สุ่มตรวจเชิงรุก แก้ปัญหาโควิด-19 ในตลาด

สุ่มตรวจเชิงรุก แก้ปัญหาโควิด-19 ในตลาด

กรมอนามัย ยกระดับมาตรการป้องกันในตลาด ใช้แผนเผชิญเหตุ สุ่มตรวจเชิงรุก แก้ปัญหาโควิด-19

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ตลาดเป็นสถานที่รวมกลุ่มทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ขนส่งสินค้า ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในตลาด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 10 สิงหาคม 2564 จำนวน 23 จังหวัด 132 แห่ง พบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวน 14,678 ราย ทำให้ต้องมีการยกระดับป้องกันโดยใช้การเฝ้าระวังเชิงรุกร่วมกับแผนเผชิญเหตุด้วยการสุ่มตรวจผู้ขายและแรงงานในตลาดสด ร้อยละ 10 เมื่อมีการ สุ่มตรวจแล้ว หากพบผู้ติดเชื้อ 1 คน จะสั่งปิดเฉพาะแผงค้าที่พบการติดเชื้อ จำนวน 14 วัน แต่หากพบผู้ติดเชื้อ 2 คนขึ้นไป ให้ทำความสะอาดและปรับปรุงสุขาภิบาล ปิดแผงที่พบผู้ติดเชื้อ 14 วัน ออกคำสั่งแยกกักผู้ติดเชื้อหรือกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่ให้เข้าทำงานในตลาดและให้ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจคัดกรองเชิงรุกต่อไป ถ้าพบผู้ติดเชื้อไม่เกิน ร้อยละ 10 ให้ปิดแผงค้าที่พบให้ครบ 14 วัน และเปิดตลาดได้ในวันที่ 4 นับจากวันที่สั่งปิดตลาด แต่หากพบผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 10 ให้ปิดตลาดต่อให้ครบ 14 วัน และดำเนินการสำรวจชุมชนที่พักรอบตลาดพิจารณาทำมาตรการCommunity Quarantine / Isolation และให้การช่วยเหลือในระหว่างการกักตัว มีการตรวจตามมาตรการผ่อนปรนในวันที่ 13-14 นับจากวันที่พบผู้ติดเชื้อรายแรก และพิจารณาให้ฉีดวัคซีนชุมชนรอบตลาดและ ผู้ค้าขายที่ตรวจไม่พบการติดเชื้อ 

          

“นอกจากนี้ เพื่อช่วยชะลอการแพร่ระบาดในตลาดจึงจำเป็นต้องยกระดับมาตรการป้องกัน 3 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านการป้องกันคน ให้มีการคัดกรองคน โดยผู้ที่ไม่มีอาการสงสัยการติดเชื้อ ไม่มีประวัติเสี่ยง ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงสามารถเข้าตลาดได้ และเสริมด้วยการตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ตามความพร้อม หรือคัดกรองผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่หากเคยติดเชื้อหรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้แสดงหลักฐานว่าได้แยกกักหรือกักกันไม่น้อยกว่า 14 วัน  2) ด้านการป้องกันสถานที่ ให้ตลาดประเมินและปฏิบัติตามมาตรการผ่าน Thai Stop COVID Plus จัดให้มีจุดเข้า-ออกทางเดียวหรือลดจุดลง จัดคนควบคุมกำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน DMHTTA โดยเคร่งครัด จัดระบบสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม ให้มีการเว้นระยะห่าง ไม่แออัด มีการระบายอากาศที่ดี ทำความสะอาดทำลายเชื้อทุกวันโดยเฉพาะบริเวณพื้นผิวสัมผัสให้ทำความสะอาดทุกชั่วโมง และจัดระบบเพื่อลดกิจกรรมที่สัมผัสใกล้ชิดกัน เช่น ห้ามรวมกลุ่มพูดคุยหรือมีกิจกรรมเสี่ยง มีการจัดพื้นที่สำหรับกินอาหารโดยเฉพาะ ใช้วิธีจ่ายเงิน digital หรือ e-Payment  และ  3) ด้านการจัดการระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค เช่น มีการสุ่มตรวจเฝ้าระวังเชิงรุก ตรวจคนและตรวจสิ่งแวดล้อม จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่แยกกักหรือกักกันกรณีพบผู้ติดเชื้อหรือพบผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก ตลอดจนพิจารณาควบคุมการเดินทางไป-กลับ รวมไปถึงที่พักอาศัยของคนในตลาดด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว