'เอ็นไอเอ' อัพสปีดอารีเทค ดึงสตาร์ทอัพเชื่อมกลุ่มทุนลงทุน 'อีอีซี'

'เอ็นไอเอ' อัพสปีดอารีเทค ดึงสตาร์ทอัพเชื่อมกลุ่มทุนลงทุน 'อีอีซี'

ดันไทยฐานดีพเทคโลก! 'เอ็นไอเอ' นำร่องดันธุรกิจสตาร์ทอัพกลุ่มอารีเทค ที่มีศักยภาพในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และโลกเสมือนจริง จับคู่ธุรกิจกับ 20 บริษัทขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี คาดปี 64 สตาร์ทอัพดังกล่าวจะได้รับการลงทุนไม่ต่ำกว่ารายละ 30 ล้านบาท

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เอ็นไอเอ ยังคงเดินหน้าผลักดันสตาร์ทอัพกลุ่ม “อารีเทค (ARI Tech) ได้แก่ A - Artificial Intelligence (เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) R-Robotics (เทคโนโลยีหุ่นยนต์) และ I- Immersive (เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง) ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้จัดกิจกรรม “Business Matching” ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพในอีอีซี หรือ NIA Deep Tech Incubation Program @EEC

ซึ่งเป็นการเฟ้นหาสตาร์ทอัพด้าน ARI Tech ที่จะมีโอกาสทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี และพร้อมนำเทคโนโลยีเชิงลึกจากสตาร์ทอัพเหล่านี้เข้าไปช่วยเสริมประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ได้คัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีความสามารถในด้าน ARI Tech จำนวน 10 ราย จับคู่กับบริษัทที่ดำเนินงานในพื้นที่อีอีซีจำนวนกว่า 20 ธุรกิจ โดยมีเป้าหมายให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่เกิดการเรียนรู้การทำงานแบบสตาร์ทอัพ พร้อมดึงศักยภาพด้านต่าง ๆ มาช่วยแก้ไขปัญหา โดยสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกประกอบด้วย

1.Zeen: ระบบ AI บริหารจัดการการขายสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับร้านค้าปลีกอย่างถูกต้องและแม่นยำ

2. Crest Kernel: ระบบตรวจสอบความปลอดภัยและวิเคราะห์ข้อมูลการบริโภคจากข้อมูลภาพกล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์

3. Verily Vision: ระบบกล้อง AI เก็บข้อมูลทะเบียนรถขนส่ง และหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์สินค้าอัตโนมัติสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์

4. AltoTech: AIoT แพลตฟอร์ม วิเคราะห์ ตรวจสอบ และจัดการการใช้พลังงานภายในโรงแรม

5. MOVEMAX: แพลตฟอร์มบริหารงานขนส่งและกระจายสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน

6. AUTOPAIR: แพลตฟอร์มบริหารจัดการชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดซื้อและบริหารค่าใช้จ่าย

7. GENSURV: รถฟอร์คลิฟท์ไร้คนขับ นำทางด้วยเลเซอร์ สำหรับการขนย้ายพาเลตในคลังและสายการผลิต

8. BlueOcean XRSIM+: ระบบจำลองการฝึกอบรมเสมือนจริง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมด้านไอโอที

9. ENRES: IoT และ AI platform สำหรับการบริการจัดการพลังงานเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย

และ 10. IFRA-Machine: แพลตฟอร์มไอโอทีจัดเก็บข้อมูลจากเครื่องจักร และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อลดการหยุดทำงานของเครื่องจักร

“กิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกกับบริษัท มากกว่า 20 บริษัท อาทิ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นทั้งพี่เลี้ยง (Mentor) ในการให้คำแนะนำ และเป็นพื้นที่ทดสอบโซลูชั่นการทำงานงานจริง (Sandbox) ระหว่างบริษัทพร้อมกับลูกค้า เพื่อยกระดับให้ผลิตภัณฑ์และบริการที่กำลังพัฒนาสามารถแก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น"

ซึ่งจะช่วยเติมเต็มศักยภาพการเป็นสตาร์ทอัพที่สมบูรณ์แบบ เช่น การมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน ซึ่งสำคัญอย่างมากต่อการได้รับการระดมทุน การรู้จักวิธีคิดแบบ Growth Mindset ไม่มองว่าอุปสรรคคือปัญหาของการทำงาน รวมถึงพัฒนาระบบทางการตลาด ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2564 นี้สตาร์ทอัพทั้ง 10 ราย จะได้รับการลงทุนไม่ต่ำกว่ารายละ 30 ล้านบาท รวมทั้งมีโอกาสได้เติบโตได้ในทั้งพื้นที่อีอีซีหรือพื้นที่อื่นในระยะยาวโดยไม่ต้องแข่งขันสูง เนื่องจากเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่เลียนแบบได้ยาก ตลอดจนมีสตาร์ทอัพที่เป็นคู่แข่งจำนวนน้อยรายที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้

พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า NIA ยังคงตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพในด้านดีพเทค ให้เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 100 ราย ภายในปี 2566 เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับจุลภาค เช่น การเข้าไปแก้ไขปัญหาเกษตรกร การจัดการธุรกิจขนาดกลาง - เล็ก ต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจในระดับมหภาคด้วยการช่วยปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือธุรกิจแบบดั้งเดิมให้ไปสู่ความทันสมัยและแข่งขันได้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

นอกจากนี้ ยังจะผลักดันสตาร์ทอัพให้เข้าสู่พื้นที่อีอีซีให้มากขึ้นโดยอาศัยปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่

  • มหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านงานวิจัย ที่มีไม่ต่ำกว่า 10 แห่งทั่วประเทศ และในพื้นที่อีอีซีมีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงสถาบันวิทยสิริเมธี (Vistec) ที่ขณะนี้ได้กลายเป็นจุดสำคัญในการกระจายนวัตกรรมและองค์ความรู้ให้แก่สตาร์ทอัพในระดับท้องถิ่น

  • เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพได้ทดลองใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ในผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทเอกชนรายใหญ่

  • การพัฒนาย่านนวัตกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก 4 ย่าน ได้แก่ ย่านนวัตกรรมบางแสน ย่านนวัตกรรมศรีราชา ย่านนวัตกรรมพัทยา ย่านนวัตกรรมอู่ตะเภา-บ้านฉาง รวมถึงกิจกรรมด้านอื่นที่ทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ทั้งการให้ทุนสนับสนุนผ่านโครงการนวัตกรรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม ย่านนวัตกรรมจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตในการลงทุน การสร้างเครือข่าย การรวมกลุ่มธุรกิจ และศูนย์รวมของโอกาสทางด้านอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรมอวกาศ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมพลังงาน ฯลฯ

“NIA เชื่อว่าอีอีซีจะเป็นพื้นที่แห่งโอกาสในการเติบโต การลงทุน รวมถึงเป็นเมืองที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพด้านดีพเทค ดังเช่นที่กรุงเทพมหานครเคยได้รับการจัดอันดับและเป็นที่ยอมรับในด้านระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพระดับโลก โดยคาดหวังว่าพื้นที่ดังกล่าวก้าวไปสู่การเป็น Global Startup Hub หรือศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลกที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานและการรังสรรค์นวัตกรรรม รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากสตาร์ทอัพจากนานาชาติที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงได้เช่นเดียวกัน” พันธุ์อาจ กล่าว