มาตรการช่วยเหลือน้ำท่วม 2565 จาก 13 หน่วยงาน เงื่อนไข-ใครมีสิทธิ์ได้บ้าง

มาตรการช่วยเหลือน้ำท่วม 2565 จาก 13 หน่วยงาน เงื่อนไข-ใครมีสิทธิ์ได้บ้าง

กระทรวงการคลัง รวบรวมมาตรการช่วยเหลือ "น้ำท่วม" สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ซึ่ง คลังฯ และหน่วยงานในสังกัดได้เสนอมาตรการดังกล่าวในการยื่นต่อคณะรัฐมนตรี

กระทรวงการคลัง รวบรวม "มาตรการช่วยเหลือ น้ำท่วม" สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ซึ่ง คลังฯ และหน่วยงานในสังกัดได้เสนอมาตรการดังกล่าวในการยื่นต่อคณะรัฐมนตรี ผู้ได้รับผลกระทบสามารถตรวจสอบเงื่อนไขของแต่ละหน่วยงานได้ที่นี่เลยว่า มีการช่วยเหลือในด้านใดบ้าง

สำหรับหน่วยงานในสังกัด กระทรวงการคลัง ที่ได้ร่วมเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัย "น้ำท่วม" ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมบัญชีกลาง กรมธนารักษ์ การยาสูบแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งรายละเอียดแต่ละหน่วยงาน มีดังนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

1.กรมสรรพากร

มาตรการสนับสนุนการบริจาคให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล เป็นมาตรการที่มีการดำเนินอยู่ในปัจจุบันเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ประกอบด้วย

  • กรณีบุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 1 เท่า
  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ 1 เท่า
  • ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้า

มาตรการสนับสนุนการบริจาคผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

  • กรณีบุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 1 เท่า
  • กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ 1 เท่า
  • กรณีผู้ประกอบการได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้า

มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย ทั้งบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

  • กรณีเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล
  • กรณีเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือเพื่อชดเชยความเสียหาย
  • กรณีค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยเพื่อชดเชยความเสียหาย

มาตรการที่อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม

- มาตรการในระยะเร่งด่วน

การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษี และการขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีในพื้นที่อุทกภัย จากเดิมต้องยื่นหรือขอภายในเดือนตุลาคม 2565 และเดือนพฤศจิกายน 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565

- มาตรการในระยะถัดไป

การหักลดหย่อนค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลธรรมดาที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท และหักลดหย่อนค่าซ่อมแซมรถของบุคคลธรรมดาที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

 

2.กรมศุลกากร

- มาตรการทางภาษี

การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามา เพื่อบริจาคให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2565

- มาตรการอื่น

กรมศุลกากรได้มอบหมายให้ด่านศุลกากรในส่วนภูมิภาคช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ เช่น การมอบสิ่งของจำเป็น การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น

 

3.กรมสรรพสามิต

ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการสถานบริการในจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565 ได้รับการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษี จากเดิมวันที่ 11 – 31 ตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 และขยายกำหนดเวลาในการยื่นงบเดือนจากเดิมในเดือนตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565

 

4.กรมบัญชีกลาง

- มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศให้ท้องที่นั้นเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน สามารถใช้จ่ายเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 20,000,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในด้านการดำรงชีพ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข และด้านการเกษตร

- มาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยกรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้คลังจังหวัดประสานงานกับคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

 

5.กรมธนารักษ์

- มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ประสบอุทกภัย ยกเว้นค่าเช่าสูงสุด 2 ปี ได้แก่

  • กรณีผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย หากเสียหายบางส่วนให้ยกเว้นค่าเช่า เป็นระยะเวลา 1 ปี และเสียหายทั้งหลังให้ยกเว้นค่าเช่าเป็นระยะเวลา 2 ปี
  • กรณีผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบการเกษตร หากพืชหรือผลผลิตได้รับความเสียหายให้ยกเว้นการเก็บค่าเช่าเป็นระยะเวลา 1 ปี
  • กรณีผู้เช่าอาคารราชพัสดุและผู้เช่าที่ดินเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นรายเดือนตามข้อเท็จจริง
  • กรณีผู้เช่าไม่สามารถชำระค่าเช่า ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใดที่ต้องชำระภายในกำหนดเวลาโดยเหตุมาจากอุทกภัยให้ยกเว้นการคิดเงินเพิ่ม

- มาตรการมอบถุงยังชีพให้กับผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ 33 จังหวัด จำนวน 3,134 ชุด

 

6.การยาสูบแห่งประเทศไทย

มาตรการช่วยเหลือพนักงานยาสูบและครอบครัวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการดำรงชีพและความเสียหายของทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยการแจกจ่ายถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยและผู้ประสบปัญหาในการดำรงชีพในพื้นที่ต่างๆ

 

7.ธนาคารออมสิน

- มาตรการพักชำระหนี้ โดยสามารถเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ยร้อยละ 10 – 100 และกรณีอยู่ระหว่างจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาแบบคงที่ สามารถขอลดการชำระเงินงวดร้อยละ 50 ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด

- มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยปลอดชำระค่างวด 3 งวดแรก วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับบุคคลธรรมดา

- มาตรการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยปลอดชำระเงินต้นในปีแรก วงเงินกู้สูงสุดร้อยละ 10 ของวงเงินกู้เดิมหรือไม่เกิน 5,000,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs

- มาตรการสินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.49 เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ร้อยละ 100 ของหลักประกัน

- มาตรการสินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 เป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

สามารถยื่นคำขอสินเชื่อภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศภัยพิบัติหรือวันที่ประสบภัยพิบัติ

 

8.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

- มาตรการพักชำระหนี้ โดยการพักชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยปรับ

- มาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2565 – 2566 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท

- มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR – 2 หรือประมาณร้อยละ 4.50 ต่อปี เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท

 

9.ธนาคารอาคารสงเคราะห์

- มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 50 จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน กรณีหลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหาย และอยู่ระหว่างจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาแบบลอยตัว

- มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี กรณีปลูกสร้างอาคารทดแทนอาคารเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย โดยกำหนดวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท

- มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างประนอมหนี้

- มาตรการสินไหมเร่งด่วน จะได้รับค่าสินไหมเร่งด่วนกรณีพิเศษ กรณีทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ สำหรับลูกหนี้ที่เป็นผู้ประสบภัย

 

10.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

- มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ พักชำระเงินต้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในเขตพื้นที่ที่ธนาคารกำหนด

- มาตรการสินเชื่อ SMEs Re-Start อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดร้อยละ 5.5 ต่อปี ปลอดระยะเวลาชำระเงินต้น 2 ปี วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท

 

11.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)

มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัย 2565 ได้รับการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และได้รับการยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ (Late charge) ที่สำหรับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นลูกค้าสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน หรือสินเชื่อธุรกิจแบบมีกำหนดระยะเวลาของ ธอท. (Term Financing)

 

12.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

- มาตรการเพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุดร้อยละ 20 ของวงเงินหมุนเวียนเดิมแต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท

- มาตรการเพิ่มวงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ (Prime Rate) หรือประมาณร้อยละ 5.75 โดยปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 3 เดือน วงเงินกู้เพิ่มเติมสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท

- มาตรการลดเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุดร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 1 ปี

- มาตรการขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน

กรณีชำระหนี้ได้ปกติ จะได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยคืน (Rebate) ร้อยละ 2 ต่อปี โดยสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

13.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

- มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ปัจจุบันของ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2565

- มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. สามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยได้ต่ำสุดร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี

 

นายพรชัย ฐีระเวช โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า "มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2565 ของกระทรวงการคลังจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs เป็นต้น

ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ทำให้มีเงินหมุนเวียน ช่วยฟื้นฟูกิจการ รวมถึงปรับปรุงและซ่อมแซมอาคาร เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้"

 

CR : กระทรวงการคลัง