มธ.เร่งจัดหา 'ATK' ราคาถูก 30-50 บาท พร้อมจับมือเอกชน จัดหาวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3

มธ.เร่งจัดหา 'ATK' ราคาถูก 30-50 บาท พร้อมจับมือเอกชน จัดหาวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3

ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ แถลงข้อบังคับการนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์ ระบุช่วยปลดล็อกแก้ปัญหา พร้อมเดินหน้าจัดหา 'ATK' ราคาชุดละ 30-50 บาท ย้ำไม่ได้ซื้อแจกแต่ช่วยพิจารณาราคา ประสิทธิภาพ เตรียมจับมือกลุ่มรร.แพทย์ ภาคเอกชน จัดหาวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ปีหน้า

วันนี้ (17 ส.ค.2564) ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้แถลงข่าวถึงกรณีสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 ว่า

ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 ซึ่งข้อบังคับดังกล่าว จะเป็นเหมือนกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสภากาชาดไทย ที่สามารถจัดการในเรื่องของยา วัคซีน  และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถติดต่อผู้ผลิตโดยตรงทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อที่จะใช้ในสถานการณ์โควิด-19  

“เป็นความตั้งใจของสภามหาวิทยาลัยที่ได้ออกประกาศดังกล่าว โดยการดำเนินการต่อจากนี้จะต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้รับทราบ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  17 ส.ค.2564 เป็นต้นไป ซึ่งประกาศดังกล่าวจะช่วยปลดล็อกในเรื่องของยาและวัคซีนที่ตอนนี้มีปัญหาในการจัดหาจัดซื้อ เพื่อมาช่วยผู้ป่วย เนื่องจากอาจจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก รวมถึงเวชภัณฑ์แม้ในปัจจุบันจะไม่มีประเด็นแต่ก็ต้องเตรียมการไว้รศ.นพ.พฤหัส กล่าว

ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ปฎิบัติ และผู้มีอำนาจในการจัดหาจัดซื้อ หรือดำเนินการตามๆ สภามหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้อธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจโดยตรง ซึ่งในส่วนนี้ จะมีการเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแล  ทั้งระดับรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  คณะแพทยศาสตร์  คณะสาธารณสุข และคณะเภสัชกรรม ให้เป็นดำเนินการต่อไป

  • จับมือกลุ่มรพ.รร.แพทย์ -เอกชนจัดหาวัคซีนกระตุ้นเข็มที่3

ความตั้งใจตามประกาศดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องหลักๆ คือ วัคซีน ที่จะทำให้คนไทยทุกคนได้รับวัคซีน แต่การดำเนินการคงต้องไปพิจารณาในสิ่งที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ว่ามีเรื่องใดบ้าง และไม่ได้เข้าไปวุ่นวาย หรือทำให้เกิดความซ้ำซ้อน เช่น ตอนนี้ภาครัฐดำเนินการจัดหาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค  ไฟเซอร์ โมเดอร์น่า และมีทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ดำเนินการวัคซีนซิโนฟาร์ม วัคซีนเหล่านี้ทางมธ.จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว

"โดยสิ่งที่มธ.จะเข้าไปดำเนินการ น่าจะเป็นวัคซีนในส่วนของการกระตุ้นเข็มที่ 3 หรือวัคซีนที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่เคยนำเข้ามาในประเทศไทย เช่นโนวาแวกซ์ และวัคซีนทางเลือกชนิดอื่นๆแต่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการป้องกันโรค ซึ่งตอนนี้พยายามหาช่องทางในการติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในปีหน้ารศ.นพ.พฤหัส กล่าว

อย่างไรก็ตาม วัคซีนแต่ละชนิดมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ และบางบริษัทกำหนดว่าจะต้องผ่านรัฐบาลกลางเท่านั้น ซึ่งหากมีข้อจำกัด มธ.คงไม่ได้เข้าไปดำเนินการ การประกาศข้อบังคับในครั้ง มธ.จะเข้าไปช่วยเสริมการทำงาน การจัดหาจัดซื้อ วัคซีน แต่คงไม่ได้ทำด้วยตนเองทั้งหมด

  •  เล็งจัดหา'วัคซีน'ช่วยทุกคนเข้าถึง

เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ มธ.ไม่ได้รับการสนับสนุน แต่ต้องใช้งบประมาณของตนเอง การจัดหาวัคซีนให้ได้หลายล้านโดสคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีพันธมิตร อย่าง กลุ่มโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ หรือภาคเอกชน ซึ่งเบื้องต้นได้มีการหารือร่วมกันแล้ว

“การจัดหาวัคซีนในปีนี้ คงไม่ทัน เพราะคงมีการจองไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว ปีนี้คิวจองยาวมาก แต่อาจจะได้ในปีหน้า ดังนั้น ตอนนี้หากมีบริษัทวัคซีนที่ไม่ใช่ภาครัฐ หรือหน่วยงานอื่นๆ สั่งจองไว้ เราก็อาจจะทำการสั่งจองล่วงหน้า ยกเว้น ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ ภาครัฐดำเนินการไม่เพียงพอ หรือไม่มีเทคโนโลยีวัคซีนใหม่ๆ เราก็อาจจะเข้าไปช่วยจองวัคซีนเหล่านั้น” รศ.นพ.พฤหัส กล่าว

อย่างไรก็ตาม มธ.ได้มีการหารือกับกลุ่มโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์มาตลอด หากทางโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ต้องการยา วัคซีน หรือเวชภัณฑ์ หากยังไม่มีใครทำ เราก็จะเข้าไปช่วยเสริม แต่หากมีการดำเนินการอยู่แล้ว มธ.ก็จะไม่เข้าไปทำ เราไม่ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน เช่นเดียวกับ การนำเข้า ยาฟาวิพิราเวียร์ ตอนนี้องค์การเภสัชกรรมได้มีการสั่งเข้ามา 40 ล้านโดสในเดือนนี้  และจะมีผลิตเองอีก 30 ล้านโดสในเดือนหน้า ซึ่งมีความเพียงพอ ไม่ได้ขาดแคลน เราก็จะไม่ได้สั่งซื้อหรือจัดหาเพิ่มเติม

  • จัดหาชุดตรวจ 'ATK' ราคา 30-50 บาท 

“เรื่องเร่งด่วนที่เราจะดำเนินการ คงเป็นเรื่องของการนำเข้าชุดตรวจ ATK สำหรับประชาชน ซึ่งแม้ขนาดของปัญหาจะลดลงแล้ว แต่ก็มีปัญหาเรื่องของราคา และประสิทธิภาพของชุดตรวจ ดังนั้น เพื่อทำให้เห็นราคาที่แท้จริง และนำไปสู่การเข้าถึงประชาชนด้วยราคาที่ประชาชนสามารถซื้อได้ โดยเบื้องต้น จะจัดหาชุดตรวจ ATK ราคาชุดละ 30-50 บาท หากทำเรื่องนี้ได้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาทั้งเรื่องราคา และประสิทธิภาพประสิทธิผลได้ด้วย” ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ กล่าว

 แต่ทั้งนี้ การนำเข้าหรือจัดหาชุดตรวจดังกล่าว คงไม่ได้ซื้อเข้ามาเพื่อแจกจ่ายประชาชน เพราะคงไม่ใช่บทบาทของมหาวิทยาลัย หรือกลุ่มของมหาวิทยาลัย แต่เราจะช่วยดูว่าราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ ประสิทธิภาพ เป็นอย่างไร ก็จะมาดูเรื่องนี้ให้

 ทั้งนี้ ในส่วนของยานั้น เรื่องนี้ถือเป็นความยากลำบากอย่างหนึ่ง เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่มียาตัวไหนที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่ามีผล และทำให้การรักษาโควิดมีผลดี ไม่ว่าจะเป็น ยาฟ้าทะลายโจร   ยาฟาวิพิราเวียร์  และยาแอนติบอดี ค็อกเทล (ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์) ทางมธ.จะเข้าไปศึกษาวิจัย ทดลอง ค้นคว้าหายา หรือไอเทมใหม่ๆ อันนำไปสู่ประโยชน์ต่างๆ

รศ.นพ.พฤหัส กล่าวต่อไปว่า สำหรับความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิต หรือหน่วยงานต่างๆ อาจจะเร็วเกินไปที่จะกล่าวถึงในตอนนี้ว่าเป็นกลุ่มไหน บริษัทใด  อยากให้ทุกท่านติดตามความคืบหน้า ซึ่งเบื้องคนจะเน้นการพูดคุยในระดับองค์กรเป็นหลัก เช่น กลุ่มโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ กลุ่มอุตสาหกรรม ภาคเอกชนในระดับเครือ องค์กรหรือสมาคม เพราะอยากให้เห็นประโยชน์ในภาพรวม อีกทั้ง มธ.ไม่ได้เป็นองค์กรที่จะแสวงหากำไรก็ต้องหารือร่วมกับองค์กร หรือหน่วยงานอื่นๆ ส่วนการจัดหาจัดซื้อวัคซีน คงจะทำแบบเดียวกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ต้องการระดับองค์กรเป็นผู้จ่ายให้แก่บุคลากรในองค์กรนั้นๆ

รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มธ. มีภารกิจหลักในการดูแลประชาชนทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา การชี้นำ วิจัย และสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ การออกข้อบังคับครั้งนี้ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มธ. เห็นปัญหาของการจัดการภายในรพ. ตั้งแต่ช่วงแรกมาจนถึงขณะนี้ โดยเฉพาะเรื่อง วัคซีน ที่จะต้องมีการปิดให้บริการ เลื่อนวันฉีดวัคซีนโควิด-19  เพราะวัคซีนไม่เพียงพอ. และปัญหาเหล่านี้ล้วนตกไปยังพี่น้องประชาชน ดังนั้น การออกข้อบังคับดังกล่าวจะเป็นการจัดการแก้ปัญหา ทำให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น