ผ่าเส้นทาง ‘สินบนนำจับรถหรู’ กลวิธีฟอก ‘ผิด’ เป็น ‘ถูก’

ผ่าเส้นทาง ‘สินบนนำจับรถหรู’ กลวิธีฟอก ‘ผิด’ เป็น ‘ถูก’

เปิดโปงขบวนการหาผลประโยชน์จาก สินบนนำจับรถหรู กลวิธีฟอกผิดเป็นถูก ฟอกรถหรู “ผิดกฎหมาย” ให้กลายเป็นรถที่ “ถูกกฎหมาย” โดยมีผลประโยชน์ “ก้อนโต” เป็นแรงจูงใจ

จากกรณีที่ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยผลการตรวจสอบกรณีที่ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ อดีต “ผู้กำกับโจ้” ครอบครองรถยนต์หรูจำนวนหลายคัน 

พบว่าในช่วงปี 2554-2560 ผู้กำกับโจ้ ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เป็นเจ้าของสำนวนและนำส่งรถยนต์ที่ถูกจับกุม เนื่องจากกระทำผิดกฎหมายศุลกากรจำนวน 368 คันมาส่งมอบให้กรมศุลกากร โดยมีทั้งรถยนต์ทั่วไปและรถยนต์หรู

เมื่อกรมศุลกากรได้รับการส่งมอบรถยนต์ ก็นำมาเปิดประมูล “ขายทอดตลาด” ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยขายทอดตลาดได้จำนวน 353 คัน คิดเป็นเงินที่ได้รับจากการประมูลประมาณ 1 พันล้านบาท 

เงินที่ได้จากการประมูลดังกล่าวจะถูกจัดสรรเป็นค่าสินบนนำจับ 30% และ รางวัล 25% ซึ่ง “ผู้กำกับโจ้” จะได้รับส่วนแบ่งจากเงินรางวัลตามสัดส่วน

“เราบอกไม่ได้ว่า เงินนี้ ใครเป็นผู้ได้รับบ้าง เพราะไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นความลับทางราชการ" 

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า การล่าเงินรางวัลนำจับรถหรู มีการทำเป็นขบวนการแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ต้นทาง ขับรถมาทิ้ง ชี้เป้าให้จับ ตามไปซื้อคืน ขายทำกำไรในตลาด และ รับส่วนแบ่งรางวัลนำจับที่สูง 

กลวิธีนี้ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของขบวนการฟอกรถ“ผิดกฎหมาย” ให้กลายเป็นรถที่ “ถูกกฎหมาย” โดยมีผลประโยชน์ “ก้อนโต” เป็นแรงจูงใจ

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามของกรมศุลกากรท่านหนึ่ง เล่าถึงขบวนการหากินกับการจับกุมรถหรู ต้องแบ่งเป็น 2 ช่วง คือในอดีต และ ปัจจุบัน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันมาก โดยขอไม่พาดพิงถึงผู้กำกับโจ้ แต่เป็นการบอกเล่าถึง วิธีการทำมาหากินของขบวนการเหล่านี้ 

เขาเล่าว่า ในอดีตช่องทางการลักลอบนำเข้ารถหรูผิดกฎหมาย จะมาในหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมกันมากคือการนำเข้ามาตามชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ต้นทางของรถหรูส่วนใหญ่มาจาก 2 ประเทศ คือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ และบางส่วนมาจากฮ่องกง เพราะเป็นรถพวงมาลัยขวาเหมือนกัน

ช่องทางแรก นำเข้าจากมาเลเซีย วิธีการง่ายๆคือไปซื้อรถหรูจากตัวแทนจำหน่ายในมาเลเซียในลักษณะเงินผ่อน เมื่อไฟแนนซ์ผ่านก็นำรถเข้ามาเมืองไทย พูดง่ายๆคือ เชิดรถหนีไฟแนนซ์ เข้ามา 

ทำไมถึงทำตรงนี้ได้ เพราะข้อกฎหมายซื้อรถเงินผ่อนของมาเลเซียต่างจากของไทยที่เมื่อซื้อรถเงินผ่อน ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ และ ครอบครองรถ เป็นของเจ้าของรถ ไม่ใช่ไฟแนนซ์ ต่างจากของไทยที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์คือไฟแนนซ์ และคนซื้อคือผู้ครอบครอง

ดังนั้นเมื่อเครือข่ายซื้อรถหรูเงินผ่อนมาจากมาเลเซีย ก็นำผ่านด่านได้ เพราะมีเอกสารการครอบครองถูกต้อง กรมศุลกากรทั้ง 2 ฝ่ายก็ต้องให้ผ่านแดนได้ หลังจากนั้นเครือข่ายนี้ก็จะนำรถมาจอดทิ้งไว้ในฝั่งไทย และแจ้งตำรวจให้มาจับ เพราะเป็นรถนำเข้าแบบผิดกฎหมาย ไม่เสียภาษี ชุดจับกุมก็จะส่งเข้าสำนวนดำเนินคดี และเมื่อคดีสิ้นสุด ก็ส่งต่อให้กรมศุลกากรทำการขายทอดตลาดต่อไป

“ตรงนี้เป็นช่องโหว่ใหญ่ เราเคยมีปัญหากับมาเลเซียในกรณีนี้มาแล้ว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นกฎหมายนี้อยู่”

นี่ยังไม่นับรวมกรณีที่รถถูกโจรกรรมเข้ามา และ เข้าขบวนการฟอกรถให้ถูกกฎหมายผ่านขั้นตอนการขายทอดตลาด 

ช่องทางที่ 2 นำเข้าจากสิงคโปร์ เนื่องจากกฎหมายของสิงคโปร์ รถมีอายุการใช้งาน 10 ปี รถหรูพวกนี้เมื่อใช้งานมาได้สัก 8 ปี ก็จะถูกนำออกมาจำหน่าย มีขบวนการนายหน้ามาซื้อขาย เมื่อซื้อขายเสร็จก็นำเข้ามาเมืองไทย ข้ามแดนในรูปแบบของนักท่องเที่ยว และส่งมอบในไทย จากนั้นก็ทิ้งรถไว้ให้รอจับ

ถามว่าทำแบบนี้ทำไมและได้อะไร คุ้มค่าหรือไม่

เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร อธิบายว่า ถ้าเป็นเมื่อก่อน ทำแล้วคุ้ม แต่ปัจจุบันนี้ทำยังไงก็ไม่คุ้ม เพราะกรมศุลกากร กรมการขนส่งทางบก และ กระทรวงพาณิชย์ ปิดช่องโหว่ต่างๆเกือบหมดแล้ว ทำให้ขบวนการหากินทางนี้หายไปเกือบจะหมดแล้ว

เขาย้อนถึงขั้นตอนหากินกับขบวนการนำเข้ารถหรูในอดีตว่า เมื่อสามารถนำรถเข้ามาได้จาก 2 ช่องทางหลักๆข้างต้นแล้ว จนมาถึงขั้นตอนการประมูลขายทอดตลาด ซึ่งราคากลางที่ตั้งประมูล ก็จะเป็นตามสภาพรถ สภาพทรัพย์สิน 

จึงมีข่าวออกมาจนเป็นรู้กันว่า รถที่ขายทอดตลาดส่วนใหญ่ จะถูกถอดอุปกรณ์สำคัญออกไป เช่น กล่องสมองกล(อีซียู) หรือ ไม่มีกุญแจรถ เพื่อที่จะได้ประมูลออกไปในราคาที่ถูก โดยหน้าม้าของขบวนการ และนำไปขายต่อทำกำไรในตลาดเกรย์มาร์เก็ต

กลุ่มคนพวกนี้จะได้กำไรอย่างไรบ้าง คุ้มหรือไม่คุ้ม คำตอบคือ ในอดีตกฎหมายเดิม (พ.ร.บ.ศุลกากร ปี 2469) สูตรแบ่งเงินรางวัลนำจับ กำหนดไว้ว่า เมื่อสิ้นสุดการขายทอดตลาด เงินที่ได้จะแบ่งเป็น 45% เข้าหลวง 55% แบ่งให้ สายลับ 30% และ ผู้จับกุม 25% ของเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด ยังไม่นับรวมกำไรที่จะได้จากการนำรถไปขายต่อในตลาด

163021626294

“กรมศุลกากรไม่ทราบหรอกว่า เงิน 55% ที่ได้ไปนั้น สายลับ หรือ ผู้จับกุม จะไปแบ่งกันหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ที่ทราบ สายลับมักจะมอบอำนาจให้ผู้จับกุมเป็นผู้รับเงินแทน โดยอ้างว่าไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ ซึ่งก็เป็นอีกช่องโหว่ ที่เอื้อให้เกิดการทำกันเป็นขบวนการ”

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายสมัยก่อน ตราขึ้นมาในภาวะที่มูลค่าของกลางไม่ได้มากขนาดนี้ จึงจำเป็นต้องเอื้อให้มีการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย สินค้าหนีภาษี แต่ระยะหลังมานี้ บ้านเรามีคนซื้อรถหรูเยอะมาก ก็เลยเกิดขบวนการนี้ขึ้นมา คิดง่ายๆ ถ้ากรมศุลกากร ขายลัมโบร์กินี่ 1 คัน ที่ราคา 15 ล้านบาท ก็ได้รางวัลนำจับแล้ว 8.25 ล้านบาท

4 เงื่อนไขสกัดขบวนการค้ารถหรู ทำไปก็ไม่คุ้มเสี่ยง

แหล่งข่าวบอกว่า จะบอกว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่รับรู้การมีอยู่ของขบวนการนี้เลยก็คงไม่ถูกนัก เพียงแต่รู้แล้ว ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นจึงมีความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง เพื่อสกัดกั้นเส้นทางการหากินแบบนี้ บอกได้ว่า ถึงจะทำก็ทำได้ แต่ไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง เพราะเหตุผลหลายประการ

1. แก้กฎหมายลดรางวัลนำจับ 

ปัจจุบันมีการแก้กฎหมายรางวัลนำจับ (ตามพ.ร.บ.ศุลกากร 2560 และระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2560 มีผลเมื่อ 13 พ.ย. 2560) มีการปรับสูตรจ่ายกันใหม่ มีเพดานขั้นสูง โดยสายลับจะได้ 20% แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ผู้จับกุม 20% แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ที่เหลือ 60% นำส่งเข้าหลวง 

พูดง่ายๆต่อให้ขายรถ 1 คันได้ 100 ล้านบาท แต่ผู้จับกุม สายลับ ก็จะถูก limit รางวัลนำจับไว้ไม่เกิน 10 ล้านบาท จากเดิมเคยได้ถึง 55 ล้านบาทไปแบ่งกัน

2.กรมขนส่งทางบกเข้มงวดในการจดทะเบียนรถมากขึ้น โดยก่อนที่กรมศุลกากรจะนำรถยนต์ออกขายทอดตลาด รถทุกคันจะต้องจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกให้ถูกต้อง เพราะในอดีตเคยมีปัญหา ผู้ที่ชนะประมูลไปแล้ว ไม่สามารถนำไปจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกได้

ในขั้นตอนนี้ ก่อนที่จะจดทะเบียนให้ กรมขนส่งทางบก จะตรวจสอบข้อมูลรถเข้มงวดมาก เช่น สอบถามตำรวจสากล (อินเตอร์โพล)ว่า รถคันนี้ ตัวถังนี้ หมายเลขเครื่องนี้ มีการแจ้งหายไว้หรือไม่ มีประวัตินำเข้าชิ้นส่วนหรือไม่ หากมีก็จะตีเป็นรถจดประกอบ ทำให้จดทะเบียนไม่ได้

3.ประกาศกระทรวงพาณิชย์ วันที่ 13 มิ.ย.2562 กระทรวงพาณิชย์ประกาศ กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้ว รวมถึงรถจักรยานยนต์ เป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 ถ้ามีรถที่นำเข้ามาแบบผิดกฎหมาย ทุกคันจะต้องทำลายทิ้งสถานเดียว ห้ามนำออกไปขายทอดตลาด ทุกวันนี้รถยนต์ที่กรมศุลกากรนำออกมาประมูล จึงเป็นรถยนต์ตกค้างก่อนปี 2562 ซึ่งเหลือไม่มากแล้ว

อย่างไรก็ตามคุณสมบัติของรถยนต์/จักรยานยนต์ ที่กระทรวงพาณิชย์ อนุญาตให้นำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่1.รถสถานทูตที่ขอนำเข้ามาใช้ 2.รถขององค์กรระหว่างประเทศ หรือ รถที่บริจาค 3.รถเก่าที่นักเรียน นักศึกษานำเข้ามาใช้ส่วนตัว

4.รถที่กรมศุลกากรนำออกขายทอดตลาด มีการปรับกติกาใหม่ โดยจะขายรถที่สามารถขับขี่ได้เท่านั้น รถที่ไม่ ”สมประกอบ” ขับเคลื่อนไม่ได้ อุปกรณ์ไม่ครบ ก็จะไม่ถูกนำขายทอดตลาดเด็ดขาด ซึ่งทำให้ขบวนการถอดชิ้นส่วนสำคัญของรถ หวังจะให้รถราคาถูกลงนั้น หมดโอกาสที่จะใช้ช่องทางนี้ ถึงจะส่งรถมา แต่ถ้า“ไม่สมประกอบ” กรมศุลกากรก็จะไม่ขายทอดตลาดให้ สุดท้ายคนนำจับ ชุดจับกุม ก็จะไม่ได้ส่วนแบ่ง ซึ่งขณะนี้ตอนนี้รถไม่สมประกอบ จอดอยู่ลานของกรมศุลกากรเป็น 100 คัน