เครือข่ายนวัตกรรมไทย ผสานความร่วมมือ พลิกฟื้นประเทศด้วยนวัตกรรม

เครือข่ายนวัตกรรมไทย ผสานความร่วมมือ พลิกฟื้นประเทศด้วยนวัตกรรม

เอ็นไอเอ เดินหน้าปฏิรูปประเทศ ด้วยการพลิกฟื้นผ่านนวัตกรรมไทย จับมือพันธมิตรรุกสร้าง เครือข่ายนวัตกรรมไทย หวังเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันไทยสู่ประเทศฐานนวัตกรรม

หวังดันไทยสู่ประเทศฐานนวัตกรรม

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ดัชนีนวัตกรรมโลก หรือ GII ในปี2563 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 43 แต่มีดัชนีย่อยที่ติดอันดับ 1 ของโลกถึง 2 ดัชนี นั่นคือสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาระหว่างเอกชนและรัฐ รวมทั้งการเติบโตของการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ นอกจากนั้นประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์ก ประจำปี 2564 เป็นอันดับ 36 จาก 60 ประเทศ โดยมีสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเติบโตก้าวกระโดดเติบโตถึง 8 อันดับทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศฐานนวัตกรรมและฐานวิจัยอย่างชัดเจนมากขึ้น

แต่หลายคนมักจะไม่รับรู้ถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมในประเทศมากนัก และยังติดภาพว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งวัฒนธรรมทางด้านอาหารเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาทำให้ NIA ริเริ่มแคมเปญ “นวัตกรรมประเทศไทย” หรือ Innovation Thailand ขึ้น เพื่อสร้างจุดยืนทางนวัตกรรมให้แก่ประเทศไทย และสื่อสารภาพลักษณ์ของประเทศที่มีความโดดเด่นในด้านวัฒนธรรมและนวัตกรรมไปพร้อมกัน ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงการลงทุนหรือขยายตลาดนวัตกรรมไทยสู่ต่างประเทศ

สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือ

ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เกิดมุมมองต่อประเทศใหม่และการยกระดับภาพลักษณ์ต่อประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศฐานนวัตกรรมในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องมีส่วนร่วมทั้งร่วมแรงร่วมใจช่วยการผลักดันให้เกิดยอมรับศักยภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก จึงเป็นที่มาของการสร้าง “เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย” เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานชั้นนำของประเทศไทยจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม รวม 73 แห่ง

สำหรับแพลตฟอร์ม นวัตกรรมประเทศไทย ได้วางกรอบการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.จุดยืนนวัตกรรมประเทศไทย ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยอยู่ใน 30 อันดับแรกของดัชนีนวัตกรรมโลก ภายในปี 2573 เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศด้านนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับระดับโลก 2.ดีเอ็นเอนวัตกรรมประเทศไทย ที่มุ่งสร้างให้เกิดอัตลักษณ์ไทยรังสรรค์คุณค่าใหม่เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นใน 7 ด้าน และ

3.เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย ด้วยการสร้างให้เกิดพันธมิตรนวัตกรรมไทยสู่ตลาดโลกผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานชั้นนำของประเทศทั้งหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และสมาคมธุรกิจ และ 4.แดชบอร์ดนวัตกรรมประเทศไทย โดยมีเป้าหมายให้เกิดข้อมูลนวัตกรรมประเทศไทย ที่มีการรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลนวัตกรรมของประเทศที่มีความหลากหลายจากทุกภาคส่วน

สื่อสารนวัตกรรมไปในทิศทางเดียวกัน

โดย ตอบรับเข้าร่วมใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.เป็นผู้แทนประเทศในการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมความร่วมมือกันในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การลงนาม ความร่วมมือ การจัดสัมมนานวัตกรรม การจัดแสดงผลงานนวัตกรรม 2.สร้างการรับรู้และความตื่นตัวด้านนวัตกรรมขึ้นในประเทศไทย ผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างให้เกิดความตื่นตัวและสนใจนำนวัตกรรมฝีมือคนไทยมาใช้หรือต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และ 3.แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความชำนาญระหว่างกัน ผ่านความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ด้านนวัตกรรมทั้งแนวกว้างและแนวลึกระหว่างหน่วยงานในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย คือการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นต้องอาศัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อหนุนประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง จึงต้องสร้างเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งกระทรวง อว.มีบทบาทที่จะสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมและการสร้างนวัตกรรม

“สำหรับแพลตฟอร์ม นวัตกรรมประเทศไทย ที่ NIA ได้ริเริ่มขึ้นนี้ เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการพลิกฟื้นประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤต และเปรียบเสมือนเครื่องมือในการ สร้างมุมมองใหม่ของประเทศไทยที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งนำนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม และกิจกรรมการสร้าง เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย ในครั้งนี้ ถือเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้การกำหนดนโยบาย การดำเนินงาน และการสื่อสารด้านนวัตกรรมไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น ชาติแห่งนวัตกรรม (Innovation Nation)”