'เดลตา-ซัพพลายเชน'ฉุดพีเอ็มไอจีนหดตัว

'เดลตา-ซัพพลายเชน'ฉุดพีเอ็มไอจีนหดตัว

'เดลตา-ซัพพลายเชน'ฉุดพีเอ็มไอจีนหดตัว

เว็บไซต์ข่าวซีเอ็นเอ็น บิสสิเนส รายงานว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนในเดือนนี้ชลอตัวลงเพราะมาตรการเข้มงวดด้านต่างๆของทางการจีนในช่วงที่พยายามรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อไม่ให้โรคระบาดนี้กลับมารุนแรงอีกครั้ง บวกกับวิกฤตด้านการขนส่งสินค้าทางเรือที่ยังแก้ไม่ตก

ผลสำรวจซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซิน ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ภาคการผลิตเดือนส.ค.ของจีนหดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย. ปี 2563 เพราะได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งปัญหาติดขัดด้านอุปทาน และต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งขึ้น

ดัชนีพีเอ็มไอ ภาคการผลิตของจีนเดือนส.ค.ลดลงสู่ระดับ 49.2 จากระดับ 50.3 ในเดือนก.ค. โดยดัชนีที่ระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตจีนเผชิญภาวะหดตัว

ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (เอ็นบีเอส) ระบุว่า ดัชนีพีเอ็มไอ ภาคการผลิตเดือนส.ค.อยู่ที่ระดับ 50.1 ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 50.4 ในเดือนก.ค. โดยเอ็นบีเอสระบุว่า ภาคธุรกิจจีนได้รับแรงกดดันจากการที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และราคาวัตถุดิบที่ระดับสูง

อย่างไรก็ตาม แม้ทางการจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นส่วนใหญ่ แต่การที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอยู่ผลักดันให้หน่วยงานของจีนประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวด ซึ่งรวมถึงการระดมตรวจเชื้อให้กับประชาชนหลายล้านคน รวมทั้งออกกฎเข้มงวดด้านการเดินทางและประกาศปิดท่าเรือหลายแห่ง

“การสำรวจล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนเมื่อเดือนที่แล้วหดตัว ขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19ระลอกใหม่ถ่วงกิจกรรมธุรกิจการบริการอย่างมาก ซึ่งการที่ดัชนีพีเอ็มไอที่ไม่ใช่ภาคการผลิตลดลงเพราะธุรกิจการบริการได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการควบคุมด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้าย ประกอบกับผู้บริโภคมีความระมัดระวังมากขึ้นเพราะกลัวว่าโรคโควิด-19จะหวนกลับมาระบาดหนักอีกระลอก”จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด นักเศรษฐศาสตร์จีนจากแคปิตัล อีโคโนมิกส์ ระบุ

ขณะที่ปัญหาต่างๆซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบห่วงโซ่อุปทานโลกและยังไมได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นยังคงเป็นหนึ่งปัจจัยลบฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน โดยปริมาณการค้าโลกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาอยู่ในภาวะโกลาหลขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นเพราะความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ปัญหาที่เกิดกับระบบห่วงโซ่อุปทานคือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ การปิดสายการผลิตของโรงงานผลิตจำนวนมากในเวียดนามเนื่องจากคนงานติดเชื้อโควิด-19 ประกอบกับการปิดท่าเรือหลายแห่งในจีนตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นท่าเรือหนิงโป-จ้าวชาน ทางตอนใต้ของเซี่ยงไฮ้ ปิดให้บริการมาหลายสัปดาห์หลังจากคนงานซึ่งทำงานประจำที่ท่าเรือมีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวก ยิ่งทำให้ปัญหาความแออัดของเรือขนส่งสินค้าที่เข้าเทียบท่าและไม่มีพนักงานขนสินค้าลงจากเรือรุนแรงมากขึ้น

“ผลสำรวจล่าสุดบ่งชี้ว่ายังคงมีปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะระยะเวลาในการขนส่งสินค้าจะยาวนานมากขึ้น ขณะที่บริษัทต่างๆยังคงสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อสำรองไว้อย่างต่อเนื่อง”อีแวนส์-พริตชาร์ด กล่าว

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19และการขนส่งสินค้าทางเรือไม่ใช่ปัญหาใหญ่แค่สองปัญหาที่จีนต้องเร่งแก้ไข เมื่อเร็วๆนี้ ทางการปักกิ่งเร่งปราบปรามบริษัทจำนวนมากที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยี และบริษัทติวเตอร์เอกชน

ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐ (เอสเอเอ็มอาร์)ได้สั่งปรับเทนเซ็นต์เป็นเงิน 500,000 หยวน (77,141 ดอลลาร์) ในข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาด เนื่องจากเทนเซ็นต์ได้เข้าซื้อกิจการของไชนา มิวสิคในปี 2559 ซึ่งการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวทำให้เทนเซ็นต์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงแต่เพียงผู้เดียวมากกว่า 80% และมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เนื่องจากสามารถเข้าถึงข้อตกลงพิเศษกับผู้ถือลิขสิทธิ์เพลงได้มากขึ้น

รัฐบาลจีนให้เหตุผลในการคุมเข้มธุรกิจของภาคเอกชนว่า เพราะกลัวว่าอิทธิพลของภาคเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งาน และความมั่นคงของประเทศ

หากพิจารณาจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนจะพบว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนประมาณอยู่ที่ประมาณ 38.6% หรือกว่า 1 ใน 3 ของจีดีพีจีนในปี 2563 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2551 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลจีนคอยส่งเสริมและผลักดันธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยี รวมถึงค่อนข้างให้อิสระเสรีในการขยายการเติบโต