จับกระแส ‘คลาวด์แห่งอนาคต’ ‘โอกาส’ ในโลกธุรกิจวิถีใหม่

จับกระแส ‘คลาวด์แห่งอนาคต’ ‘โอกาส’ ในโลกธุรกิจวิถีใหม่

ไม่มีโซลูชั่นแบบ one-size-fits-all สำหรับโรดแมปของคลาวด์

ทุกวันนี้ องค์กรต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างให้ความสนใจใน “นวัตกรรมคลาวด์” เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ช่วยให้องค์กรเพิ่มความเร็ว คล่องตัว ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างฉับไว

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายงบประมาณโดยรวมสำหรับเทคโนโลยีคลาวด์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2567 เติบโตเฉลี่ยกว่า 20% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

นาวีน เมนอน ประธานประจำภูมิภาคอาเซียน ซิสโก้ กล่าวว่า ความท้าทายที่สำคัญสำหรับองค์กรในยุคดิจิทัลคือ “ความเข้าใจในการจัดการการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบคลาวด์ในลักษณะที่ราบรื่น ไร้รอยต่อ และปลอดภัย

สำหรับแนวทางที่องค์กรต่างๆ จะใช้ประโยชน์จากพับบลิคคลาวด์ ไพรเวทคลาวด์ และไฮบริดคลาวด์ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สอดรับกับความต้องการด้านธุรกิจ การดำเนินงาน การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น กฎระเบียบ ความเสี่ยง การขยายธุรกิจ และความต้องการด้านข้อมูล แต่ละองค์กรย่อมมีแนวทางที่แตกต่างกัน

การจัดทำแผนการพัฒนาธุรกิจหลังการแพร่ระบาดจะขึ้นอยู่กับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงขององค์กรนั้นๆ รวมถึงส่วนงานที่จะต้องโฟกัสเป็นพิเศษ โดยจากนี้แนวการพัฒนาสู่แพลตฟอร์มคลาวด์จำเป็นต้องได้รับการออกแบบและปรับแต่งให้สอดคล้องกับธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย โดยมีความท้าทายที่สำคัญคือ องค์กรจำเป็นที่จะต้องจัดการการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบคลาวด์อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ผลการวิจัยเกี่ยวกับอนาคตของคลาวด์ในเอเชียแปซิฟิก “The Future of Cloud in Asia Pacific” โดย ซิสโก้ และ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ระบุว่า 4 ขั้นตอนของการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ ซึ่งองค์กรสามารถจัดทำแผนงานตามขั้นตอนนี้โดยไม่จำเป็นต้องยึดถือตามกรอบเวลามาตรฐานที่แน่ชัด

แต่ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วจำเป็นที่จะต้องมี ทริกเกอร์ สำหรับการเปลี่ยนย้ายไปสู่ขั้นตอนถัดไป เช่น ความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป หรือแผนงานทางด้านดิจิทัลขององค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลง

ขั้นที่ 1 เบื้องต้น/เฉพาะกิจ: ขั้นตอนเริ่มต้นนี้ องค์กรไม่ได้ปรับใช้นวัตกรรมคลาวด์อย่างจริงจัง แต่อาจมีการปรับใช้ในลักษณะเฉพาะกิจ

ขั้นที่ 2 ทดลอง: มีการทดลองใช้งานโซลูชั่นคลาวด์อย่างกว้างขวาง และมีการติดตั้งใช้งานภายในองค์กร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า หรือใช้ประโยชน์จากระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขั้นที่ 3 ขยายขอบเขต: กำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนสำหรับการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ทั่วทั้งองค์กร และมีการใช้ระบบคลาวด์ที่บูรณาการเข้ากับระบบหลักของธุรกิจ

ขั้นที่ 4 ดำเนินการในขอบเขตที่กว้างขวาง: ในขั้นตอนระดับสูงนี้ มีการปรับเปลี่ยนไปสู่คลาวด์สำหรับทุกแง่มุมของเทคโนโลยี และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องสำหรับการปรับปรุงเทคโนโลยีและการจัดการวงจรการใช้งาน