'ห้องไอซียูความดันลบโมบาย' ตัวช่วยบุคลากรด่านหน้า สู้โควิด

'ห้องไอซียูความดันลบโมบาย' ตัวช่วยบุคลากรด่านหน้า สู้โควิด

สจล. โชว์ 3 จุดแข็ง 'ห้องไอซียูความดันลบโมบาย' พร้อมใช้งานทันทีเมื่อต่อไฟฟ้า มีจุดอับของอากาศน้อย ลดการสะสมของเชื้อโรคภายในห้อง  พร้อมระบบกรองอากาศฆ่าเชื้อ 3 ขั้น เพิ่มความปลอดภัยบุคลากรทางการแพทย์

ผศ. ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า นอกเหนือจากวัคซีนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้นกันร่างกายแล้ว การมีเตียงหรือห้องไอซียูเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วย ถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นแต่กลับขาดแคลนจำนวนมากในปัจจุบัน ทีมวิจัยจึงได้พัฒนา “ห้องไอซียูความดันลบโมบาย” (Mobile Negative Pressure Room) 

  • 3 จุดแข็ง ห้องไอซียูความดันลบโมบาย

ห้องผู้ป่วยวิกฤตความดันลบแบบเคลื่อนย้ายได้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โควิด-19 ระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ มาพร้อมเครื่องดูดกรองอากาศประสิทธิภาพสูงครบครัน อีกทั้งยังสามารถเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ตามสะดวกเมื่อมีความต้องการใช้งานนอกจากนี้ ห้องไอซียูความดันลบโมบาย ยังมาพร้อม 3 จุดแข็งที่โดดเด่น ที่พร้อมอำนวยสะดวกต่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงพร้อมต่อการรักษาผู้ป่วยวิกฤต ดังนี้

162902497794

  • พร้อมใช้งานทันทีเมื่อต่อไฟฟ้า เวลาถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยขั้นวิกฤต เพื่อลดเลี่ยงการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ทีมวิจัย จึงพัฒนาห้องไอซียูความดันลบโมบาย ให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้ได้ทันทีเพียงต่อไฟฟ้า เพราะที่ผ่านมาการติดตั้งห้องไอซียูเพื่อให้พร้อมต่อการใช้งานมักใช้ระยะเวลานาน ในกรณีที่ติดตั้งห้องไอซียูในโรงพยาบาลสนาม จะใช้ระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ขณะที่โรงพยาบาลโดยปกติจะใช้เวลากว่าหลายเดือน

  • มีจุดอับของอากาศน้อย หนึ่งในหลักคิดสำคัญของการออกแบบห้องผู้ป่วยวิกฤต อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ปิดและมีความดันอากาศเป็นลบ (Negative Pressure) นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนวณการออกแบบให้มีจุดอับอากาศ (Dead Zone) น้อยที่สุด เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคภายในห้อง พร้อมทั้งเพิ่มความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เนื่องจากบริเวณ Dead Zone มักมีโอกาสที่เชื้อโรคจะสะสมเป็นจำนวนมาก

  • มีระบบกรองอากาศฆ่าเชื้อ 3 ขั้น ทีมวิจัยให้ความใส่ใจกับระบบคัดกรองอากาศ ซึ่งนอกจากจะมีระบบบำบัดอากาศภายในแล้ว ยังมีการติดตั้งฟิลเตอร์กรองอากาศถึง 3 ขั้น ทั้งกรองอากาศขั้นต้น (Pre Filter) ที่มาพร้อมประสิทธิภาพในการกรองละอองฝุ่นโดยทั่วไป แผ่นกรองอากาศ HEPA เพิ่มความสามารถในการดักจับละอองฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็ก 0.3 ไมครอนได้ถึง 99.997% และหลอดไฟฆ่าเชื้อยูวีซี (UVC) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังพื้นที่ภายนอก

  

162902497719

นอกจากนี้ ยังมาพร้อม ระบบเช็คความปลอดภัยห้อง ว่า ห้องไอซียูโมบาย พร้อมต่อการเข้าใช้งานหรือไม่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์ ที่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของแผ่นกรอง การนับเวลาทำงานของแผ่นกรอง ผ่านจอแสดงผลที่ติดตั้งบริเวณประตูทางเข้า ทั้งนี้ ห้องไอซียูความดันลบโมบาย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาและผลิตเพื่อใช้งานจริงมากกว่า 20 ห้อง

โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการติดตั้งและใช้งานจริงในพื้นที่โรงพยาบาลบุษราคัม โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลทหารผ่านศึก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมขยายการติดตั้งในโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมในลำดับต่อไป ผศ. ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

162902497744

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า “ห้องไอซียูความดันลบโมบาย” ถือเป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมที่สถาบันฯ ภาคภูมิใจ ที่นักวิจัยสามารถต่อยอดความรู้ภาควิชาการ สู่การพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อประยุกต์ใช้ หรือสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

สจล. ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนางานวิจัยหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ทั้งในมิติการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยหรือรักษาทางการแพทย์ ต้นแบบงานวิจัยที่คิดเพื่อแก้ไขสังคม ที่ครอบคลุมปัญหาสภาพจราจร สภาพอากาศ ฯลฯ เพื่อตอกย้ำจุดยืนของสถาบันในการเป็น The World Master Of Innovation โดยแท้จริง รวมถึงตอกย้ำความสำเร็จของสถาบันหลังได้รับการจัดอันดับเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัยเบอร์หนึ่งของไทย” จากมหาวิทยาลัยทั่วเอเชีย โดย Times Higher Education World University Rankings 2021 (Asia-Pacific)

ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมของ สจล. ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/kmitlofficial หรือเว็บไซต์ www.kmitl.ac.th