เศรษฐศาสตร์ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

เศรษฐศาสตร์ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

เศรษฐศาสตร์ - การศึกษาเรื่องเศรษฐกิจ (กิจกรรมการผลิต/การกระจาย/การบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ) เป็นสาขาวิชาทางเทคนิคในแง่หนึ่ง แต่ความจริงแล้วก็เป็นวิชาทางสังคมที่ขึ้นอยู่กับอัตวิสัย, ค่านิยมของคน และการเมืองอยู่มาก

เศรษฐศาสตร์แนวทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่เน้นให้เอกชนมุ่งผลิตและบริโภคเพื่อกำไร/ประโยชน์สูงสุด เป็นเพียงเศรษฐศาสตร์สำนักหนึ่ง การเน้นแต่การผลิตให้ได้มากที่สุด แต่ไม่สนใจการกระจายผลผลิตที่ทั่วถึง เป็นธรรม ทำให้เศรษฐศาสตร์สำนักนี้บิดเบือนวิชาการเพื่อผลประโยชน์นายทุนชนชั้นสูงมากกว่าคนส่วนใหญ่

เศรษฐศาสตร์แบบองค์รวม มองว่าการทำงานของมนุษย์ คือพลังอย่างเดียวที่เพิ่มมูลค่าให้แก่ทรัพยากร (รวมทั้งพลังงาน) ที่เราเก็บเกี่ยวมาจากธรรมชาติ สิ่งที่เรียกว่างานนั้นมีทั้งงานที่ได้ค่าจ้างตอบแทน, งานในบ้านที่ไม่ได้ค่าตอบแทน และงานบริหารจัดการ งานธุรการต่างๆ

แม้มนุษย์ในยุคปัจจุบันจะมีเครื่องจักรพลังงาน หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ เครื่องไม้เครื่องมือ ช่วยให้เราทำงานได้ผลผลิต (ต่อแรงงาน) สูงขึ้น แต่การผลิตทุกอย่างต้องอาศัยแรงงานคน เพื่อทำเครื่องมือเหล่านั้นทำงานได้ แรงงานคือผู้เพิ่มผลผลิต การเป็นเจ้าของเครื่องมือเฉยๆ (เจ้าของทุน) ไม่ได้ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมาได้

ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม งานส่วนใหญ่คือการจ้างงาน ซึ่งหมายถึงการทำงานให้นายทุนโดยได้ค่าจ้างเงินเดือน ในระบบนี้นายจ้างพยายามลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน และหาวิธีการทำให้ลูกจ้างทำงานการผลิตได้ดีที่สุด เพื่อนายจ้างจะค้าขายสินค้าในราคาสูงเพื่อให้ได้กำไรมากที่สุด

ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเช่นนี้ ทำให้เกิดความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ระหว่างคนงานกับนายทุน แต่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างจำเป็นต้องร่วมมือกันและพึ่งพากันและกัน ต้องต่อรองและประนีประนอมตกลงกันไป ประเทศที่คนงานต่อสู้เรียกร้องมานาน เช่น ในประเทศอุตสาหกรรม คนงานมักต่อรองได้มากกว่าในประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศรายได้ต่ำ

การทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างสำคัญเช่นเดียวกัน การทำงานภายในบ้าน เช่น การทำอาหาร ดูแลรักษาความสะอาดบ้าน การเลี้ยงดูเด็ก คนชรา คนป่วย ฯลฯ เป็นงานที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ และถือว่ามีส่วนช่วยเพิ่มผลผลิตทางอ้อม

ครอบครัวส่วนใหญ่มักจะใช้แรงงานผู้หญิงทำงานแม่บ้าน โดยไม่มีการคิดค่าจ้างให้ ไม่ได้คิดรวมอยู่ในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และสังคมทุนนิยมไม่ให้คุณค่าต่อคนที่ทำงานโดยไม่ได้ค่าจ้าง

ระบบเศรษฐกิจที่ดีกว่าควรคำนึงถึงความสำคัญของงานเหล่านี้ด้วย เพราะเป็นการงานที่จำเป็นที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่และสร้างลูกหลานต่อไปได้ ถ้าสมาชิกครอบครัวไม่ทำงานบ้านและงานในกิจวัตรประจำวันเอง ก็ต้องจ้างคนอื่นทำอย่างในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมหรือในครอบครัวคนรวย คนชั้นกลาง

ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่มีปัญหาว่าจะต้องเติบโต แบบสร้างความขัดแย้ง และทำลายตนเองไปด้วย นายทุนมีแรงจูงใจจากความโลภต้องการกำไรมากที่สุด และถูกผลักดันด้วยความกลัว ว่าธุรกิจของพวกเขาจะถูกโค่นล้มโดยบริษัทธุรกิจอื่นที่แข่งขันเพื่อหากำไรสูงสุดได้มากกว่า

การแข่งขันกันในแนวนี้คือ ตัวการสร้างวิกฤติความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความไม่สมดุลทั้งทางสังคมและระบบนิเวศ

เศรษฐศาสตร์แนวอนุรักษ์ระบบนิเวศฉลาดกว่าเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยมตรงที่มีความเข้าใจว่าเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาตินั้น เช่น อากาศบริสุทธิ์ ภูเขาป่าไม้ ทะเล แม่น้ำ ฯลฯ สำคัญต่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของมนุษย์เราอย่างจำเป็นมาก

ธรรมชาติยังเป็นแหล่งวัตถุดิบและพลังงานในการผลิตสินค้าและบริการมาสนองความต้องการของมนุษย์เรา แร่ธาตุ พลังงานจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างมีขีดจำกัด ถูกใช้แล้วหมดไป โดยไม่อาจจะผลิตทดแทนขึ้นได้

ทรัพยากรธรรมชาติบางอย่างเช่น ป่าไม้ แหล่งน้ำจืด ปลาในทะเลอาจผลิตทดแทนขึ้นมาใหม่ได้ แต่มีเงื่อนไขคือมนุษย์ต้องรู้จักใช้ในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราในการผลิตทดแทนขึ้นใหม่โดยธรรมชาติ

ถ้าเราใช้ทรัพยากรเหล่านี้ในอัตราสูงกว่าอัตราการผลิตทดแทนโดยธรรมชาติก็จะมีปัญหาขาดแคลน สิ่งมีชีวิตบางอย่างสูญพันธุ์ไป ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง เป็นผลเสียต่อระบบนิเวศทั้งหมด

ปัญหาการปล่อยสารพิษขึ้นไปในอากาศ ดินและน้ำ จากโรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง การผลิต การบริโภค การเผาไหม้ กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เพิ่มอันตรายในเรื่องสุขภาพ ภัยธรรมชาติ, ผลผลิตการเกษตรลดลง เนื่องจากการปล่อยสารพิษมากทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้น) ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (เกิดความผันผวน เช่น แล้ง น้ำท่วม ภัยธรรมชาติอื่นๆ)

การพัฒนาเศรษฐกิจแนวที่ดีกว่าทุนนิยมคือ การพัฒนาแนวเศรษฐศาสตร์ระบบนิเวศ ที่คำนึงถึงต้นทุนทางธรรมชาติและต้นทุนสังคมด้วย ไม่ใช่คิดเฉพาะต้นทุนส่วนตัวที่ธุรกิจเอกชนลงไป

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการเจริญเติบโต ที่ทั้งนักธุรกิจและรัฐบาลคิดแต่ต้นทุนและกำไรส่วนบุคคล โดยไม่สนใจปัญหาสภาพแวดล้อมนั้น เป็นระบบที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงของธรรมชาติที่มีทรัพยากรที่ขีดจำกัดที่จะต้องใช้สอยอย่างระมัดระวัง 

ถ้ามนุษย์จะก้าวข้ามวิกฤติทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมในโลกปัจจุบัน และอยู่รอดในอนาคตได้ มนุษย์จะต้องรู้จักปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตแบบใหม่ ที่ตระหนักถึงข้อจำกัดของระบบนิเวศอย่างแท้จริง

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่อ้างว่าเป็นระบบตลาดเสรีนั้น ความจริงคือ ตลาดกึ่งผูกขาดหรือตลาดที่ไม่มีการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมจริง

คนทั่วไปไม่รู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน คนจนกว่า การศึกษาต่ำกว่ามีจำนวนมาก มีการรวมกลุ่ม เช่น สหภาพแรงงาน สมาคมอาชีพ น้อยกว่า ทำให้พวกเขาเสียเปรียบแข่งขันต่อรองสู้กับคนที่รวยกว่า การศึกษาสูงกว่าที่พวกเขารวมกลุ่มได้ดีกว่าไม่ได้

ในโลกที่เป็นจริงกำลังมีปัญหา ประชาชนไม่ได้เสรีและไม่ได้รับความเป็นธรรมจริง ประชาชนต้องคิดและหาทางสร้างระบบเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ เช่น สังคมนิยมประชาธิปไตย - ระบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันกับระบบสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค

หรือระบบที่ประชาชน ชุมชน องค์กร ประชาชน เข้าไปเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนรวมและบริษัทโรงงานต่างๆ เพิ่มขึ้น เน้นการพัฒนาแนวเศรษฐศาสตร์เชิงระบบนิเวศเพิ่มขึ้น.

(อ่านเพิ่มเติม วิทยากร เชียงกูล การสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่ในยุคโควิด-19 สถาบันวิชาการ 14 ตุลา-เคล็ดไทย)