เสียงสะท้อนที่ควรรับฟัง | อมร วาณิชวิวัฒน์

เสียงสะท้อนที่ควรรับฟัง | อมร วาณิชวิวัฒน์

ผมมีความปรารถนาดีอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงขององค์กรตำรวจ เหมือนที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นหนึ่งใน 36 อรหันต์ตามที่สื่อมวลชนเรียกขาน ในชุดที่มี พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานฯ 

โดยส่วนตัวเมื่อครั้งมีโอกาสไปสอนอาชญาวิทยาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตั้งแต่ รุ่นที่ 50 ถึง 55 ตั้งใจว่าหากได้ปริญญาเอกกลับมาจะสมัครเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพราะได้เห็นนักเรียนนายร้อยที่ได้ไปสอนมีวินัยสง่างามเป็นความหวังของสังคมได้

 เมื่อสำเร็จกลับมาได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการโรงเรียนฯ ในขณะนั้น เมื่อไม่ได้ผลแต่เห็นช่องโอกาสที่ “นักร้อง นักแสดง คนมีเส้นสาย” เข้ามาเป็นตำรวจโดยอาศัย “ทางข้าง (อาศัยคุณวุฒิ ประสบการณ์พิเศษ)” ได้ ก็ไม่ลดละความพยายาม

บอกกับผู้ที่เชื่อว่าน่าจะผลักดันเข้ารับราชการตำรวจได้ในเวลานั้นว่า พร้อมและยินดีเป็นชั้นประทวน แต่ยังไม่เป็นผลเช่นเดิม จึงกลายเป็นนักอาชญาวิทยาสอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งปิติและภาคภูมิใจไม่ต่างกัน 

ทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กรตำรวจ มักจะอดคิดถึงตัวเองและเห็นใจตำรวจทุกคนไม่ได้ว่า ตัวเราอาจไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ความอดกลั้น (resilience)” ต่อคำเสียดสีด่าทอที่รุนแรงไปถึงวงศ์วานว่านเครือของคนที่เป็นตำรวจที่ได้ยินได้ฟังมา

อันไม่อาจนำมาเผยแพร่ในที่สาธารณะได้ แต่ยังจำได้ดีทั้งในขณะเป็น อนุ กตร และเมื่อเป็นกรรมการปฎิรูปฯ ว่า “ความอดกลั้นต่อความเจ็บใจ” ถือเป็นปรัชญาสำคัญยิ่งของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ 

ผมขออาศัยการได้คลุกคลีอยู่กับวงการตำรวจมายาวนาน นำเสนอสิ่งที่พบเห็นเรียนรู้มาแลกเปลี่ยน เพื่ออาจเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขป้องกันปัญหาในอนาคต โดยรอกระทั่งเรื่องต่างๆ มีความชัดเจน จึงออกมาพูดโดยไม่ต้องการเป็น “วีรบรุษหลังการสู้รบ”

ล่าสุดมีโอกาสฟังทนายความท่านหนึ่งให้เบาะแสและแสดงความเห็นเป็นพยานบอกเล่า จากทนายขอแรงของผู้ก่อเหตุ สรุปได้ว่า มีทั้งหายสงสัย และยังคาใจอยู่บางประการ 

ส่วนตัวเชื่อมาแต่ต้นว่า การกระทำของผู้ก่อเหตุไม่น่าเกี่ยวกับยาเสพติด (เหมือนดังที่มีผลพิสูจน์ทางการแพทย์ยืนยันในเบื้องต้น) และผู้ก่อเหตุน่าจะไม่สมควรเรียกว่าเป็น "อดีตตำรวจ"

เพราะวันเกิดเหตุ 6 ตุลาคม ตามที่เพื่อนของทนายยูทูปเบอร์ที่เป็นทนายขอแรงผู้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ ได้ยืนยันกับทนายผู้นี้ในเรื่องสติสัมปะชัญญะสมบูรณ์ดี กระทั่งคาดว่าอาจเกิดเหตุซึ่งหน้าอันเกี่ยวกับ “ความอดกลั้น” ที่อาจมีอยู่น้อยหรือไม่มีเลยเป้นแรงจูงใจสำคัญ 

ด้วยคดียังอยู่ในชั่นศาล ศาลยังไม่มีคำพิพากษา การดำเนินการทางวินัยต่อผู้ก่อเหตุน่าจะต้องรอฟังคำสั่งศาลก่อนหรือไม่ ด้วยปกติเมื่อมีความผิดอาญา ต้องมีการแจ้งหน่วยงานเพื่อดูแลเรื่องวินัยอยู่เสมอ ยิ่งผู้ก่อเหตุต่อสู้ว่า ยาบ้าที่เจอในแฟลตเพียง 1 เม็ด เป็นของภรรยาผู้ก่อเหตุ กระบวนการสอบสวนทางวินัยน่าจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 

เสียงสะท้อนที่ควรรับฟัง | อมร วาณิชวิวัฒน์

ที่หยิบยกขึ้นมา เพียงเพื่อสะท้อนความเห็นของหลายๆ ฝ่ายที่ไม่อยากให้สังคมหลีกหนีความจริง แม้จะเป็นเช่นไรทุกฝ่ายต้องพร้อมรับฟังอย่างองอาจ ผิดถูกอย่างไรต้องมีเหตุมีผลที่ยอมรับได้ แต่เมื่อด่วนสรุปหรือแสดงความเห็นทำนองให้ปัญหาดูบางเบาลงว่า “ทำไปเพราะฤทธิ์ยา” เหมือนเวลาไฟไหม้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่า "ไฟฟ้าลัดวงจร"

หรือคนฆ่ากันตาย มักหนีไม่พ้น "เรื่องชู้สาว" การเบี่ยงเบนปกปิดใดๆ ถือเป็นความประสงค์ร้ายต่อกระบวนการแก้ปัญหา ยิ่งถ้ามาจากคนในด้วยกันจัดว่าเป็นความไม่รักองค์กร ไม่ต่างกับการปัดสวะให้พ้นตัวหรือซุกขยะไว้ในซอกหลืบต่างๆ รอการปะทุขึ้นมา 

ประเด็น "สงครามกับยาเสพติด" หากสำเร็จจริง ทำไมยาเสพติดยังไม่หมดไป หรือที่ฆ่าแกงกันในสงครามยาเสพติด “ยิงไม่ถูกตัวการใหญ่”  สื่อเองอาจช่วงชิงแข่งขันกันทำข่าวเกินไป ยังคิดน้อยที่นำประวัติอาชญากรเผยแพร่เหมือนคนมีชื่อเสียง เพียงแค่รู้ว่า เคยประจำการอยู่โรงพักเกรดเอมาก่อน

ก็สะท้อนหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลได้มากมาย ไม่จำเป็นต้องไปสัมภาษณ์กระทั่งบุพการีคนในครอบครัวของผู้ก่อเหตุแบบที่บางช่องสำนักข่าวกำลังทำอยู่ ดราม่าพอๆ กับ การที่ ซีเอ็นเอ็น ทิ้งความเป็นมืออาชีพเข้าไปถ่ายทำที่เกิดเหตุอย่างไม่บังควร

โดยสรุปแล้ว บทเรียนที่อยากให้เป็นครั้งสุดท้ายนี้ ทั้งผู้เกี่ยวข้อง และองค์กรตำรวจ รวมทั้งสังคมต้องออกมา “ยอมรับความจริง” เรายอมรับว่าในทุกองค์กรต้องมีคนดี แต่อาจต้องยอมรับว่า บางองค์กรอาจมี “คนไม่ดี” หรือ “กาฝาก” ในองค์กรอยู่มากเกินไป

แต่ระบบพรรคพวก อุปถัมภ์ การป้องกันไม่ให้ภายนอกแทรกแซงฟังดูคล้ายจะเป็นเรื่องดีแต่ไม่เคยมีการยืนยันว่า เป็นเพราะไม่อยากให้ผลประโยชน์หรือความไม่ถูกต้องเป็นที่รับรู้แพร่กระจายออกไปหรือไม่ 

จึงมาขอย้ำอีกครั้งว่า อย่ามาร้องเรียก “ปฎิรูปตำรวจ” กันอีก ที่ผ่านมาตั้งคณะกรรมการมานับสิบชุด สิ่งที่จะทำให้องค์กรตำรวจและบุคลากรตำรวจเป็นที่พึ่งที่หวังของสังคมได้นั้น ไม่ต้องมาศึกษาวิจัยอะไรแล้ว เพราะวางอยู่บนหิ้งที่ใดที่หนึ่งหรืออาจอยู่ในมือของ “ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ” ว่าจะเลือกใช้ “บทใด” กับตำรวจ.