ไฮไลท์ 3 “กองทุนเปิดใหม่” ในปี 64

ไฮไลท์  3  “กองทุนเปิดใหม่” ในปี 64

"มอร์นิ่งสตาร์" เผย 8 เดือนแรกปีนี้ มีกองทุนเปิดใหม่ 245 กองทุน กองทุนหุ้นนำโด่ง 169 กองทุน โดยผู้ลงทุนตอบรับ "กองทุนหุ้นต่างประเทศ" มากสุด ด้วยมูลค่า IPO หลายพันล้าน เปิดไฮไลท์3กองทุนสุดฮิต “ B-GTO คว้าแชมป์หุ้นโลก - TGENOME เม็ดเงินทะลักสูงสุด 9พันล้าน -TSP2-nurturer กองทุนผสมมาแรง

ในปีนี้ยังคงมี "กลุ่มตราสารทุน" ที่มีจำนวนกองทุนเปิดใหม่สูงสุด โดย"กองทุนต่างประเทศ" มีการตอบรับจากนักลงทุนที่ดีด้วยมูลค่า IPO หลายพันล้านบาทในหลายกองทุน ประเภทตราสารหนี้มีกองทุนเปิดใหม่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับในอดีต ขณะเดียวกันยังมีกองทุนทริกเกอร์ทยอยเปิดใหม่ในทุกเดือน

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)  รายงานว่า กองทุนเปิดใหม่ในช่วงเกือบ 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.2564 )  มีจำนวน 245 กองทุน (ไม่รวม term fund) เป็น “กองทุนตราสารทุน” มากที่สุดด้วยจำนวน 169 กองทุน (รวมทุกชนิดหน่วยลงทุน) ในขณะที่ กลุ่ม “กองทุนตราสารหนี้” มีกองทุนเปิดใหม่ 13 กองทุน หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว

 นอกจากนี้  “กองทุนทริกเกอร์” ยังมีกองทุนทยอยเปิดใหม่ทุกเดือนในปีนี้ รวมทั้งสิ้น 32 กองทุนโดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในต่างประเทศ เช่น จีนหรือทั่วโลก และมีกองทุนที่เข้าเงื่อนไขปิดกองทุนแล้วเพียง 5 กองทุน รวมมูลค่าการลงทุนที่เหลืออยู่ 3.1 หมื่นล้านบาท

163007326938

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)  พบว่า ไฮไลท์ กองทุนเปิดใหม่ใน ปี 2564 มีทั้งสิ้น  3 กองทุนที่ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนโดยในช่วงเปิดขายIPO มีเม็ดเงินระดับพันล้านบาทขึ้นไป ดังนี้ 

โดย กองทุนหุ้นทั่วโลก" ซึ่งเป็นกองทุนเปิดใหม่มากที่สุด  นำโดย "กองทุนบัวหลวงโกลบอลธีมเมติกออพพอร์ทูนิตี้ (B-GTO)" และ"กองทุนหุ้นที่ผู้ลงทุนให้การตอบรับมากที่สุด"  นำโดย กองทุนเปิด ทิสโก้ Genomic Revolution (TGENOME)”  และ "กองทุนผสมที่ได้รับความสนใจมากที่สุด" นำโดย "กองทุนเปิด ttb smart port 2 nuturer  (TSP2-nurturer )" 

163011172334

สำหรับ “กองทุนตราสารทุน” นั้น  ประเภท “กองทุนหุ้นทั่วโลก (Global Equity)  มีจำนวน “กองทุนเปิดใหม่” มากที่สุด รวม 37 กองทุน จากเทรนด์การลงทุนต่างประเทศที่เติบโตมาตั้งแต่ปีที่แล้ว 

โดย “กองทุนบัวหลวงโกลบอลธีมเมติกออพพอร์ทูนิตี้ (B-GTO)  เป็นกองทุนที่ได้รับความสนใจสูงสุดสำหรับกลุ่มนี้จากที่มีเม็ดเงินจากผู้ลงทุนระดับ 3 พันล้านบาทในช่วงเปิดขาย

 “กองทุน B-GTO”  เป็นกองทุนฟีดเดอร์ไปที่ Wellington Global Innovation เป็นกองทุนที่เปิดมาเป็นเวลาราว 4 ปี มีการลงทุนธุรกิจนวัตกรรมใหม่หรือได้ประโยชน์จากนวัตกรรมทั่วโลกเช่นด้านการเงิน สุขภาพ ซึ่งหุ้นหลายตัวก็เป็นที่รู้จักกันดีเช่น Amazon.com, Alphabet, Facebook หรือ Visa เป็นต้น

โดยนับตั้งแต่ต้นปีกองทุน Wellington มีผลตอบแทนสะสม 11.9% และมีมอร์นิ่งสตาร์เรตติ้งระดับ 5 ดาว นอกจากนี้บลจ.บัวหลวงยังมีกองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืน (B-SIP) ที่เปิดใหม่ในปีนี้ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่ระดับเกือบ 3 พันล้านบาท

 

ตามด้วย “กองทุนหุ้นที่มีผู้ลงทุนให้การตอบรับมากที่สุดในช่วงเปิดขาย” 

โดย  “กองทุนเปิด ทิสโก้ Genomic Revolution (TGENOME)”  มูลค่า IPO สูงสุด 9 พันล้านบาท

 “กองทุน TGENOME เป็นกองทุนเปิดใหม่ปีนี้ที่ผู้ลงทุนให้การตอบรับสูงสุดด้วยมูลค่ากว่า 9 พันล้านบาท เน้นลงทุนกลุ่มที่เกี่ยวกับธุรกิจการดูแลสุขภาพที่เป็นรูปแบบใหม่ ต่างจากรูปแบบเดิมที่อาจเน้นในกลุ่มผู้ผลิตยาหรือเวชภัณฑ์ ประกันสุขภาพ โดยเป็นกองทุนฟีดเดอร์ไปที่ ARK Genomic Revolution ETF ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 180% ในรอบปีที่แล้ว หรือสูงสุดของกองทุน ARK ETF 5 กองทุนที่มีขายในประเทศไทย แต่ในปีนี้อาจเป็นปีที่ค่อยดีนัก โดยผลตอบแทนสะสมตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ -11.5% หรือต่ำสุดใน 5 กองทุน สะท้อนความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในหมวดธุรกิจ

สุดท้ายทางฝั่ง กองทุนผสม  มีกองทุนเปิดใหม่รองลงมา รวม 18 กองทุน   "กองทุนผสมที่ได้รับความสนใจมากที่สุด"

โดย "กองทุนเปิด ttb smart port 2 nuturer  (TSP2-nurturer )" เป็นกองทุนที่ได้รับความสนใจสูงด้วยมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาทในช่วง IPO

"กองทุน TSP2-nurturer"  เป็นหนึ่งในกองทุน ttb smart port ที่มีทั้งหมด 5 กองทุน โดยแบ่งตามระดับความเสี่ยงที่เป็นไปตามพอร์ตการลงทุน 1 ถึง 5 โดยเสี่ยงต่ำสุดคือ ttb smart port 1 preserver จะอยู่ในประเภทตราสารหนี้ และ ttb smart port 5 go-getter จะเป็นกองทุนตราสารทุน   โดย ttb smart port นี้ ปรับรูปแบบมาจาก TMB smart port ที่เดิมมียอดการลงทุนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง แต่ ttb smart port ใหม่นี้มีปรับให้เริ่มต้นลงทุนที่ 1 บาท  

สำหรับ "กองทุน TSP2-nurturer"  ลงทุนในตราสารทุนไม่เกิน 40% มี Amudi Asset Management เป็นผู้รับดำเนินการงานด้านจัดการลงทุนของกองทุน ช่วยดูแลปรับพอร์ตของ ttb smart port ได้ตลอดเวลาตามสภาวะตลาดได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ตั้งแต่จัดตั้งพอร์ตเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 พอร์ตที่ความเสี่ยงสูงสุด (Aggressive) สามารถทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 7.02% ต่อปี (ตั้งแต่ ม.ค. 2560 จนถึง มิ.ย.2564 )

เมื่อมี “กองทุนเปิดใหม่” ออกมาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เราก็ต้องกลับมาพิจารณาถึง “การจัดระเบียบพอร์ตลงทุน”  และหากถามว่า “พอร์ตการลงทุน” ในปัจจุบันของเรานั้นดีพอหรือยัง  อาจถึงเวลาที่เราต้องทำการจัดระเบียบสินทรัพย์ลงทุนต่าง ๆ ใหม่ การเหลือไว้แต่สินทรัพย์ที่ดีโดยลดจำนวนสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ให้น้อยลง ก็จะช่วยให้นักลงทุนสามารถตีกรอบการลงทุนได้ชัดเจน ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ และจดจ่อกับสิ่งที่ลงทุนอยู่ได้มากขึ้น

“ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การจัดระเบียบพอร์ตโฟลิโอนั้น ให้แยกดูว่าสินทรัพย์ใดเป็นส่วนที่ดีที่ควรเก็บไว้ ไม่ใช่แค่เป็นสิ่งที่เราลงทุนอยู่เท่านั้นแต่ต้องเป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อผู้ลงทุนด้วย เช่น ช่วยให้ผู้ลงทุนไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจไว้ หรือสร้างความมั่งคั่งให้เพิ่มขึ้น สร้างรายได้ หรือความมั่นคงให้กับผู้ลงทุน

ดังนั้น การตรวจสอบพอร์ตโฟลิโออย่างแรกที่ต้องทำคือ พิจารณาดูว่าสินทรัพย์ไหนควรเก็บไว้ลงทุนต่อ และอันไหนที่เราควรเอาออกไปจากพอร์ตโฟลิโอ” 

การตรวจสอบพอร์ตโฟลิโอ

เริ่มต้นจากการดูก่อนว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่นั้น สามารถช่วยตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินที่เราวางไว้หรือไม่ โดยเป้าหมายหลักของการลงทุน อาจแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ เพื่อการเติบโตของเงินลงทุน (Growth) เพื่อสร้างรายได้หรือกระแสเงินให้แก่ผู้ลงทุน (Income) และเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่ผู้ลงทุน (Stability) นอกจากนี้ การลงทุนยังสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตโฟลิโอให้มีความเหมาะสมกับผลตอบแทนที่ได้รับอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในหุ้นที่ให้อัตราเงินปันผลที่สูง เพื่อมุ่งหวังได้รับเงินปันผล (Income) และสร้างการเติบโตของเงินลงทุนในอนาคต (Growth) หรือการลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อหวังผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ (Income) และสร้างความมั่นคงของเงินลงทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ต่ำ (Stability) ทั้งนี้ หากเรารู้แล้วว่าเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการลงทุนของเราคือเพื่ออะไร เราก็จะสามารถจัดระเบียบสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่โดยตรวจสอบดูได้ว่าสินทรัพย์นั้น ๆ ให้ผลตอบแทนได้ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการในระยะยาวได้หรือไม่ ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็ควรเอาออกไปจะดีกว่า ทั้งนี้ การประเมินสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่สามารถทำได้ตามรูปแบบต่อไปนี้

เป้าหมายเพื่อการเติบโตของเงินลงทุน (Growth)

หากการลงทุนนั้นมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาว เราอาจวัดผลตอบแทนในระยะยาวของสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ว่าสร้างผลตอบแทนได้ดีแค่ไหนโดยเปรียบเทียบกับ Total-market equity index fund ก็ได้ เช่น เปรียบเทียบกับ Total U.S. market index funds ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 17% ในตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปกติแล้วการลงทุนในหุ้นสามัญก็ควรจะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าเกณฑ์ที่นำมาใช้วัดผล นอกจากนี้การลงทุนนั้น ๆ ยังอาจช่วยให้บรรลุเป้าหมายอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น กระจายความเสี่ยงจากการลงทุน สร้างรายได้หรือกระแสเงินสดให้สม่ำเสมอ เป็นต้น

เป้าหมายเพื่อสร้างรายได้สม่ำเสมอ (Income)

กรณีเป็นการลงทุนในหุ้นเพื่อหวังเงินปันผลก็อาจเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้รับกับอัตราเงินปันผลของดัชนีอ้างอิงได้ เช่น เทียบกับ S&P500 ที่ให้อัตราเงินปันผลเฉลี่ย 1.2% ต่อปี แต่หากเป็นการลงทุนในตราสารหนี้นั้นหากกำหนดอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับในอัตราที่สูงก็อาจทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นตามมาได้เนื่องจากตราสารหนี้ที่เสนอผลตอบแทนให้สูงอาจเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีคุณภาพด้อยลงนั่นเอง ซึ่งก็อาจเป็นการขัดแย้งเป้าหมายเรื่องความมั่นคงของเงินลงทุนได้ (Stability) แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตราสารหนี้ก็ยังให้ความปลอดภัยต่อเงินลงทุนที่สูงกว่าการลงทุนในหุ้นอยู่ดี

เป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน (Stability)

เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงให้แก่เงินลงทุนที่มี การลงทุนในตราสารหนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียเงินลงทุนได้และอาจสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย แต่หากเลือกลงทุนในหุ้นก็ควรจะเป็นกลุ่มที่มีความผันผวนต่ำกว่าตลาดโดยรวมเพราะในยามที่ตลาดหุ้นปรับลงมาก ๆ หุ้นที่ผันผวนต่ำก็จะขาดทุนน้อยกว่านั่นเอง