ต้องปฏิรูปเรื่องวิชาการด้วย จึงจะปฏิรูปประเทศได้จริง | วิทยากร เชียงกูล

ต้องปฏิรูปเรื่องวิชาการด้วย จึงจะปฏิรูปประเทศได้จริง | วิทยากร เชียงกูล

วิชาสังคมศาสตร์ (หรือวิทยาศาสตร์สังคม) เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยาสังคม วัฒนธรรมศึกษา ฯลฯ สำคัญต่อการพัฒนาประเทศไม่น้อยไปกว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและเทคโนโลยี

ปัญหาคือวิชาสังคมศาสตร์ในประเทศไทยขยายตัวมากเกินไป คนจบมามีคุณภาพพื้นๆ มากเกินไป คนเก่งมีน้อย ถูกครอบงำโดยกรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศกระแสหลักแบบทุนนิยม ที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนรวม 

จึงสนับสนุนพัฒนาแนวทางการเติบโตทางวัตถุ  มีการทำลายป่าไม้และใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติให้หมดเปลืองไปมาก คนส่วนน้อยรวยขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ทั้งชาวชนบทและคนจนในเมืองยากจนโดยเปรียบเทียบและทำงานหนักมากขึ้น

มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ มากขึ้น

พัฒนาของวิชาการสังคมศาสตร์ของไทยพัฒนามาจากกรอบคิด/วัฒนธรรมแบบสังคมศักดินาหรือสังคมเจ้าขุนมูลนาย ที่จารีตนิยมล้าหลัง  จึงมีส่วนที่ล้าหลัง มุ่งรับใช้ชนชั้นผู้ปกครองอยู่มาก การรับวิชาการมาจากตะวันตกในภายหลัง ก็เพื่อรับใช้การพัฒนาเศรษฐกิจแนวทุนนิยม เพื่อประโยชน์นายทุนส่วนน้อยเป็นหลัก

คือมุ่งสร้างคนที่มีความรู้/ทักษะ จำนวนหนึ่งไปทำงานรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ไม่ได้สนใจจะพัฒนาให้ประชาชนฉลาดทุกด้าน คือปัญญา อารมณ์ สังคม อย่างแท้จริง

วิชาสังคมศาสตร์ในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม ถูกแบ่งแยกเป็นวิชาที่มีลักษณะเฉพาะโดดๆ และเน้นด้านเทคนิคมากขึ้น เพื่อทำให้นักวิชาการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคในแขนงใดแขนงหนึ่งโดยเฉพาะ พวกเขาจะได้มีทักษะในการทำการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น 

พวกเขาถูกทำให้กลายเป็นเทคโนแครต หรือนักวิชาชีพที่รู้เรื่องในวงของตัวเองอย่างแคบๆ มองไม่เห็นเป็นปัญหาภาพใหญ่ของสังคม (ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม) อย่างเป็นระบบองค์รวม

อย่างเช่นวิชาเศรษฐศาสตร์ ถูกแยกออกจากเศรษฐศาสตร์การเมือง และนักเศรษฐศาสตร์ถูกทำให้เป็นนักวิเคราะห์ต้นทุนกำไรเพื่อหากำไรสูงสุด เป็นนักคณิตศาสตร์ และนักทำนายเหตุการณ์ทางด้านเศรษฐกิจธุรกิจ เพื่อทำงานรับใช้สถาบันและหน่วยธุรกิจในเศรษฐกิจทุนนิยมเป็นหลัก สนใจเทคนิคในการหาวิธีทำกำไรสูงสุด 

ไม่ได้สนใจ ไม่เข้าใจ ไม่สามารถวิเคราะห์โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของสังคมไทยและสังคมโลกทั้งระบบได้อย่างรอบด้านและใกล้เคียงความเป็นจริงทางสังคมที่ซับซ้อนได้

ต้องปฏิรูปเรื่องวิชาการด้วย จึงจะปฏิรูปประเทศได้จริง | วิทยากร เชียงกูล

วิชาการเมืองหรือรัฐศาสตร์กลายเป็นศาสตร์ของการปกครองประชาชน ศาสตร์ของการเล่นการเมือง การต่อสู้เพื่ออำนาจ มากกว่าเป็นศาสตร์เรื่องการเมือง ที่ผู้ศึกษาควรจะค้นคว้าทำความเข้าใจถึงโครงสร้างกลไกของระบบการเมือง ระบบการจัดสรรอำนาจปัญหาในเชิงโครงสร้างต่างๆ

ดังนั้น มองปัญหาอย่างวิเคราะห์และเผยแพร่ความรู้เรื่องการเมือง ที่แท้จริงแล้ว เป็นเรื่องความขัดแย้งของชนชั้น, กลุ่มชนต่างๆ เพื่อช่วยทำให้ประชาชนฉลาดและเข้มแข็งขึ้น

วิชาสังคมศาสตร์นั้นมีทั้งส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์ (มีหลักฐานการพิสูจน์ยืนยัน มีเหตุผล) และส่วนที่เป็นอุดมการณ์ มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากชนชั้นนำมีอำนาจความมั่งคั่งควบคุมรัฐ การศึกษา การสื่อสาร ฯลฯ วิชาการในทุกด้านรวมทั้งสังคมศาสตร์จึงถูกชนชั้นที่มีอำนาจครอบงำใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนส่วนน้อยมากกว่าเพื่อคนส่วนใหญ่

นักสังคมศาสตร์ถูกสอนมาให้มองเห็นแต่ปรากฏการณ์ของปัญหา แต่ไม่เห็นตัวรากเหง้าสาเหตุใหญ่ของปัญหาจริงๆ และเมื่อมองจากกรอบที่คับแคบของสาขาวิชาของตนเอง ก็จะมองเห็นสาเหตุและวิธีการแก้ไขเป็นเชิงปฏิสังขรณ์ปะผุให้ดีขึ้นเล็กน้อย มากกว่าที่จะคิดไปได้ไกลถึงขั้นการปฏิรูป/ปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงทั้งระบบโครงสร้างของสังคม (รวมเศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ)

ต้องปฏิรูปเรื่องวิชาการด้วย จึงจะปฏิรูปประเทศได้จริง | วิทยากร เชียงกูล

ยกตัวอย่างเช่น การมองว่าปัญหาความยากจนของประชาชนอยู่ที่การที่ชาวบ้านมีความรู้น้อย มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ไม่รู้จักดูแลสุขภาพอนามัยตนเอง เป็นวงจรแห่งความยากจน ซึ่งจะต้องแก้ด้วยการให้การศึกษาและการให้ความรู้เรื่องการป้องกันและการรักษาพยาบาล ก็จะแก้ไขปัญหานี้ได้ 

แต่ปัญหาความยากจน การขาดความรู้นั้นเป็นเรื่องสลับซับซ้อนมาก เช่น ชาวนาต้องฉีดสารเคมีกำจัดป้องกันศัตรูพืชทั้งที่รู้ว่าอันตรายต่อคนฉีดและผู้บริโภค เพราะเขาเป็นหนี้มาก และเขาจำเป็นต้องใช้วิธีการผลิตเพื่อให้ได้พืชผลมาก พอที่จะได้มีเงินไปใช้หนี้ ชาวนาหลายคนไม่กินพืชผลที่เขาฉีดยาเพราะพวกเขาก็รู้ว่ามันเป็นอันตราย

นักวิชาการประเภทเทคโนแครตเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา มักจะมุ่งแต่แก้ไขที่ปลายเหตุของปัญหา ซึ่งทำให้เขาไม่สามารถแก้ปัญหาได้เสียที เช่น นักเกษตรไปส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พืชพันธุ์ใหม่ ใช้ปุ๋ยเพาะปลูกได้ผลผลิตสูงขึ้น แต่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาดที่ทุนใหญ่ได้เปรียบทุนเล็ก เกษตรกรก็ต้องเผชิญกับปัญหาค่าใช้จ่ายเพิ่ม หนี้ดอกเบี้ยสูง การถูกกดราคาพืชผล ฯลฯ ต่อไป แม้จะผลิตได้เพิ่มขึ้นก็ตาม

นักวิชาการไม่ว่าทางด้านสังคมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจะพัฒนาให้คนส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสิทธิเสรีภาพและวัฒนธรรมสูงขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขารู้จักวิเคราะห์ทุกอย่างอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ใจกว้าง เป็นธรรม 

พยายามลดอคติที่เกิดจากกรอบคิดเดิมและกรณีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ปัญหาต่างๆ อย่างเชื่อมโยงกันกับเรื่องทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ของสังคมอย่างเป็นระบบองค์รวม

เพื่อที่จะได้มุ่งหาความจริง มุ่งหาต้นตอ รากเหง้า ของปัญหา และหาทางแก้ไขปัญหาได้ถูกทางมากขึ้น คือต้องเพื่อประสิทธิภาพสำหรับส่วนรวม เพื่อความเป็นธรรม และการพัฒนาแบบลดการทำลายสภาพแวดล้อม

นักวิชาการจะต้องค้นคว้าหาความรู้ความจริงอย่างไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ และต้องเผยแพร่ความรู้ความจริงออกไป ทำลายการผูกขาดทางวิชาการโดยรัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชนที่เน้นกำไรส่วนตัว และร่วมต่อสู้ให้ประชาชนมีความรู้แนวใหม่ คือ แนวสังคมนิยมประชาธิปไตย

แนวสังคมนิยมประชาธิปไตยที่เน้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ ที่มีเป้าหมายเพื่อความสุข คุณภาพชีวิตของคนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และการอนุรักษ์/ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศโดยรวม (การพัฒนาแบบและยั่งยืน).