“ความจริง” จาก “คนจ่ายยา”

“ความจริง” จาก “คนจ่ายยา”

ฟังเรื่องอีกมุมตรงหน้าเคาน์เตอร์ร้านขายยา และจรรยาบรรณที่เภสัชกรไม่ได้บอก 

“เจ็บไหม” 

คำถามดังขึ้นพร้อมๆ กับแรงกดของนิ้วมือกำลังลงน้ำหนักไปยังจุดที่น่าจะ “มีปัญหา” ขณะที่อีกฝ่าย ทั้งสีหน้า และท่าทางประหวั่นพรั่นพรึง ออกอาการกังวลอย่างเห็นได้ชัด หลังจากยื่นแขนข้างนั้นให้ดู

“โอ้ย เจ็บ...” ยังไม่ทันสิ้นเสียงตอบ มืออีกข้างก็ลงแรงคลึงผิวเนื้ออีกจุดทันที

หลังจากตรวจสอบ ซักถามอาการเบื้องต้น ตัวยาที่ใช้แก้อาการจึงทยอยถูกบรรจุลงในซอง ก่อนจะยื่นให้ 

“ถ้ากินยาไม่หายทำไง ไม่ยอมไปหาหมอ”

“...ก็มาที่นี่แหละ” เจ้าของอาการหัวเราะแก้เก้อ พลางลูบช่วงแขนบริเวณที่ปวด ก่อนจะร่ำลาออกจากประตูไป

medications-257344_1920

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ทำนองนี้มักจะเกิดขึ้นจนเป็นภาพชินตาตามร้านขายยาทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ร้านที่ เภสัชกรอย่าง สมพงษ์ อภิรมย์รักษ์ ประธานชมรมเภสัชกรชุมชน จ.สงขลา ประจำอยู่ บ่อยครั้งที่เขาต้องขู่ให้คนที่จะมาซื้อยาเปลี่ยนไปตรวจรับการรักษาที่โรงพยาบาลแทนที่จะมาซื้อยากินเองอย่างนี้ อย่างรายล่าสุดที่เพิ่งเดินพ้นประตูไป นั่นก็แวะเวียนมาด้วยอาการเก๊าท์ตั้งแต่ปีที่แล้ว

“จริงๆ เราก็ไม่อยากทำอย่างนั้นหรอก” ตามกระบวนการรักษา ความรู้เรื่องการใช้ยาไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัย หรือการแยกแยะขั้นพื้นฐานว่า คนที่มาซื้อยาน่าจะเป็นโรคอะไร มักจะเป็นความรู้ที่ตัวเภสัชกรเองต้องมีติดตัวอยู่แล้ว บวกกับความคาดหวังกับคนไข้ที่มาซื้อยาแล้วต้องได้ผล สิ่งที่เกิดขึ้นกับร้านยา และเภสัชกรจึงมักกลายเป็น จ่ายยา เฝ้าดูอาการ หากไม่ดีขึ้นจึงส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษา

“แล้วก็กำกับการใช้ยาของคนไข้ เราต้องถามอาการเบื้องต้น การแพ้ยา โรคร่วม โรคประจำตัว การกินยาเข้าได้กับร่างกายของคนไข้หรือไม่” นั่นคือหน้าที่ในวิชาชีพที่ถูกบัญญัติไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เภสัชกรทุกคนจะทำได้แบบนั้น

 

* เมื่อวิชาชีพมีไว้แขวน

ในโลกที่ทุกคนต่างพยายามเข้าถึงความรู้ โดยเฉพาะในวันที่การดูแลสุขภาพถือเป็นเรื่องที่เราต่างหันมาให้ความสนใจเป็นอันดับแรกๆ การเตรียมตัวเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย รวมไปถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ยาแต่ละชนิดได้เข้ามาท้าทายวิชาชีพของคนจ่ายอย่าง อย่างเภสัชกรไปโดยปริยาย

“ถ้าทุกคนมีความรู้จากอินเทอร์เน็ตมาแล้ว เราก็ควรต้องทำหน้าที่เป็นผู้ที่มีความรู้มากกว่าออนไลน์” ประธานชมรมเภสัชกรชุมชน จ.สงขลาย้ำถึงความสำคัญของคนเป็นเภสัชกร 

เขาอธิบายว่า สิ่งที่เภสัชกรต้องเข้าไปช่วยในการใช้ยาก็คือ การแนะนำความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องมากขึ้น ตั้งแต่การซักถามอาการ โรคประจำตัว ยาที่ใช้ ก่อนที่จะจ่ายยาให้กับคนไข้ได้ 

แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในร้านยาหลายๆ แห่งก็คือ “ผู้ปฏิบัติงานแทนเภสัชกร” มีความรู้เพียงพอ หรือ ตระหนักถึงรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้มากน้อยขนาดไหน สมพงษ์ยอมรับว่า การทำงานของเภสัชกรนั้นมี 2 ฟังก์ชั่น คือ ธุรกิจ และวิชาชีพที่ต้องบาลานซ์ให้สมดุล ไม่อย่างนั้น ร้านยาก็จะมีสถานะไม่ต่างจาก “พ่อค้า” ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ต้องเข้าใจ และแยกแยะสิ่งเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน

การที่ “คนจ่ายยา” เป็นคนละคนกับชื่อบน “ป้ายวิชาชีพ” จึงกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในร้านยาหลายแห่ง และคนส่วนใหญ่มักไม่ทันสังเกตเห็น หรือ ที่เรียกกันในวงการว่า “เภสัชกรแขวนป้าย” 

“เภสัชกรไม่พอ ไม่จริง” เภสัชกรที่คร่ำหวอดในวงการมาไม่ต่ำกว่า 20 ปีอย่างเขายืนยัน 

จริงอยู่ที่เมื่อก่อน เภสัชกรถูกผลิตออกมาเพียงปีละหลักพันคน แต่ปัจจุบันสัดส่วนเภสัชกรจบใหม่นั้นมีราว 3-4 หมื่นคนแล้ว ขณะที่ร้านยาทั่วประเทศก็มีเพียง 2 หมื่นร้าน

“ปัญหาคือ หนึ่ง ไม่ไปทำหน้าที่ สอง การบังคับใช้ทางกฎหมายไม่ได้เป็นไปตามนั้น” นั่นจึงกลายเป็นช่องโหว่งที่เกิดขึ้นในวงการเภสัช ตามข้อกฎหมาย เภสัชกรต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อย 3 ชั่วโมง แต่นอกเหนือจากนั้นกลับมี “คนอื่น” ร่วมปฏิบัติหน้าที่แทน

หากเภสัชกรอยู่ปฏิบัติงานทั่วๆ ไปค่าใช้จ่ายร้านยาต่อเดือนจะมีอยู่ราว 40,000 - 50,000 บาท บางแห่ง ขณะที่การแขวนป้าย “ต้นทุน” ของ “ผู้รับอนุญาต” จะถูกลงเหลือเพียง 10,000 บาทเท่านั้น 

เมื่อต้นทุน “ถูกลง” ความรู้ และความเหมาะสมในการจ่ายยาให้กับคนซื้อก็ “ถูกลง” ตามไปด้วย

  medications-257333_1920

* มองให้ลึกกว่าเคาน์เตอร์จ่ายยา

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะคิดว่า ปกติทุกวันนี้ คนซื้อยาก็เซิร์ชชื่อแล้วไปซื้อยาอยู่แล้ว การมีหรือไม่มีเภสัชก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร

“ถามว่าโรคมีการเปลี่ยนแปลงเสมอไหม เมื่อยาก็มีการเปลี่ยนแปลงชนิดหรือส่วนผสมอยู่เสมอ แล้วเขาได้มีการติดตามเรื่องโรค ยา หรือเวชปฏิบัติในการรักษาหรือเปล่า” 

นั่นจึงเป็นความแตกต่างของคนในองค์กรวิชาชีพที่จะมีการให้การศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ 

“ถ้าอย่างนั้น ใครคือผู้โชคร้ายจากความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเขา”

เรื่องนี้สอดคล้องกับความเห็นของ ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลาถึงสถานการณ์การใช้ยาของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการกระจายตัวของยาในพื้นที่ ความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาของคนไข้ หรือแม้แต่ยาที่ถูกผสมขึ้นจากร้านยาเพื่อจำหน่ายเองก็ตาม ซึ่งเภสัชกรเป็นเหมือนผู้ควบคุมให้การใช้ยาเป็นไปอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

“ถ้าร้านยาที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนหน้าด่านของการคัดกรองผู้ป่วยนั้นปล่อยปละละเลย หรือจ่ายยาโดยไม่ถามอาการ จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้นั้น เจ็บป่วยเล็กน้อยก็เดินเข้าร้านยาก่อนที่จะไปสถานพยาบาล”

ในมุมนี้ ร้านยากับสถานพยาบาลจึงถือเป็นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของระบบการคัดกรอง ตรวจสอบย้อนกลับกรณีที่ยามีปัญหา ซึ่งต้องยอมรับว่า เรื่องยานั้นมีประชาชนน้อยมากที่จะเอาใจใส่อย่างจริงจัง 

“ส่วนใหญ่มักจะขอยาแรงๆ ให้หายไวๆ มากกว่าจะฟังคิอธิบายการใช้ยา หรือผลข้างเคียง” เธอบอก 

สำหรับ จรัญวิทย์ แซ่พัว กรรมการสภาเภสัชกรรมยอมรับว่า กรณีการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกวงการ แต่ในปัจจุบันนั้นสถานการณ์ดีขึ้นมากจากข้อกฎหมาย หรือปริมาณของเภสัชกรจบใหม่ที่เพิ่มขึ้น

แต่สิ่งที่ดูจะเป็นปัญหาก็คือ ฐานข้อมูลร้านขายยาทั่วประเทศในระบบสารสนเทศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ค่อนข้างมีปัญหามาก ซึ่งมีตัวเลขที่ขัดแย้งกันอยู่ตั้งแต่ 15,000 ไปจนถึง 20,000 กว่าร้าน 

 “ตรงนี้ก็คือมีคำอธิบายตลกๆ ว่า ตอนขอเขามีอยู่แล้ว พอเปิดร้านถ้าเขาผิดก็จะผิดเรื่องผู้ขออนุญาตจะผิดแค่มาตรา 32 คือ ถ้าเภสัชกรไม่อยู่ร้านแล้วเจ้าของไปแอบขายยาอันตรายก็จะผิดแค่โทษปรับ”

ขณะในทางปฏิบัติก็คือ เมื่อมีการตรวจพบว่าไม่มีเภสัชกรประจำร้าน เจ้าของร้านก็จะมาเป็นคนจ่ายค่าปรับที่เกิดขึ้นทั้งหมดแล้วทุกอย่างก็จบเรื่อง 

“หลังๆ ถึงเริ่มมีโทษทางปกครองในเรื่องของการพักใช้ใบอนุญาต ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ขั้นตอนของคณะกรรมการยาอยู่ โดยมีการใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2537 ก็หลายร้อยกรณีเหมือนกัน” 

pills-3673645_1920

* แก้ที่คลื่นลูกใหม่

นอกจากการบังคับใช้ข้อปฏิบัติทางวิชาชีพ ตลอดจนข้อกฎหมายเพื่อป้องปรามปัญหาที่จะมีเภสัชกรนอกแถว การปลูกฝัง “เภสัชกรเลือดใหม่” ก็ถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยกำกับดูแลปัญหาทำนองนี้ให้เกิดขึ้นในวงการคนจ่ายยาให้น้อยที่สุดได้ 

อย่าง นิว - ธัญลักษณ์ ลีฬหาวงศ์ นักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 6 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่โตขึ้นมากับร้านยาจนกลายเป็นเส้นทางที่เธอเลือก แต่การได้มาเรียนรู้ระบบการทำงานในร้านยาที่ไม่ใช่แค่การจ่ายยาให้กับคนซื้อนั้นทำให้เธอมองเห็นยากว้างกว่าที่คิดขึ้นเยอะ 

“อย่างหน้าร้าน การซักประวัติ การเลือกยา การจ่ายยา หรือข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องยา อย่างการบริหารกล้ามเนื้อของคนไข้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้จะมาซื้อยากินให้หายซึ่งมันเป็นปลายทาง แต่ต้นทางก็คือ เขาต้องปรับพฤติกรรมด้วย”

ขณะที่ ลูกไม้ - ภัคจิรา ภควัตชัย นักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 6 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เภสัชกรถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กระบวนการรักษาไปต่อได้ 

“หมอเขาก็วินิจฉัยโรคมา แต่บางทีเขาอาจจะตกหล่นในเรื่องของยาไป เพราะหมออาจจะไม่ได้ลงลึกเรื่องยาเท่าไหร่ การมีเภสัชจะช่วยตรวจสอบ ตลอดจนคัดกรองยา รวมทั้งอธิบายยาให้กับคนไข้ได้ โดยเฉพาะวิชาชีพอย่างเราที่ไม่ได้เรียนแค่ความรู้อย่างเดียว แต่เราเรียนทั้งด้านสื่อสารกับผู้ป่วยด้วย”

ส่วน กิตติภัทท์ ยงพานิชกุล นักศึกษาเภสัชศาสตร์ จาก มอ.หาดใหญ่ ยอมรับว่าความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างคนที่ยืนเคาน์เตอร์ยาทั่วไปกับเภสัชกรนั้นนอกจากความรู้ ก็คือ ลักษณะทางวิชาชีพ ซึ่งเรื่องนี้เขาเองเจอกับตัวมาตั้งแต่เด็กๆ 

“เคยไปร้านยาครั้งหนึ่งตอนเด็ก บอกว่าเราปวดแขน เขาก็หยิบยามาให้หลอดหนึ่งแล้วก็ไม่พูดอะไรเลย ซึ่งพอเราได้มาเรียนด้านนี้จริงๆ ถึงได้รู้ว่า มันมีรายละเอียดอะไรมากกว่าการยื่นยาให้คนไข้กลับไปใช้เองตั้งเยอะ”

ที่สุดแล้ว ความตระหนัก และการเอาใจใส่ทั้งระบบ ตั้งแต่การกำกับดูแลกันของคนในองค์กรวิชาชีพ ไปจนถึงความเอาใจใส่ของคนใช้ยาเองก็จะถือเป็นเกราะป้องกันความบกพร่องจากใครบางคนที่จะ “ออกนอกแถว” ไปเป็นพ่อค้ายาโดยไม่คิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาได้ 

ต้องไม่ลืมว่า การลด “ต้นทุน” ของร้านยาให้ถูกลงเพื่อทำกำไรนั้น ไม่ได้หมายความว่า “ค่าชีวิต” ของคนใช้ยาจะถูกลงตามไปด้วย