'สามารถ' ซัด ใครต้องรับผิดชอบ? เปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้า

'สามารถ' ซัด ใครต้องรับผิดชอบ? เปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้า

"สามารถ" ทวงถาม ใครต้องรับผิดชอบ? เหตุ รฟม. เปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มช้า กระทบประเทศเสียหายปีละ 4.3 หมื่นล้าน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก "Dr.Samart Ratchapolsitte" เรื่อง "ประเทศเสียหายปีละ 4.3 หมื่นล้าน! เหตุเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มช้า
ใครต้องรับผิดชอบ?" โดยระบุว่า

จากการที่ รฟม.เปลี่ยนทีโออาร์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มกลางอากาศ จนในที่สุดได้ล้มการประมูล และนำไปสู่การฟ้องคดี ทำให้ไม่สามารถเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ตามกำหนดการเดิม เป็นเหตุให้ประเทศชาติได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ซึ่ง รฟม.ได้ประเมินกรณีเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกช้า พบว่าประเทศจะเสียหายสูงถึงปีละ 4.3 หมื่นล้านบาท ถามว่าใครจะต้องรับผิดชอบ?

รฟม. เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร วงเงิน 96,012 ล้านบาท และจัดหารถไฟฟ้ารวมทั้งให้บริหารจัดการเดินรถตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 32,116 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งหมด 128,128 ล้านบาท โดยให้ยื่นข้อเสนอในวันที่ 23 กันยายน 2563

แต่ก่อนถึงวันยื่นข้อเสนอ รฟม.ได้ประกาศเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลจากเดิมที่ต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิค ก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทนต่อไป ใครเสนอผลตอบแทนสูงสุดก็จะชนะการประมูล เป็น “เกณฑ์ใหม่” ซึ่งพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทน โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะชนะการประมูล

ทั้งนี้ จากการที่ รฟม.ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้ต้องเลื่อนวันยื่นข้อเสนอออกไปเป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

บีทีเอสฟ้องศาลปกครองขอความเป็นธรรม

การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศดังกล่าว ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ จึงได้ฟ้องต่อศาลปกครอง แต่ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด รฟม.ได้ยกเลิกการประมูลในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นผลให้บีทีเอสฟ้องต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฯ

รถไฟฟ้าสายสีส้มจะล่าช้ากว่าแผนกี่ปี?

ถึงเวลานี้พบว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้ากว่าแผนไปแล้วประมาณ 1 ปี เนื่องจากการประมูลครั้งใหม่ยังไม่คืบ ทั้งนี้ การประมูลครั้งใหม่นั้น รฟม.ตัดสินใจใช้เกณฑ์ใหม่ ซึ่งพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทน ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะชนะการประมูล ไม่ใช้เกณฑ์เดิมซึ่งต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิค ก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทนต่อไป ใครเสนอผลตอบแทนสูงสุดก็จะชนะการประมูล

จากการตรวจสอบการประมูลโครงการขนาดใหญ่ของ รฟม. รวมทั้งของหน่วยงานอื่น เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เลือกใช้เกณฑ์เดิมกันทั้งนั้น กล่าวคือกรณีหาผู้ร่วมลงทุนจะตัดสินด้วยคะแนนด้านผลตอบแทน ส่วนกรณีหาผู้รับเหมาจะตัดสินด้วยคะแนนด้านราคา ทั้งนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิคก่อน เช่น

1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแคของ รฟม. ซึ่งต้องขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองของ รฟม. ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ไม่เคยมีการก่อสร้างในประเทศไทยมาก่อน

2. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และใช้วงเงินลงทุนสูง

3. โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) และหมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ของกรมทางหลวง

4. โครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ของการทางพิเศษฯ

5. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ของสำนักงาน EEC

ดังนั้น การที่ รฟม.เลือกใช้เกณฑ์ใหม่ในการประมูลครั้งใหม่ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน ซึ่งจะทำให้การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้าออกไปอีก ประเมินว่าการเปิดให้บริการจะล่าช้ากว่าแผนอย่างน้อย 1 ปี ทั้งนี้ ตามแผนเดิม รฟม.ต้องการจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในเดือนมีนาคม 2567 และจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในเดือนกันยายน 2569

รถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร อยู่ในระหว่างการก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 82,907 ล้านบาท ซึ่งถึงวันนี้ (8 สิงหาคม 2564) มีความคืบหน้าประมาณ 85% ใกล้จะแล้วเสร็จ แต่ที่สำคัญ แม้จะสร้างเสร็จแล้วก็ไม่สามารถเปิดให้บริการตามแผนได้ คาดว่าจะล่าช้ากว่าแผนอย่างน้อย 1 ปี เนื่องจาก รฟม.ยังไม่สามารถหาผู้ประกอบการเดินรถได้ เพราะการหาผู้ประกอบการเดินรถถูกผูกรวมอยู่กับการหาผู้ร่วมลงทุน ซึ่งจะต้องมาทำการก่อสร้างส่วนตะวันตก และเดินรถตลอดเส้นทาง

การเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้า จะทำให้ประเทศเสียหายเท่าไหร่?

รฟม.ได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกล่าช้า พบว่าประเทศจะเสียหายสูงถึง 4.3 หมื่นล้านบาท/ปี  ประกอบด้วย

1. ค่าดูแลรักษา (Care of Works) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออก 495 ล้านบาท/ปี

รฟม.จะต้องเสียค่าดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกซึ่งกำลังจะแล้วเสร็จ ประกอบด้วยสถานียกระดับ 7 สถานี เป็นเงิน 103 ล้านบาท/ปี และสถานีใต้ดิน 10 สถานี เป็นเงิน 392 ล้านบาท/ปี รวมเป็นเงิน 495 ล้านบาท/ปี

2. ค่าเสียโอกาสเก็บค่าโดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก 1,764 ล้านบาท/ปี

รฟม.ประเมินว่าจะเก็บค่าโดยสารส่วนตะวันออกในปีแรกที่เปิดให้บริการได้ 1,764 ล้านบาท/ปี ซึ่งถ้าเปิดช้าจะทำให้เสียโอกาสได้รับค่าโดยสารจำนวนนี้

3. ค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจ 40,644 ล้านบาท/ปี

การเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกช้าจะทำให้ไม่สามารถบรรเทารถติดในพื้นที่ตามแนวเส้นทางและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องได้ ส่งผลให้ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเสียเวลาในการเดินทาง รฟม.จึงได้ประเมินเวลาที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงิน อีกทั้ง ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการใช้รถส่วนบุคคล เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุงรักษา เหล่านี้ถือว่าเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่ง รฟม.ได้ประเมินพบว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกช้าจะมีมูลค่าสูงถึง 40,644 ล้านบาท/ปี

ใครต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น?

ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ชัดว่า หาก รฟม.ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ก็จะไม่มีการเลื่อนการยื่นข้อเสนอ และในที่สุดจะไม่มีการล้มการประมูล การฟ้องร้องก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ความล่าช้าในการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.จะโทษคนอื่นไม่ได้ นอกจากตัวเอง!

แล้วใครจะต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นครับ?
-------------------
ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

162839811343