‘เอ็นอีเอฟ-เดอะแมทริกซ์’ ชนะเลิศ! สุดยอดหุ่นยนต์ทางการแพทย์

‘เอ็นอีเอฟ-เดอะแมทริกซ์’ ชนะเลิศ! สุดยอดหุ่นยนต์ทางการแพทย์

"ทีเซลส์" เผยโฉมทีมชนะเลิศคว้า คว้ารางวัลสุดยอดหุ่นยนต์ทางการแพทย์ โครงการ i-MEDBOT Innovation Contest 2021 หนุนโชว์ศักยภาพนวัตกรไทย ตอบโจทย์การแพทย์และสุขภาพวิถีใหม่ ยุคนิวนอร์มอล พร้อมเร่งต่อยอดเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศ

โครงการ i-MEDBOT Innovation Contest 2021 ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด The Next Normal of Healthcare Robotics โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ในปีนี้มีผู้ร่วมส่งผลงานมากกว่า 20 ทีมจากทั่วประเทศ ทั้งวงการแพทย์ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาคเอกชน โดยได้จัดงานรอบตัดสินในรูปแบบ Virtual Event ขึ้น เพื่อให้ผู้ผ่านเข้ารอบได้นำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการผู้ทรงวุฒิได้คัดเลือกผลงาน

เฝ้าระวังภัยใกล้ตัว 'แผลกดทับ'

มาดูกันที่ "NEF ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ในประกวด i-MEDBOT Innovation Contest 2021 ในครั้งนี้ ฝีมือ บริษัท เฟมเวิร์ค จำกัด KMUTT Spin-off โดย ดร.ปราการเกียรติ ยังคง สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

โดย ดร.ปราการเกียรติ เล่าว่า "แผลกดทับ" คือภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดขึ้นบ่อยกับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านการเคลื่อนไหว ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง โดยปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลต่อการเสียชีวิตได้

ดังนั้นทางทีมจึงได้พัฒนา NEF  ขึ้นโดยการเป็น เครื่องมือในการแจ้งเตือนและระวังแผลกดทับสำหรับผู้ป่วยติดเตียง โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอโอที (IoT)  ประมวลผลโดยปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการติดเซ็นเซอร์ไว้ใต้ฟูกที่นอนผู้ป่วย เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหว โดยภาพจะปรากฏบนหน้าจอมือถือ แสดงค่าว่า จุดสีแดงคือผู้ป่วยลงน้ำหนักจุดนั้นมากที่สุด และจุดสีน้ำเงินลงน้ำหนักบริเวณนั้นน้อยที่สุด และข้อมูลจากเซ็นเซอร์จะถูกส่งไปยังคลาวด์เพื่อประมวลผล แล้วส่งสัญญาณแจ้งเตือนมาที่โทรศัพท์มือถือ เพื่อเตือนให้ผู้ดูแลพลิกตัวผู้ป่วย

ซึ่งในระบบจะมีเอไอ ที่จะคอยเรียนรู้ข้อมูลการนอนของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งจะเป็นการเก็บข้อมูลให้กับแพทย์ได้ หากต้องการมอนิเตอร์พิเศษาสามารถใส่ข้อมูลคำสั่งเพิ่มเติมการเตือนเซ็นเซอร์ได้

อาจารย์ เล่าต่อไปว่า นวัตกรรมนี้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ 24 ชั่วโมง มีผลที่แม่นยำและเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยสูงสุด และการซ่อมบำรุงก็ไม่มีปัญหาเพราะติดไว้ใต้ฟูกจึงใช้วิธีแค่เช็ดน้ำยาก็สะอาดเรียบร้อย ซึ่งผลงานนี้ได้ออกสู่เชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อย และในอนาคตวางผนต่อยอดขยายผลสู่การใช้งานสำหรับการดูแลทารกและกลุ่มคนวัยทำงานเพื่อใช้ในสมาร์ทออฟฟิศต่อไป

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีถูกพัฒนาจากแล็บวิจัย มีงานวิจัยตีพิมพ์ จากนั้นทำมาตรฐานเพื่อให้เกิดความมั่นใจ และมีอนุสิทธิบัตรรับรอง เพราะฉะนั้นจะสามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นในเครือโรงพยาบาล เช่น พญาไท รามคำแหง สมิติเวช กรุงเทพฯ หรือแม้กระทั่งการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

"ราคาแบ่งเป็น 2 โมเดล ซึ่งราคาสำหรับภาคเอกชนเริ่มต้นที่ หมื่นบาท ส่วนระบบเช่าจะมีเงื่อนไขระยะเวลาราคาเริ่มต้นที่หลักพัน ซึ่งทั้งหมดนี้เขามองว่า"สิ่งที่จะทำคือทำให้สามารถปลดแอกงานวิจัยของมหาวิทยาลัยได้"

 

ฉายยูวียุติภัยโควิด

ถัดมาคือ "The Matrix" ผู้รับรางวัลชนะเลิศประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 จากผลงาน "Matrix UVC disinfection robot" ภายใต้การพัฒนาของ บริษัท อินเตอร์เฟส ซิสเทค จำกัด 

ด้าน ธนาวุฒิ ศรีนิรัตน์ จากทีม The Matrix กล่าวถึงผลงานว่า เนื่องจากปัญหาโควิดในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาทางวิศวกรรมได้ จึงมองว่า UVC สามารถทำลายเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ จึงได้ทำการพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ขึ้น

Matrix UVC disinfection robot" เป็นหุ่นยนต์สำหรับฆ่าเชื้อในอากาศโดยใช้รังสี UVC ที่ใช้ความยาวคลื่น 254 นาโนเมตร ผลิตขึ้นภายใต้มาตรฐานของ CE MARK อันเป็นมาตรฐานหลักสากล หุ่นยนต์ทำงานด้วยการระบุตำแหน่งพร้อมกับสร้างแผนที่ด้วยวิธีการ SLAM เพื่อเคลื่อนที่ไปยังจุดที่กำหนด และจะปล่อยรังสีออกมาเพื่อกำจัดเชื้อโควิด-19 ได้ใน 64 วินาที และลำแสงจะถูกปิดทันทีหากมีสิ่งมีชีวิตอยู่ในบริเวณที่หุ่นยนต์กำลังทำงาน ซึ่งผลงานนี้ได้ส่งทดสอบที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีพบว่าผลทดสอบออกมาอยู่ที่ 99.99% จะสั่งเกตว่าจะระทาง 4 เมตรในระยะเวลา 2 นาทีสามารถฆ่าเชื้อโควิดได้ทั้งหมด

“ผู้ที่สนใจผลิตนวัตกรรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์ว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ความต้องการของลูกค้าคืออะไร เช่น แพทย์หรือพยาบาลต้องการสิ่งไหน แล้วนำโซลูชันนั้นไปออกแบบและต่อยอดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานที่จะสามารถผลิตออกสู่ตลาดได้”

หนุนชีววิทยาศาสตร์ไทย

ด้าน ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรมศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ทีเซลส์ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศ ซึ่งมีมูลค่ารวมมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตยา ชีววัตถุ สารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ เครื่องสำอาง อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องมือและหุ่นยนต์ทางการแพทย์ นั้น มีอัตราการขยายตัวถึง 10% ต่อปี

โดยปัจจุบันระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติและ AI Medical ได้ถูกพัฒนาและนำมาใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม และมีแนวโน้มเข้ามามีบทบาททั้งต่อการรักษา การบริการทางการแพทย์ รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุ สำหรับโครงการประกวดหุ่นยนต์ทางการแพทย์ i-MEDBOT Innovation Contest ซึ่ง ทีเซลส์ ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องนั้น มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสนับสนุนผลงานของนวัตกรไทยให้สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและก้าวสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศ  

โดยการตัดสินในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่  รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช , คุณอดิศร อาภาสุทธิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนวาเมดิค จำกัด และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

คุณจักร โกศัลยวัตร CEO บริษัท วายอิง จำกัด และนายกสมาคมเฮลท์เทคไทย, ปวีณา อุทัยนวล CEO บริษัท เอ็มดีอาร์ โซลูชั่นส์ จำกัด และ มหิศร ว่องผาติ CEO และ Co-founder บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด  

ผลการแข่งขันการประกวดหุ่นยนต์ทางการแพทย์ i-MEDBOT Innovation Contest 2021

ประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข 

  • รางวัลชนะเลิศ รับโล่พร้อมเงินรางวัล 150,000 บาท ได้แก่ ทีม NEF

ผลงาน ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ

  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับโล่พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ ทีม CUREs

ผลงาน หุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Robotic Rehabilitation for Stroke Patients)

  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รับโล่พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ ทีม CARVER

ผลงาน CARVER-AMR - Autonomous Mobile Robot System for Hospital Logistics Management

  • รางวัลสุดยอดนักสร้างสรรค์ รับโล่พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ ทีม Stepsole Health AI

ผลงาน การพัฒนาโปรแกรมและอุปกรณ์ดิจิทัลสำหรับตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบคอมพิวเตอร์วิทัศน์ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมโดยการเรียนรู้ของเครื่อง

  • รางวัลแรงบันดาลใจสู่วิถีใหม่ รับโล่พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ ทีม HATAM

ผลงาน  Mentalize Analytic Headband with Tracking Application ( MAHTA )

ประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 

  • รางวัลชนะเลิศ รับโล่พร้อมเงินรางวัล 150,000 บาท ได้แก่ ทีม The Matrix

ผลงาน  Matrix UVC disinfection robot

  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับโล่พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ ทีม TRIPLE A

ผลงาน หุ่นยนต์ส่งอาหารและยาด้วยการควบคุมระยะไกล

  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รับโล่พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ ทีม AiHUB

ผลงาน Digital Stethoscope Uses Artificial Intelligence (หูฟังทางการแพทย์อัจฉริยะโดยใช้ AI)

  • รางวัลสุดยอดไอเดีย Next Normal รับโล่พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ ทีม AiHUB

ผลงาน Digital Stethoscope Uses Artificial Intelligence (หูฟังทางการแพทย์อัจฉริยะโดยใช้ AI)

  • รางวัลแรงบันดาลใจสู่วิถีใหม่ รับโล่พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ ทีม Great Tele Health

ผลงาน Dr.Drone…. Helmet for life  ( หมวกวิเศษต่อชีวิต )