม่มี  คศ1  /  คศ2   /          คศ3  /  คศ4    ครูผู้ช่วย     ครูชำนาญการ    ชำนาญการพิเศษ    เชี่ยวชาญ    เชี่ยวชาญพิเศษ    

ครูของผมมีเพียงชอล์คกับกระดานดำ  ไม่มีคอมพิวเตอร์    โน้ตบุ๊ค     มือถือ    จานดาวเทียม   ทีวี    อินเทอร์เน็ต    ฯลฯ

​ ครูของผมมีห้องเป็นฝาผนังไม้ธรรมดา    ใช้ร่มไม้    ลานดิน    สนามหญ้าเป็นห้องเรียน    ไม่มีห้องสมุดอิเลคโทรนิค   ไม่มีห้องคอมพิวเตอร์   ห้องวิทยาศาสตร์    ห้องปฏิบัติการทางภาษาห้องๆๆๆๆ    ฯลฯ  

แต่ท่านสอนนักเรียนให้เป็นคนดี    มีปัญญา   นำพาชีวีมีสุขในสังคม  ได้เป็นใหญ่เป็นโต   

แต่ปัจจุบัน   ครูเรียนจบสูง    จบปริญญาตรี  โท  เอก  เป็นดอกเตอร์     ครูอบรมทุก ๆ อย่าง   เกียรติบัตร        โล่เกียรติคุณ    ถ้วยรางวัลเต็มห้อง      ครูเงินเดือนเยอะ   เงินประจำตำแหน่ง     เงินวิทยฐานะ                    เงินค่าตอบแทน    

ครูมีตำแหน่งสูงขึ้น     ครูมีไฮเทคโนโลยีทุก ๆ อย่าง    ครูมีห้องแอร์    ห้องปฏิบัติการต่าง ๆมากมาย แต่นักเรียนอ่านไม่ออก    เขียนไม่ได้    คิดคำนวณ    คิดวิเคราะห์สังเคราะห์แยกแยะไม่ได้    คุณธรรมจริยธรรมศีลธรรมเสื่อมหายไป  

โชว์เรือนร่างทางโซเชียลหายอดไลค์หาเงิน    ยกย่องคนฆ่าหั่นศพ                 แก้ผ้าโชว์   คนที่ทำไม่ดีทางโซเชียลว่าเป็นเน็ตไอดอล    เล่นบอลพนันออนไลน์   เสพยา   ขายยาเสพติด     

ขายตัว     มั่วเซ็กส์    ตบตีกันแย่งผัวแย่งเมียตั้งแต่เป็นนักเรียน     ตอนเรียนก็อยู่หอเป็นคู่ผัวตัวเมียกัน          ทั้งก่อคดีฆ่าข่มขืน   โดดตึกตาย   ฆ่าตัวตาย    ปัญหาสังคม อาชญากรรมเต็มบ้านเต็มเมือง     ฯลฯ

อดีตและปัจจุบันสวนทางกัน    ตรงกันข้ามกันทุก ๆ อย่าง!!!!!!   ครูของผมท่านไม่มีอะไรสักอย่าง   สอนอย่างเดียว   แต่เด็กเก่งดีมีปัญญาพาชีวีมีสุข   ครูของผมสอนเสริมให้ผมฟรี    แถมยังทำขนมให้ผมกินอีก    

ครูปัจจุบันมีทุกอย่าง  ทำทุกอย่าง  แต่เด็กมีปัญหา    กระทรวงศึกษาธิการทำอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า?    ผมแค่สงสัย! …...”

อะไรที่ทำให้ครูในสองยุคสมัยแตกต่างกันเป็นเรื่องซับซ้อนที่น่าขบคิดอย่างยิ่ง    สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งน่าจะอยู่ที่การมองและการเข้าใจของตัวครูเองว่าการเป็นครูนั้นเป็นงาน (job) หรือเป็นพันธกิจ (mission)

งานคือกิจกรรมที่กระทำเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลตอบแทน    ส่วนพันธกิจนั้นแปลมาจากคำว่า mission  โดยมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า  missio (การส่งออกไป)  ซึ่งหมายถึงชุดของงานซึ่งมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย ในบางยุคเกี่ยวพันกับเรื่องคริสต์ศาสนา  

เช่น  กลุ่มนักสอนศาสนาเรียกว่า missionary  และบางยุคผูกโยงกับเรื่องกลุ่มของทหารไปรบ  กลุ่มนักการฑูต  กลุ่มทำงานเฉพาะให้บรรลุเป้าหมาย   ฯลฯ คนเหล่านี้ขับเคลื่อนด้วยความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ทั้งสิ้น

​   คนทำมาหาเลี้ยงชีพแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ ประเภทแรก   ทำงานเพื่อหารายได้    มิได้มีความภาคภูมิใจหรือมีความสุขจากงานที่ทำ   แต่ละวันทำงานเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษางานไว้  

ประเภทสอง    แสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพ โดยมองว่างานที่ทำเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าในอาชีพ โดยมีเงิน มีอำนาจและมีหน้ามีตายิ่งขึ้น   

ประเภทสาม  กระทำตามพันธกิจ  ถึงแม้ว่าเงินสำคัญแต่คนเหล่านี้มีความฝัน  มีอุดมการณ์ที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง   เพื่อทิ้งสิ่งมีคุณค่าไว้ให้โลกโดยตระหนักว่างานที่ทำคือหัวใจแห่งการทำให้พันธกิจบรรลุเป้าหมาย

​ ในเรื่องการเป็นครู  คนประเภทที่หนึ่งและสอง  มองว่าการเป็นครูนั้นเป็น งาน   ส่วนคนประเภทที่สาม มองว่าการเป็นครูนั้นเป็นพันธกิจ และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่อธิบายความแตกต่างระหว่างครูสองยุค    

หากถามว่าจะแยกออกอย่างไรระหว่างการสอนที่เป็นงานกับการสอนที่เป็นพันธกิจ    คำตอบง่าย ๆ ก็คือถ้าสอนเพราะว่ามันไม่ไปแทรกแซงแย่งเวลากับกิจกรรมอื่นของตน นั่นคือการเป็นงาน   แต่ถ้ามุ่งมั่นกับการสอนถึงแม้ว่ามันจะทำให้ต้องละทิ้งกิจกรรมอื่นนั่นคือการเป็นพันธกิจ

เรื่องเล่าสุดท้ายมีอยู่ว่า Michelangelo สุดยอดของนักสร้างจิตรกรรมและประติมากรรมระดับโลกเมื่อประมาณ  500 ปีก่อน (คู่แข่งร่วมสมัยคือ Leonardo da Vinci)  เห็นชายสองคนกำลังทำงานก่ออิฐอยู่    

คนแรกหน้าตาบูดบึ้งดูไม่มีความสุขเลย คนที่สองหน้าตายิ้มแย้มอย่างมีความสุข   เขาถามคนแรกว่ากำลังทำอะไรอยู่ ก็ได้คำตอบอย่างเสียไม่ได้ว่ากำลังก่อกำแพง    เมื่อถามคำถามเดียวกันกับคนที่สอง ก็ได้คำตอบอย่างภาคภูมิใจว่ากำลังสร้างบ้านให้พระเจ้า    

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าสองคนกำลังกระทำสิ่งเดียวกันแต่มองสิ่งที่ทำอยู่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่ทุ่มเทเข้าไปและผลลัพธ์ที่ออกมาของทั้งสองจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

​ ทำอย่างไรดีเราจึงจะมีครูที่เห็นว่าการสอนเป็นพันธกิจ  มิใช่เป็นงานที่ทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น.