ปฏิรูปประเทศแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย

ปฏิรูปประเทศแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย

ชนชั้นนำไทยมีแนวคิดจารีตนิยมที่มุ่งปกป้องสถานะภาพ ผลประโยชน์ตัวเอง พวกเขาคิดได้อย่างเดียวว่าต้องพัฒนาประเทศแนวทุนนิยมหรือตลาดเสรี

ทั้งๆ ที่ระบบและการเศรษฐกิจแนวนี้ ที่เน้นผลกำไรเอกชนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม สร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างคน สร้างความขัดแย้ง ความไม่สมดุล ทั้งระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และระบบนิเวศ (ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม)

ระบบทุนนิยมทั่วทั้งโลกในเวลานี้โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรปกำลังเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง การแก้ปัญหาแบบอัดฉีดเงินภาครัฐเข้าไปช่วยนายทุน นายธนาคาร จะช่วยได้เพียงระยะสั้น แม้จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย ฯลฯ จะเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูง แต่ประเทศเหล่านี้ก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง การถลุงใช้ทรัพยากรและการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศมากเช่นกัน

ในสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก รวมทั้งเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ ที่จัดระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือรัฐสวัสดิการเศรษฐกิจยังคงเข้มแข็งเติบโตได้ดี สร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นธรรมได้ดีกว่าประเทศทุนนิยมสุดโต่งอย่างสหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจแบบผสมที่ไปทางสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศลาตินอเมริกา เช่น เวเนซุเอลา โบลิเวีย เอกวาดอร์ ฯลฯ ที่พรรคฝ่ายก้าวหน้าเป็นรัฐบาลสามารถพัฒนาเศรษฐกิจแบบแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมได้ดีกว่าในยุคก่อนหน้าและดีกว่าประเทศซีกโลกใต้อื่น ซึ่งใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมด้อยพัฒนาหรือทุนนิยมบริวาร

สังคมนิยมประชาธิปไตยแตกต่างจากสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง เช่น อดีตสหภาพโซเวียต จีน ซึ่งมีปัญหามาจากหลายสาเหตุ การบริหารแบบรวมศูนย์เผด็จการอยู่ที่พรรคและรัฐบาลโดยไม่กระจายอำนาจให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ความล้มเหลวทำให้พวกเขาเปลี่ยนเป็นระบบทุนนิยมโดยรัฐหรือระบบผสม ซึ่งก็เป็นทุนนิยมมากขึ้น และมีปัญหาการกระจายทรัพย์สินรายได้ไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้น

ประเทศแถบยุโรปเหนือที่มีระบบเศรษฐกิจแบบผสมใช้นโยบายแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการแบ่งปันให้ประชาชนชนชั้นคนงานได้ยุติธรรมมากกว่า มีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้ามาทำรัฐสวัสดิการที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อมมากกว่า ประเทศที่เป็นทุนนิยมแบบสุดโต่งมากไปอย่าง สหรัฐฯ

ในแคนาดา ยุโรป ญี่ปุ่น สหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภคและเครดิตยูเนียนที่ประชาชนเป็นเจ้าของและผู้ควบคุม บริหารจัดการ การผลิต การจัดจำหน่าย ทั้งธนาคาร โรงงาน ธุรกิจต่างๆ คงเดินหน้าต่อไปได้แม้ในยามที่ระบบทุนนิยมโลกวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ล้ม แต่สหกรณ์และเครดิตยูเนียนอยู่ได้เพราะพวกเขาลงทุนเองหรือให้สมาชิกกู้ไปเพื่อทำการผลิต การลงทุนและการบริโภคที่เป็นประโยชน์เป็นไปได้จริง ไม่ได้ปล่อยกู้เกินตัว ผลิตล้นเกินเพียงเพื่อหวังกำไรแบบธนาคาร สถาบันการเงินในธุรกิจเอกชนในระบบทุนนิยม องค์กรสหกรณ์เหล่านี้ทำเพื่อคนส่วนใหญ่ได้ดีอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประชาธิปไตยมากกว่าทั้งระบบทุนนิยมเอกชนและทุนนิยมโดยรัฐในอดีตประเทศสังคมนิยม

เวเนซุเอลาโบลิเวีย เอกวาดอร์ ฯลฯ เป็นตัวอย่างของรัฐบาลแนวชาตินิยมและสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ปฏิรูปเศรษฐกิจแนวใหม่เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ สหพันธ์สังคมนิยมแห่งเวเนซุเอลาโอนกิจการน้ำมัน มาเป็นของรัฐ ดึงผลกำไรจากทรัพยากรน้ำมันมาพัฒนาการศึกษา สาธารณะ การเคหะ การแก้ปัญหาช่วยเหลือคนจนอย่างจริงจังและส่งเสริมการจัดตั้งระบบสหกรณ์ สภาชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้มีตัวแทนเข้าไปควบคุมบริหารจัดการการผลิต และทรัพยากรต่างๆ แข่งขันกับธุรกิจเอกชนได้เพิ่มขึ้นเพื่อประโยชน์ของชุมชนรวมทั้งเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศที่ดี

ประเทศไทยยังคงคิดในกรอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยม และการพัฒนาเศรษฐกิจแนวตลาดเสรี ซึ่งมีทางทำให้ดีขึ้นได้จำกัดมาก การจะปฏิรูปเศรษฐกิจไทยให้เป็นธรรม มีประสิทธิภาพและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ควรใช้แนวทางพัฒนาสังคมนิยมประชาธิปไตยแนวระบบนิเวศ แบบกระจายอำนาจและทรัพยากรให้ประชาชนเป็นเจ้าของและผู้บริหารจัดการร่วมกันในรูปสภาคนงาน สหกรณ์ เครดิตยูเนียน วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ มากขึ้น และคำนึงถึงการลดการสร้างมลภาวะและอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างจริงจัง

ประเทศไทยอาจจะปฏิรูปเศรษฐกิจโดยเริ่มจากการปฏิรูปทุนนิยมแบบส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม แข่งขันกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม ทุนนิยมชนิดที่รัฐต้องกำกับนายทุนให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาวะคนงาน ผู้บริโภค ทุนนิยมชนิดที่นายทุนต้องเสียภาษีในอัตราสูงตามขนาดของผลกำไร (เพราะพวกเขาได้เปรียบใช้ทรัพยากรและแรงงานของแผ่นดินมาก) เพื่อที่รัฐบาลจะได้มีงบประมาณไปช่วยพัฒนาคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจนและอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบสังคมนิเวศ พัฒนาเศรษฐกิจแนวทางเลือกใหม่ที่เอื้อประโยชน์ทุกคนได้อย่างยั่งยืนและยาวนาน