ส.อ.ท.มองรัฐบาล 'เคลียร์ไม่ชัด' ศึกอภิปราย

ส.อ.ท.มองรัฐบาล 'เคลียร์ไม่ชัด' ศึกอภิปราย

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมองการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยังตอบ ปชช.ได้ไม่ชัดเจน หวัง 2 ฝ่ายหันหน้าเข้าหากันร่วมแก้ปัญหาจริงจัง

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมองการ อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยังตอบ ปชช.ได้ไม่ชัดเจน หวัง 2 ฝ่ายหันหน้าเข้าหากันร่วมแก้ปัญหาจริงจัง ส่วนเป้าหมายเปิดประเทศ 120 วัน ตามเป้าหมายของนายกรัฐมนตรีมีโอกาสเป็นไปได้ หากรัฐบาลเร่งกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับวัคซีนเกิน 50%’

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สุพันธุ์ มงคลสุธี ระบุ การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล มองว่าแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูง แต่ประชาชนก็ได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น จำนวนคนที่หายป่วยเริ่มมากกว่าคนป่วย และสิ่งสำคัญคือเมื่อฉีดวัคซีนจะทำให้ไม่เป็นผู้ป่วยหนัก ซึ่งเอกชนเองหวังว่าหลังจากนี้วัคซีนจะเข้ามาตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ได้จริง ทั้งไฟเซอร์ โมเดอน่า และอีกหลายตัวที่จะเข้ามา หากรัฐบาลปลดล็อกให้เอกชนนำเข้าได้เองมากขึ้น ก็จะทำให้สามารถคลายล็อกให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว แต่การตอบคำถามของรัฐบาลในหลายๆ เรื่องยังไม่ชัดเจน เอกชนหวังว่ารัฐบาลจะตอบได้ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องที่มาที่ไปของการใช้จ่ายต่างๆของรัฐบาล


ส่วนเป้าหมายการเปิดประเทศ 120 วันของนายกรัฐมนตรี ต้องดูหลังจากนี้ว่าฉีดวัคซีนได้ตามเป้าที่วางไว้หรือไม่ โดยแต่ละเดือนต้องได้มากกว่า 10 ล้านคนก็จะมีโอกาสเปิดประเทศได้มากขึ้น ซึ่งการจะเปิดประเทศได้ต้องฉีดได้อย่างน้อย 50% รวมถึงประชาชนมีการป้องกันตัวเองมากขึ้น มีการตรวจเชื้อ มีการจ่ายยา เอกชนทำงานเชิงรุกในการตรวจโควิดพร้อมทางภาครัฐเองได้ดำเนินการเรื่องวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ



+++ ส.อ.ท. ผนึกรัฐดัน BCG Model ยกระดับ 5 คลัสเตอร์อุตฯ +++

นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ร่วมผลักดันและดำเนินงานตามนโยบาย BCG ของประเทศ โดยร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือดำเนินโครงการการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อยกระดับภาคธุรกิจ 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม อาทิ ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง อาหาร ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มีความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการทุกขนาดโดยเฉพาะ SMEs รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีจุดแข็งและมีศักยภาพในการแข่งขัน ของประเทศ

โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรบริสุทธิ์น้อยลง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การส่งเสริม Smart Agriculture Industry การพัฒนา Platform การบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือที่เรียกว่า “Circular Material Hub” การจัดทำข้อตกลงร่วมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการจัดขยะพลาสติก การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมถึงโครงการการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน